รายงานสถานการณ์น้ำของโลกได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดที่รุนแรง หนึ่งในข้อห่วงกังวลที่สำคัญคือจะมีอย่างน้อยหนึ่งคนจาก 5 คน ที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้และขาดแคลนน้ำดื่ม โดยในทศวรรษปีที่ผ่านมา มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากน้ำไม่สะอาด นอกจากนี้ สถาบันจัดการน้ำระหว่างประเทศ (IWMI) ได้ประมาณการว่าในปี ค.ศ. 2025 ประชากรกว่า 4,000 ล้านคน (2 ใน 3 ของประชากรโลก) ใน 48 ประเทศ จะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ
ขณะที่ธนาคารโลกประมาณการว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรครึ่งหนึ่งของโลกจะประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำ หากยังคงมีการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยเช่นในปัจจุบัน และขาดระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชากรทั่วโลกสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง นั่นจึงเป็นที่มาของการการสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (Ensure availability and sustainable management of water and sanitation for all) โดยถือเป็น เป้าหมายที่ 6 จากทั้งหมด 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals: SDGs
SCGC ตระหนักว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อทุกภาคส่วน ซึ่งอาจมีความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นจากการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงอาจมีความเสี่ยงจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลถึงปริมาณและคุณภาพน้ำ และเราได้จัดให้มีการดำเนินการบริหารจัดการน้ำภายในองค์กรผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (Corporate Environment) พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ผ่านการดำเนินโครงการการบริหารจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับเทรนด์ความยั่งยืน 2024 หนึ่งในโครงการที่ให้ผลเชิงประจักษ์คือ โครงการจัดการน้ำเพื่อชุมชม เขายายดา จ.ระยอง
เขายายดา หรือ เขายายดา-เขายอดแหลม-เขาท่าฉุด มีลักษณะเป็นเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือใต้ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 12 องศา 38 ลิปดาเหนือ ถึง 12 องศา 47 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 101 องศา 24 ลิปดาตะวันออก ถึง 101 องศา 27 ลิปดาตะวันออก ทางทิศตะวันออกของอำเภอเมืองและอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ห่างจากตัวเมืองระยองไปตามถนนสุขุมวิทมุ่งหน้าไปจังหวัดจันทบุรี ประมาณ 8 กิโลเมตร ถึงสี่แยกตะพงเลี้ยวซ้ายและเข้าไปอีก 10 กิโลเมตร โดยประมาณ
เขายายดามีพื้นที่ทั้งสิ้น 28,937 ไร่ ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากะเฉด-ป่าเพ-ป่าแกลง เขายายดามีความกว้างในแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก 3 ถึง 4 กิโลเมตร และมีความยาวในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ประมาณ 11 กิโลเมตร พื้นที่บริเวณยอดเขา ไหล่เขา และเชิงเขามีความลาดชัน 87, 65 และ 54 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารตามมติคณะรัฐมนตรี (พื้นที่ที่ควรสงวนรักษาให้เป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์) จำนวน 15,126 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 52.27 ของพื้นที่ทั้งหมด
จากการศึกษา องค์ประกอบของระบบนิเวศเขายายดา (โครงสร้างระบบนิเวศ) ของสถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก สังกัดส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขายายดา(เขายอดแหลม) พบว่า นอกเหนือไปจากข้อมูลลักษณะภูมิประเทศ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดินที่เขายายดามีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย (Quartzipsamments) ความสมบูรณ์ต่ำ มีชั้นดินที่ไม่ลึกนัก และง่ายต่อการกัดชะพังทลาย (Erosive soil)
