ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืน CERT+ สตาร์ตอัปใน SCGC ยกระดับการตรวจวัดคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้และการจัดการการปลูกป่าด้วยเทคโนโลยี AI ลดโลกร้อนต่อเนื่องด้วยข้อมูลที่แม่นยำ เพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดคาร์บอนเครดิตโลก พร้อมตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการเติบโตยั่งยืนของชุมชน
แม้ว่าปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยโลกยังไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมายขั้นสูงของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นระดับวิกฤตที่นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าจะทำให้การใช้ชีวิตของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกนั้น “เป็นไปได้ยาก” เพราะเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสจะหมายถึงค่าเฉลี่ย 20 ปี ไม่ได้หมายถึงอุณหภูมิแค่ปีเดียว แต่ประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions - NDCs) เร่งนำกลไกและเครื่องมือทั้งหมดที่มีมาใช้ รวมถึงคิดค้นนวัตกรรม เพื่อหยุดหรือลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Global warming) และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเวลาที่เหลืออยู่ของเรามีเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
คาร์บอนเครดิตป่าไม้ เป็นกลไกที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกโดยการใช้ ป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) จากชั้นบรรยากาศ แล้วแปลงเป็น คาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) ที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดคาร์บอน โดยหลักการทำงานของคาร์บอนเครดิตป่าไม้ มีดังนี้
เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว และบรรลุเป้าหมาย Net Zero จึงมีการนำเครื่องมืออย่างโดยกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) หรือการกำหนดต้นทุนหรือราคาสำหรับการปล่อยคาร์บอน มาใช้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลไกดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบของภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราภาษีต่อหน่วยการปล่อยคาร์บอน โดยอาจจัดเก็บจากแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Tax) หรือจากการใช้ทรัพยากร เช่น การจัดเก็บตามปริมาณคาร์บอนในน้ำมัน รวมถึงกลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนที่มีบทบาทสำคัญในระดับโลก
คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดลงหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีการดำเนินธุรกิจตามปกติ (Business-as-Usual: BAU) โดยมีหน่วยวัดเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งปริมาณดังกล่าวต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนดและสามารถนำไปซื้อขายระหว่างผู้ที่ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอนกับผู้ที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ ในประเทศไทยจะต้องได้รับการรับรองจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกลไก T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) กลไกนี้ช่วยสร้างแรงจูงใจ (Incentivize) ให้ภาคส่วนต่าง ๆ ลดการปล่อยคาร์บอน โดยคาร์บอนเครดิตมาจากโครงการหลักสองประเภท ได้แก่ 1) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission reduction / avoidance) เช่น การใช้พลังงานทดแทน การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน และการจัดการของเสีย และ 2) การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Removal หรือ Nature-based sequestration) เช่น การใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือการปลูกป่า ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติ (BAU) จะต้องผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานที่กำหนดให้เป็นคาร์บอนเครดิตก่อน ผู้ดำเนินโครงการลดคาร์บอน (Supply) จึงสามารถนำไปขายให้กับผู้ที่ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Demand) ได้
จากบริบทดังกล่าว คาร์บอนเครดิต (Carbon credit) จึงเป็นเหมือนผลตอบแทนของการทำความดีแก่ภาคธุรกิจที่ดำเนินการลดหรือป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศอันเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และต่อยอดมาสู่การใช้ “ป่าไม้” มาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา (Natural-based solution) ดูดก๊าซคาร์บอน โดยข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุว่า คาร์บอนเครดิตป่าไม้ (Forest carbon credit) ได้รับความนิยมมากกว่าคาร์บอนเครดิตจากโครงการทั่วไป เพราะมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกและกักเก็บคาร์บอนได้จริง ขณะเดียวกันก็สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนด้วย นับว่าอีกหนึ่งแนวทางสู่การสร้าง “สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)” และการก้าวสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตลอดจนบรรลุ Net Zero Emissions หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ในปัจจุบัน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย โดยได้กำหนดระเบียบสำหรับการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อกำหนดและรายละเอียดที่แตกต่างกัน ผู้ดำเนินโครงการจึงควรพิจารณาเลือกวิธีการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตนเองในการดำเนินโครงการ
AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญและได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เทคโนโลยีแห่งโลกยุคใหม่นี้ถูกพัฒนาให้สามารถจำลองศักยภาพความคิดของมนุษย์ผ่านการเรียนรู้และประมวลผลข้อมูล ช่วยให้ AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ในหลากหลายสาขา รวมถึงการติดตามและพัฒนาพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่และสร้างรายได้ให้กับชุมชน
หนึ่งในบทบาทสำคัญของ AI คือการประเมินคาร์บอนเครดิตป่าไม้ ซึ่งช่วยวัดปริมาณคาร์บอนที่ถูกกักเก็บในต้นไม้และพื้นที่ป่าไม้ โดยใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ที่มี AI เป็นตัวช่วยหลัก การสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม เครื่องบิน หรือโดรน ทำให้สามารถตรวจจับและวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ป่าได้อย่างแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ ข้อมูลที่ได้จากกระบวนการนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน (Land use change) การปกคลุมของป่า (Forest cover) และสภาพของป่าไม้ (Forest health) ช่วยให้การติดตามและประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อมมีความรวดเร็วและลดต้นทุนการตรวจสอบภาคพื้นดิน การนำ AI มาใช้ในการประเมินคาร์บอนเครดิตและพัฒนาพื้นที่สีเขียว ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม
เทคโนโลยีของ CERT+ สามารถแปลงภาพถ่าย 2 มิติจากดาวเทียม เครื่องบิน หรือโดรน ให้เป็นข้อมูล 3 มิติ เช่น ความกว้างและความสูงของต้นไม้ ทำให้สามารถคำนวณปริมาณคาร์บอนสะสมในต้นไม้ได้อย่างแม่นยำและใกล้เคียงกับเวลาปัจจุบัน โดย CERT+ ได้รับการรับรองวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการรับรองคาร์บอนเครดิตของไทย
ข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายในตลาดคาร์บอนเครดิต การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงการรายงานผลด้านสิ่งแวดล้อม CERT+ยังยกระดับการจัดการการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตด้วยการให้บริการใน 2 รูปแบบ ได้แก่ ระบบติดตามและตรวจตรา ซึ่งช่วยคำนวณการเติบโตของต้นไม้ ปริมาณเนื้อไม้ และปริมาณคาร์บอนสะสม พร้อมคาดการณ์ผลผลิตในอนาคต และระบบแจ้งเตือนความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เช่น การหายไปของพันธุ์พืชหรือความเสี่ยงการเกิดไฟป่า
ปัจจุบัน CERT+ สามารถใช้งานได้กับพืชหลายชนิด เช่น ยูคาลิปตัส สัก และป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะยูคาลิปตัสที่ได้รับการรับรองจาก อบก. ครอบคลุมสายพันธุ์หลักในประเทศไทยและแถบเอเชียแปซิฟิก ด้วยแนวทาง Low Waste, Low Carbon ที่ SCGC ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นผลักดัน CERT+ จึงเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความยั่งยืน ทั้งในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างแรงจูงใจในการปลูกต้นไม้เพื่อคาร์บอนเครดิต ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาสังคมปลอดคาร์บอนในอนาคต