close

1 พ.ย. 2566

โครงการชุมชนคนน้ำดี เก็บน้ำดีมีน้ำใช้ ด้วยโมเดล "2 สร้าง 2 เก็บ"

วิกฤตน้ำ เป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราเผชิญแทบทุกปี ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต และระบบนิเวศ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC พาถอดบทเรียนรวบรวมองค์ความรู้จากโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชน ซึ่งได้มุ่งมั่นดำเนินงานร่วมกับชุมชน มาตลอดระยะเวลานานกว่า 10 ปี สรุปเป็นแนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดลจัดการน้ำ ‘2 สร้าง 2 เก็บ’ ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำ ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการจัดการข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อฟื้นแล้งสู่แหล่งน้ำ ป้องกันวิกฤตน้ำท่วม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต และส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนเป็น “ชุมชนคนน้ำดี” อย่างยั่งยืน

วันวานผ่านมากับปัญหาเรื่องน้ำไม่รู้จบ

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2531 เขายายดาถูกภัยคุกคามจากไฟป่าเผาอย่างต่อเนื่อง จากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ทำเกษตร ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ค่อย ๆ หายไปและถูกแทนที่ด้วยพื้นดินที่ถูกเปิดโล่ง ทำให้ความสามารถในการดูดซับน้ำของดินลดลง ก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเมื่อฝนตกหนักฉับพลัน และในภาวะหน้าแล้งก็ขาดน้ำหล่อเลี้ยงในดิน ส่งผลให้เกษตรกรโดยรอบได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากการขาดน้ำเพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน และภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง เนื่องจากภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจหลักของจังหวัด


กว่า 20 ปี ที่ชุมชนรอบเขายายดา ต้องเผชิญหน้ากับภาวะน้ำแล้ง รับมือกันทุกรูปแบบ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2550 ผู้ใหญ่วันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง ในฐานะผู้นำชุมชน ผู้แบกรับความทุกข์ยากทั้งของตนเองและลูกบ้าน ได้ลุกขึ้นท้าทายกับสภาวะน้ำแล้ง ตามแนวคิดการจัดการน้ำชุมชนอย่างเป็นระบบจาก SCGC เพื่ออนาคตที่ดียิ่งกว่าของชาวมาบจันทร์ ผ่านมากว่า 10 ปีที่ได้เรียนผิด เรียนถูก จนเกิดเป็น “องค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนฉบับชุมชน” ภายใต้แนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล “2 สร้าง 2 เก็บ”

‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ

แนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก คือ สร้างคน รวมพลังสร้างกลุ่มแกนนำที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เสียสละ กล้าตัดสินใจ บนพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็น สร้างกติกา ตั้งกติกาการใช้น้ำของชุมชนบนพื้นฐานของการเกื้อกูลและความเข้าใจ เก็บน้ำ เก็บน้ำในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ และแหล่งเก็บน้ำของชุมชน เก็บน้ำไว้ให้มีใช้ในหน้าแล้ง นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เก็บข้อมูล เก็บข้อมูลต้นทุนน้ำ เพื่อนำมาวิเคราะห์ทำนายสถานการณ์น้ำในอนาคตได้อย่างแม่นยำ พร้อมหาแนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความรู้ข้อเท็จจริง แทนการคาดเดาตามความรู้สึก

"
ทีมงานของ SCGC เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเราเหมือนเป็นพี่น้อง สอนลูกบ้านเราให้รู้จักความสำคัญของการเก็บข้อมูลเพื่อบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่การทำผังน้ำ ทำแผนที่ในหมู่บ้านว่ามีลำธารกี่เส้น มีบ่อกี่แห่ง นอกจากนี้ ในทุกเช้าเราต้องจดบันทึกว่าวันนี้อุณหภูมิเท่าไหร่ น้ำระเหยเท่าไหร่ ฝนตกเท่าไหร่ เท่ากับว่าตอนนี้ชุมชนของเราเป็นนักวิจัยกันหมดแล้ว
"

