close

11 ก.ค. 2568

ข้อมูลอีกด้านของแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ ที่มนุษย์ไม่อาจมองข้าม

Business ESG Circular Economy Solutions Sustainability

การคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การใช้พลังงาน และการเผาไหม้เชื้อเพลิง ตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อมลพิษอันดับต้น ๆ ที่หลายคนนึกถึง แต่ทราบหรือไม่ว่า มลภาวะมีอยู่ทุกที่และมีแหล่งที่มามากมาย กิจกรรมบางอย่างสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างคาดไม่ถึง และปัญหาสิ่งแวดล้อมบางเรื่อง ก็มีต้นเหตุจากกิจวัตรประจำวันที่มนุษย์อย่างเรามองข้ามไป

ก๊าซเรือนกระจก คือก๊าซที่ล่องลอยในชั้นบรรยากาศ ซึ่งสามารถดูดซับและแผ่รังสีความร้อนกลับสู่พื้นโลกได้ จึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น หลายคนอาจเข้าใจว่าก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นคือชื่อของก๊าซเพียงชนิดเดียว แต่ที่ถูกต้อง ก๊าซเรือนกระจกคือก๊าซที่ประกอบด้วยก๊าซชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming Potential (GWP) แตกต่างกัน โดยค่า GWP คือการวัดค่าความร้อนที่กักเก็บบนชั้นบรรยากาศจากก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกำหนดให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าเป็น 1 GWP โดยในที่นี่จะให้ข้อมูลค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนของก๊าซเรือนกระจกเมื่อเปรียบเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งใช้วัดผลกระทบระยะสั้นและสะท้อนให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาในปัจจุบัน

ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซต่าง ๆ ต่อไปนี้

    • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) พบมากจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วนในก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 76% และมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 1 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะเวลา 20 ปี
    • ก๊าซมีเทน (CH4) พบมากจากการทำปศุสัตว์ การทำการเกษตร และการสลายตัวของขยะอินทรีย์ในหลุมฝังกลบ รวมทั้งการผลิตและขนส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน มีสัดส่วนในก๊าซเรือนกระจกประมาณ 16% ก๊าซมีเทนจากแหล่งชีวภาพมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนประมาณ 79.7 เท่า และจากแหล่งฟอสซิลประมาณ 83 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะเวลา 20 ปี
    • ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) เป็นก๊าซอีกชนิดที่พบมากจากการทำปศุสัตว์และการทำการเกษตร ทั้งจากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในภาคเกษตรและการย่อยสลายของมูลสัตว์ และพบในกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงและภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนในก๊าซเรือนกระจกประมาณ 6% มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ประมาณ 273 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะเวลา 20 ปี
    • ก๊าซฟลูออริเนต (Fluorinated Gases) ประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด อาทิ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) พบมากในระบบทำความเย็น กระบวนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และตัวทำละลายในอุตสาหกรรม มีสัดส่วนในก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 2% แต่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงมากตั้งแต่หลักพันถึงหมื่นเท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะเวลา 20 ปี


(ข้อมูลจาก IPCC AR6 โดย โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) และ Global Warming Potential Values โดย Greenhouse Gas Protocol)


ก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรม มลพิษที่หลายคนยังไม่ตระหนัก

จากข้อมูลจำแนกชนิดของก๊าซเรือนกระจกและค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จะเห็นได้ว่า นอกจากก๊าซฟลูออริเนตที่พบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว ก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ก็เป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ความตระหนักรู้เกี่ยวกับก๊าซทั้งสองชนิดนี้ยังอยู่ในวงจำกัด หรืออาจถูกมองข้าม เพราะผู้คนพุ่งเป้าไปที่การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาไหม้เชื้อเพลิง มากกว่าก๊าซที่มาจากการทำเกษตร

ภาคเกษตรกรรมเป็นหนึ่งในแหล่งสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลจากรายงาน Emissions Gap Report 2024 ของ UNEP ระบุว่า ในปี 2023 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.3% โดยภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการใช้ที่ดิน (Agriculture, Forestry and. Other Land Use: AFOLU) มีสัดส่วนราว 11% ของแหล่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด หรือประมาณ 6.5 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2e) ซึ่งแน่นอนกว่าก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ที่ปล่อยจากภาคการเกษตรมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่าตัว

ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ มลพิษจากภาคการเกษตร

การทำเกษตรและปศุสัตว์ก่อให้เกิดมลพิษจากการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ หากจำแนกตามรูปแบบกิจกรรมจะพบว่า การเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว รวมทั้งการจัดการมูลสัตว์ในปัจจุบัน มีส่วนในการปล่อยก๊าซมีเทนมากถึง 39% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในภาคเกษตรกรรม ซึ่งก๊าซมีเทนนี้เองมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่าในระยะเวลา 20 ปี และมีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศประมาณ 12 ปี

นอกจากการเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกก็ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกไม่แพ้กัน โดยจะมาในรูปแบบของก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ ประมาณ 13% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม ก๊าซไนตรัสออกไซด์ เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 270 เท่าในระยะเวลา 20 ปี และมีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศประมาณ 120 ปี รายงาน Global Nitrous Oxide Assessment โดย UNEP ชี้ว่า การปล่อยไนตรัสออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะจากการใช้ปุ๋ยเคมีและมูลสัตว์ในภาคเกษตรกรรม กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5°C ตามข้อตกลงปารีสมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุผล

เปิดแนวทางรับมือโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ดี ในการรับมือกับภาวะโลกร้อน เราไม่ควรพุ่งเป้าไปที่ก๊าซชนิดในชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องจริงจังกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซฟลูออริเนต ส่วนภาคเกษตรกรรมก็อาจมุ่งหาทางแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ หรือในคนทั่วไป การบริโภคอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

SCGC ผู้นำนวัตกรรมพอลิเมอร์และโซลูชันครบวงจรเพื่อความยั่งยืน เดินหน้าอย่างเต็มที่ ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยหนึ่งในเป้าหมายด้าน ESG ของเราก็คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 700,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573 เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ผ่านโครงการและความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมการใช้พลังงานและวัตถุดิบที่มีคาร์บอนต่ำ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ

SCGC x IHI โครงการศึกษาและสร้างโรงงานต้นแบบทดลองเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเปลี่ยนเป็นโอเลฟินส์เบา ด้วยการสนับสนุนจากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (New Energy and Industrial Technology Development Organization: NEDO) หน่วยงานภาครัฐบาล ทดสอบเทคโนโลยี CCU เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต มาทำปฏิกิริยาเคมีกับไฮโดรเจน จนได้มาเป็นโอเลฟินส์ตัวเบา และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่น ๆ ให้สามารถหมุนเวียนนำมาใช้ในกระบวนการผลิต และช่วยลดปริมาณการใช้วัตถุดิบแนฟทา และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ

PyroCO2 ความร่วมระดับนานาชาติในการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำไปผลิตเป็น Acetone (อะซิโตน) สารตัวทำละลายอินทรีย์สำคัญในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะใช้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบในการผลิต 10,000 ตันต่อปี ซึ่ง SCGC เป็น 1 ใน 20 องค์กรที่เข้าร่วมโครงการ และเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ได้เข้าร่วมภายใต้ทุนของ EU Commission โดย SCGC มีบทบาทหลักในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำผลผลิตจากการดักจับคาร์บอนไปใช้ประโยชน์ ผ่านการนำโพรพิลีน (propylene) ที่ผลิตจากโครงการ ผลิตเป็นเม็ดพลาสติกพอลิโพรพิลีน หรือ PP ต่อไป

Plastics2Olefins โครงการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกให้เป็นโอเลฟินส์ หรือสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติก ซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตลงได้ถึง 70% หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะและคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสร้างโรงงานสาธิตจากเทคโนโลยีการเปลี่ยนขยะจากหลุมฝังกลบและขยะพลาสติกที่ยากต่อการรีไซเคิลเป็นโอเลฟินส์ในยุโรป และศึกษาความเป็นไปได้เพื่อสร้างโรงงานในเอเชีย ด้วยความร่วมมือของ 13 พาร์ตเนอร์ จาก 7 ประเทศทั่วโลก

SMX™ Technology เทคโนโลยีผลิตเม็ดพลาสติก HDPE ให้แข็งแรงและเหนียวเป็นพิเศษ ทำให้ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์แข็งแรงขึ้น หรือลดการใช้เม็ดพลาสติกลงโดยยังคงความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปัจจุบัน SCGC ได้ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตเม็ดพลาสติกให้กับหลากหลายแบรนด์สินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะหยุดยั้งภาวะโลกร้อน ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างในภาคอุตสาหกรรม สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานเป็นพลังงานสะอาด หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคการเกษตร อาจเริ่มจากการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี การปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย หรือการปรับเปลี่ยนอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ส่วนในระดับบุคคล สามารถเพิ่มความใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย และจัดการขยะเหลือใช้เพื่อเพิ่มการรีไซเคิลให้มากขึ้น สำหรับ SCGC เรามุ่งมั่นในภารกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และพร้อมสร้างโลกที่ยั่งยืนร่วมกับทุกคน ด้วยการพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์และโซลูชันเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อมั่นว่าโลกที่น่าอยู่เป็นจริงได้ถ้าเราทุกคนร่วมมือกัน

Is this article useful ?