close

27 พ.ค. 2568

จับตาตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกพร้อมอนาคตการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

Business ESG Solutions Sustainability Digitization

ในยุคที่โลกแปรปรวนอย่างหนักจากภาวะโลกเดือด ธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งพักพิงของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ กลับต้องเผชิญกับวิกฤติจากการบริโภคอย่างขาดความตระหนักรู้ของมนุษย์ และเมื่อธรรมชาติถูกทำลายลง ก็เท่ากับว่าเกราะกำบังจากภัยพิบัติได้ถูกทำลายลงเช่นกัน

กระทั่งตอนนี้ มนุษย์เริ่มตระหนักได้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นอีกเพียง 1.5 องศาเซลเซียสจะนำพาหายนะมาสู่ทุกชีวิต นานาประเทศจึงเริ่มหันมาตั้งเป้าดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดแนวทางที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน


ย้อนเส้นทางที่มาของ Carbon Credit

ย้อนไปในปี 1997 ประเทศพัฒนาแล้ว 37 ประเทศ เห็นพ้องกันในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 5 ภายในปี 2012 และดำเนินการต่อเนื่อง ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 18 ภายในปี 2020 เมื่อเทียบกับปีฐาน 1990

ต่อมาในปี 2015 นานาประเทศต่างเห็นตรงกัน ถึงความจำเป็นในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียล ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Tipping Point) ที่จะทำให้ระบบนิเวศของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง กระทบต่อการดำรงชีวิตของสรรพสิ่งบนโลก เป็นที่มาของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีการตกลงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดหลักการซื้อขายก๊าชเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) โดยอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่เหลือให้แก่ผู้อื่นได้ หรือที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit)

Carbon Credit ความหมายต่อทุกชีวิต

คาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Credit หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง หรือสามารถกักเก็บไว้ได้จากการทำกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีหน่วยเป็น ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) คาร์บอนเครดิตคือสิทธิ์ที่ได้จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นการนำกลไกตลาดมาปรับใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนที่ต้องจ่าย กระตุ้นให้เกิดการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ต่างจากเดิมที่ผู้ประกอบกิจการสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยไม่มีการควบคุม จนส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก

การซื้อขาย Carbon Credit

ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) คือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมาย (Mandatory Basis) มักเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ได้ลงนามในพิธีสารเกียวโต ประเทศเหล่านี้จะมีกฎหมายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างชัดเจน เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หรือหากหน่วยงานใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ก็สามารถนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกส่วนต่างนี้ไปขายให้กับองค์กรอื่นได้


ตัวอย่างที่น่าสนใจ

    • สหภาพยุโรป มีระบบซื้อขายคาร์บอน (EU ETS) บังคับให้โรงงานผลิตไฟฟ้าต้องลดคาร์บอน หรือซื้อเครดิตจากบริษัทที่ปล่อยน้อยกว่า
    • แคลิฟอร์เนีย มีกฎหมายให้บริษัทพลังงานและขนส่งเข้าร่วมตลาดซื้อขายคาร์บอน

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) คือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนที่สร้างขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรหรือผู้ประกอบการที่มีความสนใจเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิต เกิดขึ้นตามความสมัครใจ ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับ


ตัวอย่างที่น่าสนใจ

    • Google และ Microsoft ซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อทำให้ธุรกิจเป็น "คาร์บอนเป็นศูนย์" (Carbon Neutral)
    • สายการบิน เช่น Delta และ Etihad ขายตั๋วโดยสารที่รวมค่าคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซจากการบิน
    • ธุรกิจอาหารและแฟชัน เช่น Starbucks และ Patagonia ซื้อเครดิตจากโครงการปลูกป่าเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

จับทิศทางการซื้อขาย Carbon Credit

เมื่อพูดถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอน เรามักจะอ้างถึงข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเดรดิตในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ เพื่อให้เห็นแนวโน้มการซื้อขาย ที่อาจสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ

ข้อมูลจาก The Business Research Company ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจทั่วโลกเติบโตอย่างทวีคูณในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2024 ตลาดคาร์บอนมีมูลค่าอยู่ที่ 1.55 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะขยับขึ้นเป็น 1.89 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025 และมีแนวโน้มเติบโตถึง 4.13 พันล้านดอลลาร์ในปี 2029 ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 21.6% ตัวเลขที่มากขึ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าในต่างประเทศเริ่มมีมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น เพื่อให้บรรจุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต

ส่วนประเทศไทย ข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปี 2559 จนถึงเดือนเมษายน 2567 พบว่ามีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งสิ้น 3,258,033 tCO2eq มูลค่าการซื้อขายรวม 292 ล้านบาท คิดเป็นราคาเฉลี่ยตันละ 89.6 บาท แม้ประเทศไทยจะมีการกำกับดูแลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างจริงจังโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ “อบก.” และหน่วยงานต่าง ๆ ก็หันมาให้ความสนใจมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนมากขึ้น ทว่าปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในบ้านเรายังอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด ตัวเลขนี้บ่งชี้ว่าเรายังห่างไกลจากเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศในปี 2050

การปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต (Forest Carbon Credit)

แต่หากจะกล่าวถึงโครงการด้านคาร์บอนเครดิตที่ได้รับความนิยมมากในบ้านเรา อาจกล่าวได้ว่าโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้นั้น ได้รับความนิยมมากกว่าคาร์บอนเครดิตรูปแบบอื่น เพราะเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์ต่อหลายภาคส่วน ทั้งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน และช่วยเติมเต็มระบบนิเวศให้สมบูรณ์ โดยเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ป้องกันภัยธรรมชาติ และช่วยดูดซับมลพิษ

โครงการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตเป็นโครงการประเภทดูดกลับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขผลกระทบโดยใช้วิธีการทางธรรมชาติ (Nature-based solution) ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศ และสามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อขายให้กับองค์กรหรือประเทศที่ต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าที่กำหนดไว้ โดยป่าหรือโครงการฟื้นฟูป่าที่สามารถลดคาร์บอนได้ จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ตรวจสอบและมาตรฐานต่าง ๆ

CERT+ ยกระดับการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต

ในอีกมุมหนึ่ง มูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยที่ยังไม่มากเมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ถือเป็นโอกาสในการต่อยอดพัฒนาแพลตฟอร์มคาร์บอนเครดิตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับการคำนวณคาร์บอนเครดิตสำหรับการซื้อขายในตลาดคาร์บอน

CERT+ สตาร์ตอัปใน SCGC ด้านการตรวจวัดคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้และจัดการการปลูกป่าคือหนึ่งในแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้การปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องง่ายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล หรือภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งสามารถสำรวจครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดได้ในภาพเดียว ประกอบกับการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้แปลงภาพถ่าย 2 มิติ ให้เป็นข้อมูล 3 มิติ เช่น ความกว้างและความสูงของต้นไม้ ทำให้ทราบปริมาณคาร์บอนสะสมในต้นไม้ได้แบบใกล้เคียงกับเวลาปัจจุบัน (Near Real Time) และสามารถคำนวณคาร์บอนเครดิตต่อไปได้อย่างแม่นยำ

CERT+ ให้บริการใน 2 รูปแบบ ได้แก่

    • ระบบติดตามและตรวจตรา ผ่าน CERT+ Insight Platform เพียงระบุข้อมูลสถานที่และขอบเขตของพื้นที่ ระบบจะคำนวณการเจริญเติบโตของต้นไม้ ปริมาณเนื้อไม้และผลผลิต ปริมาณคาร์บอนสะสมในต้นไม้เบื้องต้น รวมถึงคาดการณ์ปริมาณเนื้อไม้ในอนาคต ทำให้ผู้ใช้ทราบปริมาณผลผลิตของเนื้อไม้ เพื่อใช้ในการวางแผนปรับปรุงและพัฒนาแปลงปลูกต่อไป นอกจากนี้ ยังมีระบบแจ้งเตือนเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของพืช การหายไปของพันธุ์พืช โอกาสการเกิดไฟป่า รวมถึงพยากรณ์อากาศ ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานจัดการแปลงปลูกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้งานได้กับพืชหลายชนิด เช่น ยูคาลิปตัส สัก และป่าธรรมชาติ โดยคิดค่าบริการเป็นรายปีต่อพื้นที่
    • การคำนวณปริมาณคาร์บอนสะสมในต้นไม้อย่างละเอียด เพื่อนำข้อมูลไปใช้งานในโครงการคาร์บอนเครดิตจากต้นไม้ สามารถใช้งานได้กับพืชยูคาลิปตัสเป็นหลัก และอยู่ระหว่างการพัฒนาและขอการรับรองพืชชนิดอื่น โดยคิดค่าบริการเป็นรายปีต่อพื้นที่ หรือรายครั้ง

CERT+ ได้รับการรับรองวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการรับรองคาร์บอนเครดิตของไทย ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปแลกเปลี่ยน หรือใช้เพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ รวมทั้งนำไปใช้ประกอบการรายงานชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม  https://www.certplus.ai/

SCGC ไม่เพียงแต่ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนผ่าน CERT+ แต่ยังนำเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ไปใช้ต่อยอดการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขายายดา จังหวัดระยอง เพื่อคำนวนหาปริมาณการสะสมคาร์บอนในเนื้อไม้ โดยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2568 วัดได้ 2,500,402 tCO2eq แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ อันจะนำไปสู่การร่วมกับชุมชนดูแลอนุรักษ์พื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้เขายายดายังคงเป็นปอดที่ให้อากาศบริสุทธิ์ เป็นป่าต้นน้ำของชุมชน และส่งผลถึงความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้านในบริเวณพื้นที่รอบเขายายดา

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นแนวทางหนึ่งในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ทั้งจากการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า ลดการผลิตวัสดุใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ เพื่อให้โลกที่น่าอยู่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป

Is this article useful ?