ภาวะโลกเดือดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ถือเป็นความท้าทายของมนุษยชาติที่จะต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมามนุษย์ทำลายโลกอย่างไม่ทันคิดด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ของเรา จนปัญหาได้ถูกทับถมกลายเป็นวิกฤตที่ใกล้ตัวขึ้นไปทุกขณะ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูกาลผิดเพี้ยน อุณหภูมิสูงขึ้นทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลต่อวิถีชีวิตอย่างที่เราคาดไม่ถึง และนี่คือที่มาของโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ SCGC ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งการฟื้นฟู ต่อยอด และขยายเพิ่ม โดยดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชน เพื่อแก้วิกฤตภัยแล้ง และพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ พร้อมทั้งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อให้วันพรุ่งนี้ของเราเป็นวันที่ดีกว่าเดิม
จากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งและไฟป่าอยู่บ่อยครั้ง “เขายายดา” พลิกฟื้นกลับมาได้ ด้วยความพยายามของทุกภาคส่วนนานกว่า 17 ปี เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าแห่งนี้ ให้กลับมามีน้ำท่าบริบูรณ์
ด้วยอาณาบริเวณกว่า 10,620 ไร่ ครอบคลุม 3 ตำบลในจังหวัดระยอง ได้แก่ ตำบลตะพง แกลง บ้านแลง และต่อเนื่องไปจนถึงอำเภอบ้านค่าย เขายายดาจึงเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวระยอง ความแห้งแล้งของเขายายดาเมื่อ 20 ปีก่อน จึงส่งผลกระทบกับชีวิตของกว่า 4,000 ครัวเรือนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ในปี 2550 SCGC จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้เพื่อแก้วิกฤตในพื้นที่เขายายดาจนประสบความสำเร็จ ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายชุมชนบริหารจัดการน้ำเขายายดา จนถึงปัจจุบัน ได้ร่วมกันทำฝายชะลอในบริเวณเขายายดาไปกว่า 7,600 ฝาย และปลูกป่าไปกว่า 30,000 ต้น
ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ในการฟื้นฟูพื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำ นำมาสู่โมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ คือ สร้างคน ให้มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ดึงเยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม สร้างกติกา ในการใช้น้ำร่วมกัน ให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เก็บน้ำ ให้ได้มากที่สุดด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และนำนวัตกรรมด้านสังคม เช่น ทำนบชะลอน้ำ มาช่วยในการกักเก็บน้ำไม่ให้ไหลลงทะเลโดยไม่เกิดประโยชน์ เก็บข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำล่วงหน้า และนำมาปรับใช้ในวิถีการทำเกษตรอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ โมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ยังถูกนำมาใช้ร่วมกับการปลูกป่า 5 ระดับ ที่ปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นซึ่งมีเรือนยอดต่างกันให้เติบโตอย่างเกื้อกูลกัน ได้แก่ ระดับใต้ดิน เช่น มัน เผือก ระดับเรี่ยดิน เช่น ฟักทอง แตงโม ระดับเตี้ย เช่น พริก มะเขือ ระดับกลาง เช่น มะม่วง มะพร้าว และระดับสูง เช่น สัก ยางนา เป็นต้น เรือนยอดหลายระดับของพรรณไม้เหล่านี้จะช่วยชะลอน้ำฝน ให้ดินซึมซับน้ำฝนอย่างเต็มที่ รวมถึงการสร้างฝายชะลอน้ำที่ถูกต้องตามหลักธรรมชาติเพื่อลดน้ำหลาก เพิ่มน้ำในฤดูแล้ง ก็สามารถนำพาความชุ่มชื้นมาสู่พื้นที่ ทำให้มีน้ำท่า มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากขึ้น
จากการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2564 โดยนักวิชาการ พบว่า บริเวณพื้นที่เขายายดา มีน้ำท่าในลำธารกว่า 14 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส และยังช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 38.5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่ ส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ด้วยผลผลิตทางการเกษตรรวมกว่า 79 ล้านกิโลรัมต่อปี นอกจากนี้จากงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี 2555 พบว่ามีพรรณไม้กว่า 120 ชนิดพันธุ์ และมีสัตว์อาศัยอยู่กว่า 123 ชนิด พบสัตว์ป่าบางชนิด เช่น หมีควาย กลับสู่ป่า ทั้งหมดนี้ คือผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน
นอกเหนือจากโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และการบริหารจัดการน้ำชุมชนที่ SCGC ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดคาร์บอนฯ ได้แก่ โครงการเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย ผ่านการจัดการป่าชายเลนอย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการภายใต้ “โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอก ประจำปี พ.ศ. 2565” โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นผู้พัฒนาโครงการ และ SCGC เป็นผู้พัฒนาโครงการร่วม เป้าหมายเพื่อร่วมกับทุกภาคส่วนฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โครงการนี้เป็นไปตามแนวทางที่เรียกว่า Natural Climate Solutions (NCS) เป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลสิ่งแวดล้อม ให้ธรรมชาติดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ โดยองค์กรที่ร่วมในโครงการดังกล่าว สามารถนำปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับได้มาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset) และ/หรือ ซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไปในอนาคต
ขณะนี้ กล้าไม้กว่า 500,000 ต้นลงสู่ผืนป่าชายเลนแล้ว ต้นกล้าทุกต้นจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องไปถึงปีที่ 15 ของโครงการ ไม่เพียงแค่เมล็ดพันธุ์ที่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ แต่ยังมีส่วนกระจายรายได้ให้กับชุมชนผ่านการจัดจ้างแรงงานท้องถิ่นในการปลูก ดูแลพื้นที่ และลาดตระเวนป้องกันรักษาป่า ซึ่ง SCGC ได้ผ่านการเห็นชอบจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง หรือที่เรียกกันว่า Premium T-VER ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยที่มีการกำหนดการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มข้น โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ “คาดว่าจะลด/กักเก็บได้” รวมทั้งสิ้น 1,551 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e/year) และยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในด้านการลดความเหลื่อมล้ำ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรักษาทรัพยากรทางทะเลจากการปลูกป่าชายเลน โดย SCGC เป็นภาคอุตสาหกรรม (ปิโตรเคมี) รายแรกของประเทศ ที่ได้รับการเห็นชอบเป็นโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง
ปัญหาสิ่งแวดล้อมล้วนเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ทางออกก็ต้องทำด้วยสองมือของเราเช่นเดียวกัน นั่นคือ การเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดคาร์บอนในชีวิตประจำวัน รวมทั้งความร่วมมือในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟู ดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ SCGC พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการทั้งด้าน Low Waste, Low Carbon เพื่อให้เกิดสมดุลในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่ทั้งคนและธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม