เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนพวกเขาให้ก้าวทันโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถละเลยหรือมองข้ามความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งภายในปี 2050 เป้าหมายที่ต้องทำให้ได้ คือการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และในปี 2065 จะต้องเป็น Net Zero Emissions คือ ทั้งเครื่องจักรและกระบวนการทำงาน จะต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมา
Industry 4.0 ธุรกิจเติบโต สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
จากจุดเริ่มต้นของแนวคิด Industry 4.0 จากประเทศเยอรมนี ปัจจุบันมีการนําแนวคิดดังกล่าวไปใช้กันทั่วโลก รวมถึงในอาเซียนและประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตสําคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยในช่วงที่ผ่านมาแนวคิด “Industry 4.0” หรือ“อุตสาหกรรม 4.0” ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในประเทศไทยว่าเป็นแนวทางของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่เป็นการผสมผสานระหว่างระบบอัตโนมัติในสายการผลิตกับ Internet of Things (IoT) เข้าด้วยกัน ทําให้เครื่องจักรที่ทํางานอยู่ในสายการผลิตสามารถสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อการจัดการและควบคุมได้ในทันที (Real-time) ส่งผลให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีต้นทุนลดลง
ผลการศึกษาของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนําของโลก พบว่าการปรับตัวสู่ Industry 4.0 จะช่วยเพิ่มมูลค่าแก่เศรษฐกิจโลกโดยรวมได้ถึง 1.2-3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน 2.16-6.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผู้ผลิตในอาเซียนที่เริ่มปรับตัวสู่ Industry 4.0 แล้ว ให้ข้อมูลว่าการปรับตัวดังกล่าวช่วยให้บริษัทของตนมีผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-50 และช่วเพิ่ม ประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (Overall Equipment Efficiency : OEE) ได้ร้อยละ 10-20
ความสำคัญของ Industry 4.0 ไม่ได้หยุดอยู่แค่ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างผลิตผล ความสำคัญและผลลัพธ์ของแนวปฏิบัตินี้ได้ถูกมาใช้กว้างกว่านั้นมาก เพราะเป็นเส้นทางสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยวาระเรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability นี้ เป็นเรื่องที่วงการอุตสาหกรรมต่างให้ความสนใจและใส่ใจกันมากขึ้น ตัวเร่งเชิงประจักษ์ก็คือ “ภาวะโลกรวน” ซึ่งครอบคลุมถึง ภาวะโลกร้อน (Global warming) และ ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
Green Business พาธุรกิจเติบโต สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
จากข้อมูลของ UN Global Compact ซึ่งจัดทำโดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ได้สำรวจมุมมองของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,232 ราย จาก 113 ประเทศ 21 ภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเตรียมการขององค์กรธุรกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า กว่า 70% มองว่าต้องปรับแผนธุรกิจของตัวเอง ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะไปต่อลำบาก เอกชนต้องเร่งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และเร่งอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือนักลงทุน ต้องมองหาโอกาสในการลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ แม้จะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เพราะหากยังไม่เริ่มดำเนินการปล่อยให้โอกาสผ่านไป จะทำให้เกิดค่าเสียโอกาสและต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้