close

7 ก.พ. 2567

มหัศจรรย์ชุมชน คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ESG Sustainability CSR

ว่ากันว่า “ความมุ่งมั่น” คือหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่อยู่ในตัวเราทุกคน เพราะความมุ่งมั่นทำให้มนุษย์มีพลังสร้างสรรค์ ไม่ยอมแพ้ และพร้อมทลายทุกข้อจำกัดไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ และเมื่อความมุ่งมั่นของคนตัวเล็ก ๆ ส่งต่อไปยังผู้คนโดยรอบ ก็เกิดเป็นความมหัศจรรย์ของแต่ละชุมชน ที่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิต พลิกฟื้นสู่โอกาส และสร้างคุณค่าได้ไม่รู้จบ


SCGC  ยึดมั่นใน 4 Core Value หรือ อุดมการณ์ 4 ที่ปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน นั่นคือ  ตั้งมั่นในความเป็นธรรม  มุ่งมั่นในความเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม   เมื่ออุดมการณ์ทั้ง 4 นี้ ได้หล่อหลอมผสานรวมเป็นเนื้อเดียวกับแนวคิด ESG เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  กลายเป็นแนวทางการดำเนินโครงการเพื่อสังคมของ SCGC ที่มุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน ภายใต้การสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุข ควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี พร้อมส่งต่อสิ่งดีๆ ให้คนรุ่นต่อไป  มาติดตามเรื่องราวดีๆ  ที่จะสร้างแรงบันดาลใจจากพวกเค้าเหล่า มหัศจรรย์ชุมชนกัน


สอนให้จับปลา เป็นการสร้างคนที่ยั่งยืน

“SCGC เชื่อในศักยภาพและพลังที่มีอยู่ในตัวของทุกคน  ก่อนหน้านี้ เรามีแคมเปญภายในองค์กรที่ชื่อว่า Crack Your Cocoon ทลายกำแพงใจ เริ่มได้ที่ตัวคุณ โดยดึงศักยภาพภายในตัวของพนักงานให้ออกมาใช้อย่างเต็มที่ ไม่ยอมแพ้ในข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่างๆ  ซึ่งเราได้นำแนวทางนี้มาประยุกต์ใช้กับการทำงานร่วมกับชุมชนด้วย นั่นคือ ดึงเอาศักยภาพและความเก่งของชุมชนออกมาให้ปรากฎ  พร้อมส่งเสริมให้เค้าสามารถทำได้ด้วยตนเอง  เป็นการสอนให้จับปลาตามหลักการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเราเชื่อว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นการสร้างคนที่ยั่งยืน ทำให้ชุมชนเติบโตอย่างเข้มแข็ง สร้างความภูมิใจ และสร้างคุณค่าให้กับตนเองได้มากกว่า เและเมื่อเค้าสามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงแล้ว  เชื่อเหลือเกินว่า เค้าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ  และส่งต่อโอกาสไปสู่คนรอบข้าง และสังคม  เกิดเป็นเครือข่ายมหัศจรรย์ชุมชนที่เกื้อกูลกันและกันอย่างเข้มแข็งต่อไป”  น้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์ และกิจการเพื่อสังคม  เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) เปิดใจกับทีมงาน


SCGC ทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดระยองมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ผ่านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน  การจัดตลาดนัดชุมชนภายในโรงงาน การใช้บริการต่าง ๆ จากท้องถิ่น  ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่กว่า 56 ล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา


ทำไมถึงมาเป็นโครงการ “มหัศจรรย์ชุมชน” สร้างอาชีพ สร้างคุณค่า พึ่งพาตนเอง

จากการร่วมงานกับพี่น้องชุมชนในพื้นที่ จังหวัดระยอง  ทำให้สัมผัส และเห็นถึงวิธีคิดในการใช้ชีวิตของหลายๆ คน จนต้องร้องดังๆ ในใจว่า อเมซิ่งสุดๆ และกลายเป็นชื่อโมเดล มหัศจรรย์ชุมชนหรือ Amazing Community ที่น้องๆ ในทีมช่วยกันคิดชื่อนี้ขึ้นมา   สำหรับนิยามของคำว่า มหัศจรรย์ชุมชน ในมุมมองของเรา คือ ผู้ที่รู้จักพึ่งพาตนเอง  มุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพด้วยความสุจริต  พร้อมที่จะสร้างโอกาสให้คนอื่น แบ่งปันเผื่อแผ่สู่สังคมคนรอบข้าง และดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น   ใครที่ทำได้แบบนี้ได้ พี่ว่ามันน่ามหัศจรรย์มากเลยนะ ซึ่งพี่เชื่อว่าสังคมของเรามีคนมหัศจรรย์อย่างนี้อยู่มาก เราต้องช่วยกันชื่มชม สร้างกำลังใจกัน การนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นพลังบวกให้คนที่กำลังท้อแท้ได้เข้มแข็งและสู้ต่อ เราอยากให้ทุกคนดึงเอาความมหัศจรรย์ในตัวออกมาสร้างคุณค่าและสร้างโอกาสให้ตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม”  น้ำทิพย์ เล่าถึงจุดกำเนิดของความมหัศจรรย์ครั้งนี้


โมเดล “มหัศจรรย์ชุมชน” (Amazing Community) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย SDG & ESG พร้อมเดินหน้าสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรมด้วยหลักพึ่งพาตนเอง ต่อยอดการสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่าให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมโชว์ศักยภาพชุมชน และสร้างแรงบันดาลใจสู่สังคม บอกเล่าผ่าน 3 วิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผู้คน 3 รุ่น 3 พลัง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด มหัศจรรย์พลังหญิง กลุ่มแม่บ้านที่มีข้อจำกัด แต่สามารถเอาชนะอุปสรรคจนยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง วิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง มหัศจรรย์พลังคนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ด้วยความห่วงใยคนในครอบครัว สู่การเปลี่ยนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา มหัศจรรย์พลังของผู้สูงวัยที่ไม่ยอมเกษียณ ส่งต่อรังชันโรงตัวเล็ก ๆ สู่ป่าใหญ่ในจังหวัดระยอง


วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้า
ชุมชนมาบชลูด

“เราคือวิสาหกิจชุมชนที่เป็นผู้หญิงล้วน ต่างคนต่างมีภาระหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่วันนี้เรามารวมตัวกันเพื่อสร้างอาชีพ และเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มค่ะ” พี่โต ประคอง เกิดมงคล ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด กล่าวถึงความภาคภูมิใจของกลุ่มวิสาหกิจที่ช่วยสร้างอาชีพให้สตรีในชุมชนสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง


จากแม่บ้านที่สูญเสียสามี ยึดอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าตามกำลังของตัวเองด้วยความตั้งใจ และปราณีตในทุกฝีเข็ม ทว่างานเย็บผ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ พี่โตจึงริเริ่มวางแผนเปลี่ยนรูปแบบการรับงานโดยการรวบรวมช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชนให้มีกำลังมากพอสำหรับงานใหญ่ ๆ 


ในช่วงแรกแม้จะมีรายได้ไม่มาก ออเดอร์เข้ามาเพียงไม่กี่ชิ้น แต่พี่โตก็อาศัยความใจสู้ ไม่ย่อท้อ ค่อย ๆ ตัดเย็บชิ้นงานออกมาหลากหลายรูปแบบ จนในที่สุดก็เริ่มขายได้ มีรายได้เข้ามาชัดเจน “ทำไปเรื่อย ๆ ทำไม่หยุด” คือคำที่พี่โตบอกกับเราถึงการก้าวผ่านปัญหาในช่วงแรก


ด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียด ไม่เฉพาะเกี่ยวกับตัวสินค้า แต่ยังรวมถึงความเป็นอยู่ของสมาชิกในกลุ่ม พี่โตเห็นว่าแม่บ้านแต่ละคนที่เข้ามาทำงานล้วนมีข้อจำกัดที่คล้ายกัน นั่นคือการต้องรับผิดชอบหน้าที่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงเด็ก ดูแลผู้สูงวัย และสมาชิกในครอบครัว พี่โตจึงตัดสินใจปรับรูปแบบสินค้าอีกครั้ง ให้ใช้เวลาตัดเย็บน้อยลง แบ่งงานไปทำได้ที่บ้าน และเป็นสินค้าที่มีมูลค่า เป็นที่มาของ “กระเป๋าผ้าชลูด” 