สร้างสมดุลน้ำ หาวิธีเก็บน้ำยั่งยืน

จากการศึกษา เก็บข้อมูล พร้อมลงมือปฏิบัติจริง ชวนให้ชุมชนได้เข้าใจสถานการณ์น้ำของพื้นที่ตนเองผ่านการนำ “สมการสมดุลน้ำ” เข้ามาร่วมตรวจสอบ กล่าวคือ เริ่มจากการเก็บข้อมูล “น้ำต้นทุน” ทั้งน้ำฝน น้ำบ่อ และน้ำท่า หรือน้ำตามลำธารและลำคลองในหมู่บ้าน ตลอดจนข้อมูลการระเหยน้ำ ปริมาณการใช้น้ำของต้นไม้ในธรรมชาติ โดยนำอุปกรณ์ที่ใช้สอยในครัวเรือนมาดัดแปลงเป็นเครื่องมือเก็บวัดแบบง่าย ๆ พร้อมบันทึกข้อมูลแต่ละวัน ในขณะเดียวกันก็สำรวจและบันทึกปริมาณ “น้ำใช้” ของชุมชนโดยรอบ ทั้งในครัวเรือน การเกษตร และปศุสัตว์ และเมื่อได้ทั้ง 2 ชุดข้อมูลมาแล้ว จึงนำมาวิเคราะห์หาสมดุลระหว่างกัน เพื่อดูความเพียงพอของปริมาณ “น้ำคงเหลือ” จึงทำให้รู้ว่าในแต่ละเดือนจะมีน้ำขาดหรือเหลือเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับแนวโน้มระยะเวลาและความรุนแรงของช่วงขาดแคลนน้ำในแต่ละเดือน

เก็บน้ำจากฟ้าลงสู่ดิน

หลังจากรู้สถานการณ์น้ำเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาคือการออกแบบวิธีบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมทั้งช่วงหน้าฝนและหน้าแล้ง โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือการทำความเข้าใจ “หลักการเก็บน้ำอย่างยั่งยืน” ด้วยการหาวิธีการเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุดตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และที่ปรึกษาโครงการฯ  เล่าถึงการเก็บน้ำอย่างเป็นระบบว่า “เราแนะนำการลดปัญหาน้ำหลาก และตุนน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งให้กับชุมชน ตั้งแต่ฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการปลูกป่า 5 ระดับเพื่อชะลอน้ำฝน ให้ดินซึมซับน้ำ และสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บน้ำจากเขา กักความชุ่มชื้น สร้างทำนบชะลอน้ำและขุดลอกคลองเพื่อเก็บน้ำในคลองใช้ได้มากขึ้น รวมทั้งการทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำหน้าดินให้คืนลงสู่ชั้นใต้ดิน ทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างวิธีการเก็บน้ำตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทางอย่างยั่งยืน”

กว่า 10 ปี ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่สัมผัสได้

แม้ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูป่าไม้ และแหล่งน้ำในชุมชนนานนับปีก็ตาม แต่ด้วยความร่วมมือและความตั้งใจของทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นจริง ชุมชนบ้านมาบจันทร์จึงรอดพ้นจากวิกฤตน้ำแล้งมาหลายปีต่อเนื่อง

"
หลังจากการสร้างแผนบริหารจัดการน้ำชุมชน ชุมชนบ้านมาบจันทร์ รวมถึงชุมชนอื่น ๆ รอบเขายายดา และ SCGC ได้เดินหน้าตามแผนงาน ซึ่งในระยะเวลากว่า 10 ปี พบว่า ป่าต้นน้ำเขายายดาให้น้ำท่าในลำธารรวมผลผลิต 14.83 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจากการศึกษาโดยการแปรภาพถ่ายทางอากาศ พบปริมาณป่าเพิ่มมากขึ้น โดยพบพรรณไม้ถึง 120 ชนิดพันธุ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 123 ชนิด อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยตลอดทั้งปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ 38.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่
"

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมชุมชนคนน้ำดี เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC จึงได้  เพื่อดูแลทรัพยากรน้ำให้คงอยู่อย่างยั่งยืน พร้อมจัดตั้ง “แหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ชุมชนรอบเขายายดา” เพื่อส่งต่อองค์ความรู้สู่ชุมชนและเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่น และเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป


Is this article useful ?