close

No Image

บรรษัทภิบาล
และเศรษฐกิจ

จรรยาบรรณและการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ

จรรยาบรรณของ SCGC
SCGC กับการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบข้อบังคับ
SCGC กับการต่อต้านการคอรร์รัปชัน

SCGC นำสิ่งที่ปฏิบัติอยู่แล้วมาจัดทำเป็น “จรรยาบรรณ เอสซีจี เคมิคอลส์” ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้พนักงานทุกระดับปฏิบัติงานได้ถูกต้องเหมาะสม โปร่งใส และตรวจสอบได้

SCGC ใช้แบบทดสอบจริยธรรมเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือระบบเชิงป้องกัน (Proactive and Preventive System) ในการประเมินและการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านจริยธรรมให้แก่พนักงานทุกระดับเป็นประจำทุกปี ผ่านแบบทดสอบ “Ethics e-Testing และ e-Policy e-Testing” เพื่อให้สามารถนำเรื่องคุณธรรม อุดมการณ์ 4 จรรยาบรรณ และนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันมาปฏิบัติและประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมให้เกิดผลได้จริง ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และ Policy e-Testing เป็นปีที่ 5 ซึ่งพนักงานทุกคนทุกระดับต้องทำแบบทดสอบให้ผ่านโดยถูกต้อง 100% และนำผลการตอบแบบทดสอบมาวิเคราะห์เพื่อสื่อสารให้พนักงานเกิดความเข้าใจมากขึ้น และยังได้เพิ่มช่องทางสื่อสาร GRC Helpline เพื่อให้คำปรึกษาแก่พนักงาน และบรรจุเรื่องจรรยาบรรณ เอสซีจี เคมิคอลส์ ในหลักสูตรอบรมพนักงานใหม่ รวมทั้งจัดทำ “จรรยาบรรณคู่ธุรกิจ เอสซีจี เคมิคอลส์” เพื่อให้คู่ธุรกิจใช้เป็นมาตรฐานร่วมกัน รวมถึงจัดทำแบบประเมินตนเองในประเด็นความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันทุก ๆ ปี สำหรับพนักงานระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติงานในส่วนงานขาย งานจัดซื้อจัดจ้าง งานติดต่อหน่วยราชการและชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

SCGC มีการกำหนดนโยบาย และแนวปฎิบัติการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจว่า SCGC มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นองค์กรที่มีการกำกับและดูแลกิจการที่ดี เรามีการนำระบบการจัดการด้านการกำกับการปฏิบัติงาน (Compliance Management System : CMS) มาใช้เพื่อกำกับการดำเนินธุรกิจในประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นระบบที่มีความสอดคล้องกับระบบ ISO19600 (แนวปฏิบัติตามมาตรฐานของการกำกับการปฏิบัติงาน) เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทกำหนดเป้าหมายในการนำระบบการจัดการด้านการกำกับการปฏิบัติงานไปใช้กับบริษัทในต่างประเทศโดยเฉพาะ ประเทศเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2565


ขั้นตอนที่สำคัญของระบบการจัดการด้านการกำกับการปฏิบัติงาน คือ การนำข้อกำหนดของกฎหมาย (Legal Obligation) ทั้งในส่วนที่เป็นกฎหมายปัจจุบัน และ กฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้อง มาจัดทำเป็นรายการตรวจประเมิน (Checklist) เพื่อใช้ในการประเมินตนเอง (Self-assessment) ทั้งในส่วนของการปฏิบัติงานทั่วไป (Normal Operation) และ งานโครงการ (Project) ในกรณีที่พบประเด็นที่ยังไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมาย ผู้ประเมินจะต้องทำแผนเพื่อแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงจากการไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวทันที หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะต้องนำข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการทำงานประจำ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในความสอดคล้องด้านการปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ๆ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการสื่อสารในเรื่องของการตระหนักรู้และความเข้าใจในด้านการกำกับการปฏิบัติงานอย่างทั่วถึงทั้งในระดับพนักงานและคณะจัดการ


SCGC มีการพัฒนาระบบดิจิทัลโซลูชันเพื่อใช้ในการจัดเก็บและอัปเดตฐานข้อมูลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ รวมถึงการประมวลผล และ การรายงานผลความสอดคล้อง ตลอดจนการบริหารจัดการด้านใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการกำกับการปฏิบัติงานขององค์กร

SCGC ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาล ซึ่งรวมถึงการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัตินโยบายต่อต้านคอร์รัปชันซึ่งมีการทบทวนตามความเหมาะสม และได้กำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของคู่มือจรรยาบรรณเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC Code of Conduct) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการประพฤติปฏิบัติของพนักงาน SCGC ปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมขององค์กร โดยมีการสื่อสารและอบรมให้พนักงานเกิดความเข้าใจและนำไปปฏิบัติครอบคลุมถึงบริษัทย่อย มีการวิเคราะห์ข้อบ่งชี้และประเมินความเสี่ยงการเกิดคอร์รัปชัน ในปีนี้ บริษัทมีการจัดทำโปรแกรมเพื่อสนับสนุนนโยบาย Anti-Corruption โดยออกแบบประเมิน Control Self Assessment เพื่อประเมินระบบควบคุมภายในและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดคอร์รัปชันให้ครอบคลุมงานที่อาจมีความเสี่ยงดังกล่าว เช่น ระบบงานขาย ระบบงานจัดซื้อจัดจ้าง ระบบงานการติดต่อกับหน่วยราชการ และชุมชนสัมพันธ์ รวมถึงได้จัดให้พนักงานมีการทำ Self-Learning ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยบูรณาการเข้าไปกับการทดสอบ Ethics e-Testing


จากการสร้างระบบงานเชิงป้องกัน SCGC ยังได้มีการกำหนดวิธีการลดความเสี่ยงและการควบคุม (Risk Mitigation and Control) ให้พนักงานใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดคอร์รัปชัน โดยมีสำนักงานตรวจสอบประเมินการปฏิบัติตามนโยบายฯ แล้วรายงานต่อคณะจัดการเอสซีจี เคมิคอลส์ คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไข รวมถึงได้จัดทำจรรยาบรรณคู่ธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC Supplier Code of Conduct) เพื่อสื่อสารให้เกิดความเข้าใจแนวการปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลของบริษัทฯ และเป็นมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน


นอกจากนี้ SCGC ยังได้จัดทำช่องทางในการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด พร้อมกำหนดนโยบายคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้แจ้งเบาะแส เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรของบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ สามารถแจ้งข้อมูลหรือให้เบาะแสการฝ่าฝืนหรือความผิดปกติในการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี เคมิคอลส์ ตลอดจนได้กำหนดแนวปฏิบัติในการตรวจสอบข้อร้องเรียน พร้อมจะเปิดเผยให้กับคณะกรรมการบริษัทรับทราบ