แนวทางการประเมินความความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์
เอสซีจีซี ผนวกระบบบริหารงานด้านการดูแลผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการคุณภาพ การประเมินความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง จนถึงขั้นตอนการตรวจสอบก่อนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท วิธีการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเสี่ยงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย การใช้งานจนถึงการกำจัดทิ้ง
การตรวจสอบกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ ได้ทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ รวมถึงบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย ได้แก่
- บัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม
- บัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายของประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
- สารทำลายบรรยากาศชั้นโอโซนตามพันธกรณีพิธีสารมอนทรีออล
- สารเคมีตามข้อกำหนดใน Annex XVII จาก Registration, Evaluation, Authorization and Restriction of Chemicals (REACH)
- สารเคมีตามข้อกำหนดใน Candidate List of Substance of Very High Concern for Authorization (SVHC)
- สารเคมีอันตราย RoHs (The Restriction of Hazardous Substances)
- สารเคมีในบัญชี California Proposition 65
และนำข้อมูลทั้งหมดกำหนดเป็นสมบัติของผลิตภัณฑ์ (Product Specification) เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ความปลอดภัย ชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
การประเมินความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์
ขอบเขตของการประเมินความเสี่ยง
ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ SCGC ได้ผ่านการประเมินความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ตลอดทั้งวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่ การออกแบบ การคัดเลือกวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การจัดเก็บ การใช้งาน จนถึงการกำจัดทิ้ง โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านอันตรายต่อสุขภาพ ชีวอนามัย ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานการจัดการความเสี่ยง Risk Management ISO 31000
วิธีการและเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยง
- Failure mode and effect analysis (FMEA) ประเมินความเสี่ยงตั้งแต่คัดเลือกวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งมอบลูกค้า
- Product Hazard Analysis (PHA) ประเมินความเสี่ยงตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ถูกส่งมอบจากผู้ผลิตไปสู่ลูกค้า จนกระทั่งผลิตภัณฑ์นั้นถูกกำจัดทิ้ง
ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง
1. การระบุความเสี่ยง
ระบุประเด็นประเด็นอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นได้ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ดังนี้
- อันตรายทางกายภาพ (Physical hazards) หมายถึง อันตรายที่เกิดจากการระเบิด เพลิงไหม้ การกัดกร่อน การเกิดปฏิกิริยา ซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างเฉียบพลันและรุนแรง
- อันตรายทางเคมี (Chemical hazards) หมายถึง อันตรายที่เกิดจากสารเคมีโดยตรงหรือจากปฏิกิริยาเคมี สารเคมีที่พบในโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการอาจอยู่ในรูปของวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ผลพลอยได้หรือของเสียจากกระบวนการผลิต เช่น การปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายในบัญชีอันตราย REACH และ SVHC
- อันตรายต่อสุขภาพ (Health hazards) ได้แก่ การระคายเคือง (Irritation) การก่อมะเร็ง (Carcinogenicity) การเกิดภูมิไวเกิน (Sensitization) เป็นต้น อันตรายประเภทนี้จะใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลชัดเจน
- อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental hazards) หมายถึง อันตรายที่เกิดจากการรั่วไหลหรือปล่อยสารเคมีสู่แหล่งน้ำ บรรยากาศ หรือมีการสะสมในดิน น้ำ และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพืชและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ
2.1 การวิเคราะห์ความเสี่ยงสำหรับ Product Hazard Analysis (PHA)
วิเคราะห์ความเสี่ยงโดยการระบุความรุนแรง (S) สาเหตุ และโอกาสในการเกิด (O) และคำนวณหมายเลข Hazardous Risk Number (HRN) = S x O ในแต่ละประเด็นอันตราย
2.2 การวิเคราะห์ความเสี่ยงสำหรับ Failure Mode and Effect Analysis (FMEA)
วิเคราะห์ความเสี่ยงโดยการระบุความรุนแรง (S) สาเหตุ และโอกาสในการเกิด (O) และคำนวณหมายเลข Hazardous Risk Number (HRN) = S x O ในแต่ละประเด็นอันตราย
3. การจัดลำดับความสำคัญ
จัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงจากคะแนนการวิเคราะห์ความเสี่ยงตามหลายเลข HRN โดยความเสี่ยงที่มี HRN มากกว่าที่กำหนดจะต้องมีการลดและควบคุมความเสี่ยง
4. การลดและควบคุมความเสี่ยง
เมื่อพบความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ ต้องทำการลดและควบคุมความเสี่ยง โดยการแก้ไข กำหนดมาตรการการป้องกัน และทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงอีกครั้งหลังจากกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในความเสี่ยงที่ยอมรับได้และควบคุมความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วย การปรับปรุงการออกแบบ (Redesign) การกำหนดเป็นสมบัติของผลิตภัณฑ์ (Product specification) และการจัดทำข้อมูลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ (Product Safety Instruction) ตามมาตรฐาน GHS (Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals) พร้อมทั้งสื่อสารข้อมูลดังกล่าวให้กับพนักงาน และคู่ค้ารับทราบ เพื่อให้ใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างข้อมูลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
----------------------------------------------------------
การวิเคราะห์อันตรายผลิตภัณฑ์ (PHA)
การวิเคราะห์อันตรายจากผลิตภัณฑ์ (PHA) เป็นเครื่องมือในการจัดการความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มต้นจากการระบุ วิเคราะห์ จัดลำดับความสำคัญ จากนั้นจึงลดและควบคุมความเสี่ยง กระบวนการนี้ครอบคลุมวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การขนส่ง การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย การติดตั้ง การใช้งานและการใช้ผิดวัตถประสงค์ จนถึงการกำจัดทิ้ง วิเคราะห์อันตรายที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม
การวิเคราะห์ข้อบกพร่องและผลกระทบ (FMEA)
การวิเคราะห์ข้อบกพร่องและผลกระทบ (FMEA) เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในกระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่ การระบุ วิเคราะห์ จัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงจากนั้นจึงลดและควบคุมความเสี่ยง กระบวนการนี้ครอบคลุมถึงวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การบรรจุ และการจัดเก็บในคลังสินค้า วิเคราะห์อันตรายที่มีผลกระทบต่อคุณภาพ มนุษย์ ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม