close

15 ต.ค. 2567

Digital Commercialization พลิกโฉมเทรนด์การทำงาน 2024

Career Story Interviews

นอกจากการมุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อยกระดับการแข่งขันให้กับเกิดขึ้นกับทุกภาคอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืนไปสู่วิถีชีวิตคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Society แล้ว SCGC ยังสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของพนักงานทุกคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับการทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสอดรับกับเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่มีพลวัตมากขึ้น

โดยหนึ่งในรูปแบบของการเพิ่มทักษะให้กับทุกคนใน SCGC ก็คือ Job Rotation ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองถนัดและทำได้ดีมากที่สุด จนสามารถทำให้พนักงานได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาแสดงได้อย่างชัดเจน และรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอิมแพคกับบริษัทได้อย่างยั่งยืน และในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ SCGC จะชวนไปทำความรู้จักกับ คุณหิรัญรัฐ “ชิว” เกตุจรุง Assistant Manager-Digital Commercialization หนึ่งในพนักงาน SCGC ที่ได้มีโอกาส “เปลี่ยนหน้างาน-เสริมทักษะ”   
คำถาม: แรงขับที่ทำให้ติดสินใจทำ Job Rotation คืออะไร และมาจากไหน

สำหรับแรงขับสำคัญที่ทำให้ผมอยากทำ Job Rotation ของบริษัทก็คือ ครอบครัว เพราะคุณพ่อคุณแม่ของผมอายุมากแล้วและท่านอยู่ที่กรุงเทพ จึงทำให้ผมอยากกลับไปใช้เวลาร่วมกันกับท่านทั้งสองให้ได้มากที่สุด พอเห็นว่าภายใน SCGC เอง เปิดโอกาสให้พนักงานได้สลับสับเปลี่ยนหน้างาน โดยใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเดิมเป็นจุดตั้งตั้นสำหรับการต่อยอด ซึ่งตัวผมเองมีประสบการณ์ที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงเป็นสายงานการผลิตสารเคมีโดยตรง และตัวผมเองก็สนใจด้านดิจิทัล Artificial intelligence (AI) และการลงทุนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่ทีม Digital Commercialization เปิดรับทีมงาน ผมจึงลองสมัครและได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมทีม

คำถาม: หน้างานที่เคยทำในส่วนของ Production เกี่ยวกับอะไร แล้วเชื่อมโยงองค์ความรู้เดิมกับหน้างานใหม่ได้อย่างไร

ผมเคยเป็นวิศวกรกระบวนการผลิต Vinyl Chloride Monomer (VCM) ให้กับหน่วยงาน VCM1 ที่ TPC จังหวัดระยอง ทำหน้าที่ดูแลในส่วนของ EDC Cracker และ VCM Purification ซึ่งจะเป็นกระบวนการในการใช้ความร้อนทำให้ Ethylene Dichloride (EDC) แตกตัวได้เป็น VCM ที่ EDC Cracker และไปผ่านกระบวนการกลั่นแยกทำให้ VCM มีความบริสุทธิ์มากขึ้นที่ VCM Purification ต่อไป


ซึ่งการดูแลกระบวนการผลิตส่วนนี้ ผมและทีมพบปัญหาเรื่องอายุการใช้งานของเตา EDC Cracker ที่มีอายุค่อนข้างสั้น ประมาณ 1 ปี ผมและทีมได้บูรณาการองค์ความรู้ดิจิทัลในเรื่องของ Digital Twin เข้ามาทำการมอนิเตอร์และสร้าง Prediction Trend เพื่อจำลองการเกิด Fouling ของ Coke ใน EDC Cracker และหาความสัมพันธ์กับตัวแปรที่สามารถปรับและช่วยยืดอายุของ EDC Cracker เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 1 ปี และมากสุดถึง 1.5 ปี ผลลัพธ์ก็คือช่วยลดต้นทุนในการดูแลจัดการเครื่องจักรได้อย่างมาก

ผมได้นำองค์ความรู้ดิจิทัลนี้มาใช้กับงานของทีม Digital Commercialization ได้เนื่องจากสามารถเข้าใจกระบวนการผลิตได้อย่างรวดเร็ว และยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างทีมดิจิทัลกับทีมด้านกระบวนการผลิตให้เข้าใจกันได้เป็นอย่างดีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งทักษะทางด้านการสื่อสารและทำงานกับคนที่ต้องมีการติดต่อกันระหว่างวิศวกรและผู้ปฏิบัติงานหน้างานตลอดเวลา ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานการไปพูดคุยกับลูกค้าภายนอกของ SCGC ได้เช่นกัน

คำถาม: ความท้าทายที่เจอในหน้างานดิจิทัลมีอะไรบ้าง และก้าวข้ามไปได้อย่างไร

ความท้าทายมากที่สุดในการทำงานที่หน่วยงานดิจิทัลคือด้าน Mindset หรือกระบวนการคิดในการทำงาน เนื่องจากหน่วยงานดิจิทัลเปิดให้โอกาสผมได้ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ อะไรที่ไม่เคยลอง ก็สามารถลองทำได้ แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่ทีมงานก็สนับสนุนให้ผมได้ลองทำ ก่อนจะสรุปบทเรียนและเปิดโอกาสพูดคุยถึงความเป็นไปได้ของการนำประสบการณ์ดังกล่าวไปต่อยอดกับโปรเจ็คอื่น ๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วมากกว่าช่วงที่ทำงานในโรงงาน ที่การจะทำงานอะไรสักอย่างเราจะต้องมองให้ครอบคลุมรอบด้านก่อน เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบจากการเกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ดีที่สุดก่อน พูดง่ายๆ คือการทำงานที่ค่อนข้างมีกรอบมากกว่า แต่ทั้งนี้ผมก็เข้าใจได้ด้วยจากการที่โรงงานจะต้องมีการวิเคราะห์ให้รอบด้านก่อน เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นมันกระทบกับทรัพย์สินและชีวิตของคนที่ทำงานเป็นอย่างมาก อีกทั้งอาจจะกระทบต่อชุมชนก็เป็นได้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่าแต่ละงานก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ดีที่สุดในบริบทที่แตกต่างกัน แต่ตัวเราต่างหากที่ต้องมีการปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว เปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่และทำงานของตัวเองในปัจุบันให้ดีที่สุด

คำถาม: มองเส้นทางหน้างานดิจิทัลและแผนการพัฒนาไว้อย่างไรบ้าง

ต้องเล่าก่อนว่าเดิมตอนแรกที่ผมย้ายงานมาที่ดิจิทัล ชื่อหน่วยงานจะเป็น Digital Capability & Innovation จะเน้นที่ดูแลบ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Startup) ที่ SCGC เป็นผู้ให้เงินลงทุนและเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าภายนอกของ SCGC ที่มีปัญหาด้านดิจิทัลหรืออยากได้โซลูชันด้านดิจิทัลใหม่ ๆ ไปใช้หรือให้ไปร่วมพัฒนาให้

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานดังกล่าวปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น Digital Commercialization ซึ่งจะเพิ่มเป้ามายในการนำ Digital Solution ของ SCGC ออกไปช่วยลูกค้าและสร้างรายได้ส่วนเพิ่มจากการขาย Digital solution ให้กับลูกค้าภายนอกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการกำหนดเป้ายอดขายประจำปีอีกด้วย ทำให้หน้างานของผมจากเดิมที่จะเน้นไปช่วยเหลือลูกค้าโดยไม่หวังผลตอบแทน ก็จะมีการคิดค่าบริการเพิ่มเข้ามาด้วย ทำให้ต้องมีการวางแผนฝึกใช้ทักษะด้านงานขายและการดูลูกค้ามากขึ้น โดยได้รับความช่วยเหลือจากทุกคนในหน่วยงานและทีมเซลล์ของ TPE เป็นอย่างดี อีกทั้งยังต้องมีการลงเรียนคอร์สการพูดเพื่อการสื่อสารมากขึ้น เช่น การทำ Pitching หรือการพูดเพื่อให้ลูกค้าประทับใจและซื้อสินค้ากับเรา เป็นต้น

ผมคิดว่าการที่ผมเรียนรู้ทักษะพูดรวมกับการที่มีประสบการณ์ด้านโรงงานนั้น ทำให้ผมสามารถเติบโตไปในสายงานนี้ได้อย่างดี เพราะลูกค้าที่เข้าไปพบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงงานที่ผลิตเม็ดพลาสติกหรือสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเคมีภัณฑ์อยู่แล้ว ทำให้ผมสามารถพูดคุยและเข้าใจปัญหาของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งในอนาคตผมตั้งเป้าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการนำ Digital Solution ของโรงงานการผลิตไปสู่ลูกค้าของ SCGC
คำถาม: ขอคำแนะนำให้กับคนที่อยากจะทำ Job Rotation มีอะไรบ้าง

สำหรับคนที่อยากทำ Job Rotation หรือการเปลี่ยนหน้างาน-เสริมทักษะ นั้น ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือ Mindset เราต้องคิดว่าเราสามารถเรียนรู้ได้ใหม่เสมอ นั่นคือ มี Growth Mindset เราจะไม่หยุดนิ่งกับที่และต้องมีการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว พอเรามีความคิดแบบนี้แล้ว เราก็ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่างานที่เราอยากไปทำที่ใหม่นั้นจำเป็นต้องใช้ทักษะด้านใดเพิ่ม เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมล่วงหน้าโดยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมก่อนที่จะเริ่มงานจริง แต่การทุ่มเทเรียนรู้นั้นก็ขอให้อยู่ในระดับที่พอดี ไม่กระทบสมดุลของเวลางานและชีวิตส่วนตัวจนมากเกินไป

และสุดท้ายการมีทัศนคติที่เปิดกว้าง มองว่า Job Rotation เป็นโอกาสที่ดีในการเติบโตของเราเอง และรับฟังความคิดเห็นของทีมงานและลูกค้าอย่างไร้อคติ ก็จะทำให้เรามีเครือข่ายความสัมพันธ์ดี ๆ ทั้งในที่ทำงานและองค์กรข้างนอก ทำให้เราทำงานได้ประสบความสำเร็จและมีความสุขนั่นเอง

สนใจร่วมงานกับ SCGC ติดต่อเราได้ที่ Facebook : https://www.facebook.com/scgccareer/ หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่าง เพื่อดูตำแหน่งงานที่น่าสนใจ


Is this article useful ?