close

11 ก.ย. 2567

ESG กับ SDGs อะไรสำคัญกว่ากัน เมื่อต้องปั้นธุรกิจให้ยั่งยืน

Business ESG Circular Economy

อะไร ๆ ก็ต้องยั่งยืน แล้วทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ทำอยู่ยั่งยืนได้จริง คำถามสำคัญที่คนทำธุรกิจยุคใหม่หลายคนอาจยังไม่ได้คำตอบ

เมื่อลองค้นหาเรื่องแนวทางด้านความยั่งยืน เราจะพบกับคำ 2 คำที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านความยั่งยืนขององค์กร นั่นคือ ESG และ SDGs แล้วทั้ง 2 คำนี้ต่างกันอย่างไร และจะนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างไรให้เติบโตได้จริง
ยั่งยืนแบบ ESG

ESG คือหลักการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment: E, Social: S, Governance: G) เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน แนวคิดนี้ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้

จากบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กร ไม่ใช่แค่การมุ่งทำกำไรสูงสุด หรือลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด แต่เป็นการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ชุมชน หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม

ลองจินตนาการว่า หากบริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้นจากกระบวนการผลิตที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ ในระยะยาวย่อมกระทบต่อชุมชน และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือการเลือกคู่ค้าที่ไม่มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รายได้ และโอกาสทำกำไรของบริษัทเช่นกัน นี่เองคือเหตุผลว่าทำไมบริษัทต้องให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านตามแนวทาง ESG

อีกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ ซึ่งธุรกิจไม่ควรมองข้ามก็คือ กลุ่มนักลงทุน ที่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ หรือนักลงทุนรายย่อย ก็ต่างนำแนวทาง ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์หุ้นของบริษัทนั้น ๆ เพราะเชื่อว่าองค์กรที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG นอกจากจะบริหารงานอย่างโปร่งใส มีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแล้ว ยังมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจน้อยกว่า และมีศักยภาพในการแข่งขันที่เหนือกว่าตลาดในภาพรวม

ยืนยาวอย่าง SDGs

SDGs หรือ Sustainable Development Goals คือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations (UN) ประกอบไปด้วยเป้าหมายที่เป็นประเด็นสำคัญต่อมิติความยั่งยืนในระดับโลก

นอกเหนือจากการปั้นธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG แล้ว ก็ต้องมุ่งสร้างคุณค่าในระยะยาวให้กับธุรกิจด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจจะส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับทุกภาคส่วนได้จริง SDGs จึงถูกนำมาใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานของธุรกิจในระยะยาว ควบคู่กับการใช้แนวทาง ESG ที่กล่าวมาข้างต้น

SDGs ประกอบไปด้วยเป้าหมายในการพัฒนา 17 ข้อที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกของ UN ซึ่งทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 โดยเป้าหมายทั้งหมดสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 มิติ (5Ps) ได้แก่

    • People มุ่งพัฒนาคน ขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
    • Planet ดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเพื่อคนรุ่นหลัง
    • Prosperity ส่งเสริมเศรษฐกิจให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ
    • Peace ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สงบสุข เป็นหนึ่งเดียวกันและไม่แบ่งแยก
    • Partnership ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การประยุกต์ใช้ ESG และ SDGs ในการดำเนินธุรกิจ

ในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ย่อมต้องนำหลักการ ESG และ SDGs มาใช้ร่วมกัน โดย ESG จะใช้กับแผนการดำเนินงานระยะสั้น หรือเป็นแนวปฏิบัติที่เริ่มต้นได้ทันที และเห็นผลลัพธ์ (Output) ในเวลาไม่นาน ซึ่งผลลัพธ์นี้อาจสร้างผลที่ตามมา (Outcome) ในภาพใหญ่ หรือเกิดผลกระทบ (Impact) ในระยะกลางถึงยาวได้เช่นกัน เราจึงต้องนำเป้าหมาย SDGs มาประกอบการสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อให้ท้ายที่สุดการดำเนินงานขององค์กรสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวก และเติบโตอย่างมั่นคง

SCGC ผู้นำนวัตกรรมพอลิเมอร์เพื่อความยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตของธุรกิจควบคู่กับการเป็นองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืน จึงได้นำแนวทาง ESG และ SDGs มาประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ผ่านการวิเคราะห์การดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนองค์กร

ในแต่ละปี SCGC ได้มีการจัดทำรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SD Report) ซึ่งบอกเล่าผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียในทุกมิติ และได้มีการระบุกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการ (Governance) เอาไว้ดังนี้

1. เพิ่มสัดส่วนการผลิตสินค้าและโซลูชันเพื่อโลกที่ยั่งยืน

    • เพิ่มปริมาณการขายผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) พร้อมเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
    • พัฒนาสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Low Carbon Footprint Product)
    • พัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ (สุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ ยานยนต์ สังคมเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทดแทน)
    • มุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ประหยัดพลังงาน และลดโลกร้อน

2. สนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานที่ยั่งยืนตลอดห่วงโชคุณค่า

    • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593
    • เลือกใช้วัตถุดิบคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
    • เพิ่มประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศผ่านโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ลดการใช้น้ำ ลดการเกิดของเสีย ลดมลพิษทางอากาศ
    • สร้างพื้นที่ทำงานที่มีความสุขและปลอดภัยสำหรับพนักงานและคู่ธุรกิจ
    • ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน

3. พัฒนาโซลูชันเพื่อสังคม

    • ส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนโดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อให้เกิดการนำพลาสติกกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล (Close the Loop for Plastic) และมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่ผ่านมา SCGC มีโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ โครงการชุมชน Like (ไร้) ขยะ ที่ส่งเสริมการจัดการขยะอย่างถูกต้องในชุมชน พร้อมต่อยอดมาสู่โครงการ “ถุงนมกู้โลก” ที่ปลูกฝังให้เยาวชนคัดแยกขยะจากถุงนม ก่อนนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเก้าอี้ ทำให้เด็ก ๆ เห็นผลลัพธ์จากการคัดแยกขยะอย่างเป็นรูปธรรม
    • สร้างสังคมที่ปลอดภัยและลดความเหลื่อมล้ำผ่านโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ
    • เพิ่มศักยภาพชุมชนให้พึ่งพาตัวเองได้ผ่านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง โครงการ “มหัศจรรย์ชุมชน” สร้างอาชีพ สร้างคุณค่า พึ่งพาตนเอง สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดระยอง
    • ใช้ความถนัดและประสบการณ์ของ SCGC ในการสร้างคุณคาที่ยั่งยืนสู่สังคม

นอกจากนี้ SCGC ยังมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกับ SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ มีการลำดับเป้าหมายและเป้าประสงค์ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเป้าหมายหลัก 4 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการจ้างงานที่มีคุณค่าเพื่อทุกคน

    • เป้าหมายย่อย 8.2, 8.3, 8.5, 8.7, 8.8

ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับธุรกิจและชุมชนสังคม โดยเน้นการจ้างงานอย่างเท่าเทียม และสร้างงานที่มีคุณค่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในองค์รวม รวมถึงวางแผนการผลิตและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของโลก

เป้าหมายที่ 12: สร้างหลักประกันเพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

    • เป้าหมายย่อย 12.2, 12.4, 12.5, 12.7

นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในอนาคต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายที่ 9: สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรม

    • เป้าหมายย่อย 9.4, 9.5

ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

เป้าหมายที่ 13: การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบอย่างเร่งด่วน

    • เป้าหมายย่อย 13.1, 13.3

เร่งปรับตัวและดำเนินงานในมิติต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวให้กับสังคมและชุมชน ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจสร้างผลกระทบต่อธุรกิจและสังคม

จะเห็นได้ว่า ทั้ง ESG และ SDGs ล้วนมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน และมีความสำคัญไม่แพ้กัน อีกทั้งยังได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนและนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่ง SCGC ก็ยึดหลัก ESG และ SDGs ในการดำเนินกิจการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน


Is this article useful ?