แบรนด์ “Chalüd” ที่เย็บติดกับกระเป๋าผ้าทุกใบ คือสัญลักษณ์ความทุ่มเทของกลุ่มแม่บ้านมาบชลูด ที่เย็บกระเป๋าขึ้นจากสองมือ แต่มีคุณภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากระเป๋าแบรนด์ดังในห้างสรรพสินค้า ทำให้แต่ละเดือนกลุ่มแม่บ้านมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หากย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน รายได้จากการจำหน่ายกระเป๋าผ้าชลูดอาจพอเป็นค่ากับข้าวได้ในแต่ละวัน แต่ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ถึง 30,000 - 40,000 บาทต่อเดือน หรือมากถึงหลักแสน แถมด้วยคุณภาพชีวิตที่มั่นคงให้กับกลุ่มแม่บ้านและครอบครัว



ระหว่างทางสร้างคุณค่า : หลังจากกลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด จ.ระยอง  ได้รวมตัวกันราว 2 ปี SCGC ก็มีโอกาสได้เข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับกลุ่ม จับมือกันลองผิดลองถูก คอยรับฟัง สนับสนุน ติดตามผล และที่สำคัญคือการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อออกแบบสูตรความสำเร็จให้กับกลุ่มวิสาหกิจ ทั้งการพัฒนารูปแบบสินค้า การเสริมทักษะการตัดเย็บและความรู้ด้านการบริหารจัดการ การทำการตลาดออนไลน์ และการออกร้านในกิจกรรมต่าง ๆ


มากไปกว่านั้น SCGC ได้เป็นสื่อกลางให้กลุ่มแม่บ้านจากมาบชลูด ผสานความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในเครือข่ายที่ SCGC ดูแล ต่อยอดสินค้าของกลุ่มให้มีความโดดเด่น ต่างจากผลิตภัณฑ์จากผ้าทั่วไป ทั้งความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนแตนบาติก อ.บ้านฉาง ผู้ผลิตผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ โดยเฉพาะผ้าย้อมครามทะเล ผ้าย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกมังคุด และผ้าพิมพ์ลายหงส์เหิน หนึ่งเดียวของจังหวัดระยอง และความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี อ.ปลวกแดง เจ้าของภูมิปัญญาในการทักถอผืนผ้าจากเส้นใยสับปะรด เรียกว่า “ผ้าใยลักกะตา” ที่นุ่ม เหนียว ทว่าคงทน เหมาะจะนำมาผลิตเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ เอกลักษณ์จากผืนผ้าเหล่านี้ ได้ถูกตัดเย็บขึ้นรูปอย่างปราณีตโดยวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด ด้วยการนำพาของ SCGC 



วิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง

“กลุ่มบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง ที่เราสร้างขึ้นมา คือวิถีของคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจดี ๆ โดยมีแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างรายได้ สร้างอาชีพอย่างยั่งยืน” คุณปอ รัณยณา จั่นเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง บอกเล่าถึงปณิธานของคนรุ่นใหม่ ที่อยากดูแลโลกผ่านธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 


จากครอบครัวที่คลุกคลีกับวิถีเกษตรอินทรีย์ สู่การทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกแบรนด์ “บ้านรลิณ” ด้วยความตั้งใจแรกที่อยากให้สมาชิกในครอบครัวใช้ของดี ปลอดภัย และไม่เกิดอาการแพ้ คุณปอจึงเริ่มศึกษาสูตรการทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างจริงจัง  ทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และเครื่องปรุงรสอาหาร เมื่อใช้ได้ผลดี ก็เริ่มแบ่งให้คนรอบตัวทดลองใช้ ก่อนจะพบว่า นี่แหละ คือวิถีชีวิตแบบ “กรีน ลีฟวิ่ง” ในแบบของเธอ ที่ช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง


อะไรที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบ้านรลิณปลอดภัยต่อผู้บริโภค คำตอบอยู่ที่การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% แม้แต่น้ำทิ้งจากผลิตภัณฑ์ก็ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบปลอดสารพิษ คุณปอจึงเริ่มสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรในพื้นที่ นำส่งวัตถุดิบที่ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงมาเพื่อผลิตเป็นสินค้าของบ้านรลิณ


ยกตัวอย่าง “มะกรูด” หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของผลิตภัณฑ์บ้านรลิณ คุณปอก็เลือกรับมะกรูดจากชาวบ้านที่ปลูกแบบออร์แกนิกมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ มะกรูดผลฟูใหญ่ ผิวมันวาว ถูกส่งจากชุมชนมาสู่บ้านรลิณ ผลผลิตเหล่านี้ปลูกขึ้นจากดินที่ผสมเอง บำรุงด้วยปุ๋ยอินทรีย์ จนเติบโตสมบูรณ์ และสินค้าเกษตรที่ขาดไม่ได้อย่างสับปะรด ก็เป็นอีกวัตถุดิบที่ไม่อาจมองข้าม “สับปะรดทองระยอง” ผลไม้ GI (Geography Indication) ของจังหวัด ก็ถูกนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากบ้านรลิณเช่นกัน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำเกษตรปลอดสารพิษ ความเป็นอยู่ของพวกเขาก็ดีขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ได้ใช้สินค้าปลอดภัย


ผลิตภัณฑ์ของบ้านรลิณสามารถสร้างรายได้ราวหลักแสนบาทต่อปี แม้จะไม่ใช่เม็ดเงินจำนวนมาก แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่มีคุณภาพ ลูกค้าของบ้านรลิณล้วนพอใจในผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ปลอดสารเคมี ใช้แล้วดีต่อสุขภาพ จนเกิดการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกครั้งที่มีการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของบ้านรลิณ ก็เท่ากับว่าเกษตรกรและชาวบ้านในชุมชน ก็ได้รับการสนับสนุนไปด้วย


ระหว่างทางสร้างคุณค่า : สิ่งสำคัญของการสร้างแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคก็คือการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่ง SCGC ได้มีส่วนเข้ามาเติมเต็มในกระบวนการขอรับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การอาหารและยา หรือ อย. มีการทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการร่วมกันพัฒนาสารสกัดธรรมชาติเพื่อต่อยอดสร้างคุณค่าอีกไม่รู้จบ พร้อมด้วยการสร้างแบรนด์ ออกแบบโลโก้ และทำการตลาด เสมือนเป็นการเปิดประตูให้วิสาหกิจบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง ได้ออกมาพบกับผู้บริโภคโดยตรง


ตลอดเส้นทางการเติบโตของบ้านรลิณ SCGC เห็นแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรงของคนรุ่นใหม่ เราจึงร่วมผลักดันให้ความตั้งใจนี้เห็นผลและทรงพลังยิ่งขึ้น เท่านั้นยังไม่พอเรายังจับมือกับวิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณฯ พัฒนาแพลตฟอร์ม e-Commerce ชื่อว่า “บ้านหนูมี” จำหน่ายสินค้าท้องถิ่นระยอง โดยมี SCGC เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงชุมชนเข้ากับแพลตฟอร์ม ส่งต่อโอกาส สร้างรายได้ให้กับสินค้าชุมชนอื่น ๆ ต่อไป



กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพ
ผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา

“วิสาหกิจของเราคือผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ผสมผสานกับความร่วมสมัย และสามารถเป็นแรงผลักดันให้ผู้สูงวัยในชุมชน ได้กลับมามีชีวิตชีวาใหม่อีกครั้ง” ครูประไพ คชรินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา เล่าถึงเป้าหมายในการดำเนินงานของกลุ่ม ที่แม้จะเป็นการรวมตัวของผู้สูงวัย แต่ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

ใครจะคิดว่าแมลงรำคาญตัวเล็ก ๆ ที่บินว่อนอยู่ตามไร่สวนในจังหวัดระยองจะสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยความสนใจเลี้ยงผึ้งเป็นงานอดิเรกหลังเกษียณอายุข้าราชการของคุณครูประไพ ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูล จนได้มาเจอกับ “ชันโรง” แมลงเศรษฐกิจที่มากด้วยประโยชน์ นับจากวันนั้น กล่องไม้กล่องเล็ก ๆ ไม่กี่กล่องในสวนหลังบ้าน ก็ขยายออกไปหลายชุมชนในจังหวัดระยอง นำพาความสุข ความอิ่มเอมใจ และวัยชราอันหอมหวานมาสู่กลุ่มวิสาหกิจฯ 


ชันโรงเป็นแมลงขนาดเล็ก ไม่มีเหล็กใน ระยะบินไม่ไกลมาก จัดเป็นแมลงพันธุ์จิ๋วแต่แจ๋ว เพราะสามารถหาอาหารเองจากพืชดอกทั่วไป หากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ก็จะพบเหล่าชันโรงนี้ได้ไม่ยาก พวกมันทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ ยิ่งถ้าเลี้ยงในพื้นที่เกษตรอินทรีย์แล้วนั้น น้ำผึ้งที่ได้ก็จะเป็นน้ำผึ้งอินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์มากมาย 


น้ำผึ้งชันโรงของกลุ่มมีจุดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ เพราะมีส่วนประกอบของแมงโกสทีน ฟลาโวนอยด์ (Mangosteen Flavonoid) จากเกสรดอกมังคุด ทำให้มีสรรพคุณทางยา ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ สมานแผล และบำรุงสมอง และยังได้สารสกัดพรอพอลิส (Propolis) และเกสรของผึ้งชันโรง มาผลิตสินค้าจากชันโรง โดยใช้ชื่อแบรนด์ “บ้านมีชันดี” 


แม้กำลังของผู้สูงวัยในกลุ่มจะช่วยขยายบ้านของชันโรงได้ทีละเล็กละน้อย แต่ด้วยความร่วมมือกันปัจจุบันมีผู้เลี้ยงชันโรงกว่า 50 ราย สร้างรังให้ชันโรงได้กว่า 400 รัง และสร้างสังคมผู้สูงวัยที่เข้มแข็ง มีพลังใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของกลุ่มวิสาหกิจ 


“กลุ่มผู้สูงวัยอย่างเราทำได้ ทุกคนก็ทำได้” นี่ไม่ใช่คำขวัญ หรือคำโฆษณา แต่คือคำบอกเล่าแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้สูงวัยในพื้นที่ ที่ทำให้การเลี้ยงชันโรงสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม



ระหว่างทางสร้างคุณค่า : จากการเลี้ยงชันโรงในสวนหลังบ้าน ส่งต่อกันเองในหมู่ผู้สูงวัย กระทั่งวันที่ SCGC ได้รับโอกาสจากกลุ่มวิสาหกิจให้เข้ามาช่วยดูแลเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรง ก็ทำให้กลุ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผลที่ได้นอกจากเพิ่มจำนวนผู้เลี้ยงชันโรงแล้ว ยังทำให้สินค้าของวิสาหกิจฯ เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดย SCGC ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญมาต่อยอดองค์ความรู้ นำน้ำผึ้งที่ได้ไปทดสอบคุณสมบัติ เตรียมพร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์สู่การเป็นสินค้าประจำจังหวัดระยอง 


นอกจากนี้ SCGC ยังเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกลุ่มวิสาหกิจฯ เข้ากับชุมชนบ้านมาบจันทร์ ที่เราเคยเข้าไปพัฒนาเรื่องการจัดการน้ำ จนทำให้พื้นที่แห่งนี้กลับมาอุดมสมบูรณ์ และประสานกับสวนพฤกษศาสตร์จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและรวบรวมพรรณไม้ของภาคตะวันออก นำชันโรงไปเพาะเลี้ยงขยายผล เมื่อแมลงตัวน้อยได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ก็สามารถเติบโตได้ดี เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เป็นยาชูกำลังให้ชาวบ้านมีรอยยิ้ม และเป็นจุดเปลี่ยนสู่การทำเกษตรอินทรีย์ในชุมชน



SCGC มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน พร้อมนำแนวทาง Low Carbon, Low Waste มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นความมหัศจรรย์ของคนตัวเล็ก ๆ ที่ลุกขึ้นยืนได้ด้วยตัวเอง ยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และยืนยันที่จะส่งมอบคุณค่าสู่สังคมอย่างไม่รู้จบ 


Is this article useful ?