close

Banner SCG Chemicals

สิ่งแวดล้อม

ส่งต่อคุณค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างเครือข่ายเพื่อความยั่งยืน

SCGC ประยุกต์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ากับธุรกิจ ตลอดทั้ง
วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบเม็ดพลาสติกให้ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดแต่ยังคง มีประสิทธิภาพ ใช้ประโยชน์จากคุณค่าของพลาสติกอย่างสูงสุด ยืดอายุการใช้งาน คัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดเมื่อหมดอายุการใช้งานและนำเข้ากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกด้วยกระบวน การ Chemical Recycling เปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Recycled Feedstock) สำหรับผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic Resin) พร้อมผสานเครือข่ายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหนุมเวียนกับทุกภาคส่วน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยมีเป้าหมายในปี 2568 ให้มีปริมาณการขายสินค้า Green Polymer 200,000 ตันต่อปี และมีปริมาณพลาสติกที่นำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่และรีไซเคิล 50,000 ตันต่อปี

กลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน SCGC

SCGC ได้บูรณาการเครื่องมือประเมินความเสี่ยงด้านน้ำ (AQUEDUCT ของ WRI) ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย และกลุ่มอุตสาหกรรมในการกำหนดแผน และการบริหารจัดการน้ำ
รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำภายในกระบวนการผลิต โดยมีกลยุทธ์ ดังนี้

สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของ
ทรัพยากรธรรมชาติแก่ผู้มีส่วนได้เสีย
เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิด และพฤติกรรมในการรักษา
และคงคุณค่าของพลาสติก
สร้างสรรค์และพัฒนาโซลูชันส่งเสริม
ธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน
โดยใช้นวัตกรรมสร้างคุณค่า
และประสิทธิภาพสูงสุดให้แก่ผลิตภัณฑ์
สร้างความร่วมมือสู่เครือข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียน
ยกระดับความแข็งแรงของเครือข่าย และแสวงหาเทคโนโลยี เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ และการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่คุณค่า
การลดการปล่อยคาร์บอน

ไฮไลต์เศรษฐกิจหมุนเวียน SCGC

ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ

ขยายและเติบโต โครงการจัดการขยะในชุมชนเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ด้วยแนวทาง “บวร” ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน เพื่อจัดการขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง และเชื่อมต่อกับ “ธนาคารขยะชุมชน” ที่ใช้แอปพลิเคชัน Koomkah บริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร เพิ่มโอกาสการจำหน่ายขยะแต่ละชนิดไปยังโรงงานรีไซเคิลได้โดยตรง เกิดการหมุนเวียน ทรัพยากรเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ ปี 2564 ขยายพื้นที่ “บวร” ครอบคลุม 64 ชุมชน 2 กลุ่มประมง 9 วัด 1 โรงแรม และ 11 โรงเรียน ทำให้เกิดการจัดตั้งธนาคารขยะ ชุมชนรวม 13 แห่ง มีสมาชิกธนาคารขยะทั้งหมด 3,514 บัญชีในแอปพลิเคชัน KoomKah และมียอดสะสมขยะรีไซเคิล ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการกว่า 166 ตัน คิดว่าเป็นมูลค่ากว่า 431,921 บาท โดยปริมาณขยะรีไซเคิลทั้งหมดเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 125 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

ถุงนมกู้โลก เปลี่ยนพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่

จากถุงนมที่ใช้เวลาดื่มไม่ถึง 10 นาที กลายเป็นเก้าอี้พลาสติกที่ใช้งานได้นาน 10 ปี โครงการ “ถุงนมกู้โลก” นำถุงนมที่นักเรียนดื่มแล้วในโรงเรียนกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล เช่น โต๊ะ เก้าอี้ กระถางต้นไม้ โดยมีนักเรียนรวบรวมและ “ตัด ล้าง ตาก” ถุงนม มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเป็นศูนย์รวมถุงนมจากโรงเรียนต่างๆ บันทึกและจัดการข้อมูลด้วยแอปพลิเคชัน KoomKah และ เอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นผู้นำในการเชื่อมโยงเครือข่าย และสร้างระบบการจัดการนำถุงนมกลับมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล โดยโรงเรียนจะได้รับคะแนนสะสม 5 คะแนนต่อถุงนม 1 กิโลกรัม เพื่อนำมาแลกผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล เช่น เก้าอี้มูลค่า 2,000 แต้ม ชุดโต๊ะ 3,800 แต้ม ปี 2564 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 1,300 โรงในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก และอยู่ระหว่างขยายไปยังภาคอื่นๆ ภายในปี 2565

แยกดี มีแต่ได้

พลาสติกใช้แล้วแลกเป็นสินค้า โครงการความร่วมมือระหว่าง SCGC กับเครือยูนิลีเวอร์ ส่งเสริมธนาคารขยะเทศบาลเมืองใหม่บางบัวทอง รวบรวมและคัดแยกขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วชนิด HDPE ขวดใสขุ่น และขาวทึบ เช่น ขวดนม ขวดน้ำยาทำความสะอาด เพื่อนำมาผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (PCR) และคัดแยกขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลายชั้น เช่น ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงขนม เพื่อนำเข้ากระบวนการเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Recycled Feedstock) สำหรับโรงงานปิโตรเคมี โดยพลาสติกรีไซเคิลเหล่านี้จะนำมาผลิตขวดบรรจุภัณฑ์ของสินค้าในเครือยูนิลีเวอร์ ประเภทพลาสติก HDPE เช่น ขวดแกลลอน ขวดน้ำยาซักผ้า ขวดแชมพู ขวดครีมนวด ทั้งนี้สมาชิกธนาคารขยะสามารถแลกรับผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ 1 ชิ้นต่อพลาสติกใช้แล้ว 1 กิโลกรัม โดยในปี 2564 รวบรวมพลาสติกใช้แล้วได้จำนวน 3,534 กิโลกรัม และมีแผนขยายความร่วมมือกับชุมชนอื่นๆ ต่อไป

นวัตกรรมเมลามีนรีไซเคิล

พัฒนานวัตกรรมเมลามีนรีไซเคิลเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ โดยร่วมกับบริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ BASINITY ผลิตสินค้าอ่างล่างหน้าเมลามีน และร่วมกับบริษัทท็อปไทยโปรดักส์ จำกัด สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ Plant Me ผลิตกระถางต้นไม้เมลามีน ซึ่งมีส่วนผสมของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลประเภท PCR และ PIR ราว 10-40% (ขึ้นอยู่กับลักษณะผิวสัมผัส) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดด้านการตกแต่งบ้านที่กำลังเติบโตสูงขึ้น