ระบบนิเวศ หมายถึง พื้นที่แห่งหนึ่ง ที่มีการอยู่ร่วมกันระหว่าง (1) สิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง และ (2) สิ่งมีชีวิต กับ สิ่งไม่มีชีวิต ที่อยู่โดยรอบสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ระบบนิเวศ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ (ก) โครงสร้าง (Structure) คือ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบตัวกันขึ้นเป็นรูปร่างหน้าตาของระบบนิเวศ (ข) การทำงานตามหน้าที่ (Function) คือ ปฏิกิริยาโต้ตอบซึ่งกันและกันของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระบวนการย่อยต่าง ๆ ที่อยู่ภายในระบบการหมุนเวียนของน้ำ กับ พลังงาน และระบบการหมุนเวียนของน้ำ ธาตุอาหาร และพลังงานที่ซ้อนทับกันอยู่ (ค) นิเวศบริการ (Services) เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการทำงานตามหน้าที่แต่ละด้าน ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ อาทิ นิเวศบริการด้านการให้ผลผลิตน้ำท่าที่ไหลในลำธาร การทำงานตามหน้าที่ของระบบนิเวศต้นน้ำ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่าง ดิน น้ำ และป่าไม้
อากาศที่เขายายดาโดยทั่วไปร้อนและชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 28.5 องศาเซลเซียส ปกติฝนจะตกตลอดทั้งปีด้วยปริมาณ 1,803.5 มิลลิเมตร (ค่าเฉลี่ย พ.ศ.2523-2566) ทำให้พื้นที่เกือบทั้งหมดถูกปกคลุมไปด้วยป่าดิบแล้ง (Dry-evergreen forest) จากการศึกษาการทำงานตามหน้าที่ และนิเวศบริการ ด้านการควบคุมการดูดซับน้ำฝน และระบายน้ำท่าให้กับลำธาร หรือการให้ผลผลิตน้ำ (Water yield) ของป่าดิบแล้งที่เขายายดา พบว่า ฝนที่ตกลงมาตลอดทั้งปีที่เขายายดา จะถูกต้นไม้ใช้ไป 57% ที่เหลือระบายไปสู่พื้นที่ตอนล่างในรูปของ น้ำท่าที่ไหลในลำธาร 18% และน้ำใต้ดิน 25% ตามลำดับ

ปี พ.ศ.2492 เขายายดา ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของสัมปทานทำไม้ภาคตะวันออก โดยบริษัท ศรีมหาราชา จำกัด ด้วยการคัดเลือกตัด (Selection cutting system) ไม้แก่ กับ ไม้ที่อ่อนแอออก แล้วปล่อยให้ไม้หนุ่มที่อยู่ข้างเคียงเจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่ โดยใช้รอบหมุนเวียน 30 ปี แต่เส้นทางที่ใช้ชักลากไม้ซุงออกจากป่ามาแปรรูป กลับเป็นเส้นทางที่ชักนำประชาชนให้เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินทำการเกษตร เช่น ทำไร่มันสำปะหลัง ทำสวนผลไม้ และสวนยางพารา โดยใช้การจุดไฟเผาป่าเป็นเครื่องมือ ปัจจุบันมี 10 หมู่บ้านที่กระจายตัวอยู่โดยรอบเขายายดา
เมื่อโครงสร้างของระบบนิเวศเขายายดาในส่วนของพืชคลุมดินเปลี่ยนแปลงไป การทำงานตามหน้าที่ในการให้บริการจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากการศึกษาของสถานีวิจัยต้นน้ำ ฯ พบว่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่ทำการเกษตรชนิดต่าง ๆ บริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขารอบเขายายดา ทำให้ความสามารถในการดูดซับน้ำฝน ของผิวดิน และระบายน้ำฝนของชั้นดินลึก 0 -50 ซม.จากผิวดิน ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 68.67 และ 10.99 ของป่าธรรมชาติ

เมื่อดินไม่ดูดซับน้ำฝน น้ำฝนที่ตกตามลงมาภายหลัง ส่วนใหญ่จึงแปรสภาพไปเป็นน้ำผิวดิน และไหลลงสู่ลำธาร และ/หรือ พื้นที่ตอนล่างอย่างรวดเร็วตามความลาดชันของพื้นที่ ปริมาณน้ำ(m) และความเร็วในการไหล(v) ของน้ำไหลบ่าหน้าผิวดินนี้ ก่อให้เกิดเป็นพลังงานจลน์ (KE) มากพอที่ก่อให้เกิดการกัดชะเอาผิวหน้าดินออกไปจากพื้นที่ (KE = (1/2)*m*v2) เกิดเป็นการสูญเสียน้ำ และดิน หรือ soil erosion ขึ้น เช่นเดียวกับการจุดไฟเผาป่า บริเวณภูเขาสูงชัน จากการศึกษาของส่วนวิจัยต้นน้ำ พบว่า การจุดไฟเผาป่าไม้ชนิดต่าง ๆ ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำจากการไม่ดูดซับน้ำฝนของพื้นที่ และการสูญเสียดินจากกระบวนการกัดชะพังทลายของดินที่เกิดขึ้นจากการไหลบ่าของน้ำผิวดินออกไปจากพื้นที่ ดังรายละเอียดในตารางด้านล่าง
เมื่อน้ำผิวดินจากส่วนต่าง ๆ ของพื้นที่ต้นน้ำไหลลงมารวมกันในลำธาร จะก่อให้เกิดเป็นน้ำบ่าไหลหลากในขณะที่ฝนตก และ/หรือ ในช่วงฤดูฝน ในทำนองเดียวกัน เมื่อไม่มีน้ำฝนซึมลงไปในดิน ก็จะไม่มีน้ำฝนสะสมในชั้นดินที่จะเอื้ออำนวยให้กับพื้นที่ตอนล่าง และ/หรือ ลำธารเมื่อฝนหยุดตก และ/หรือ ในช่วงฤดูแล้ง จึงก่อให้เกิดเป็นปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ขึ้นมา
สำหรับที่เขายายดา จังหวัดระยอง จากการศึกษาของสถานีวิจัยต้นน้ำ ฯ พบว่าในรอบ 28 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2555 น้ำท่าที่ไหลในลำธารของเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปลาบางชนิดว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่(ข้อมูลจากการศึกษาของกรมประมง) จะมีเพียง 2 ปีและ 7 ปีเท่านั้น ที่สำคัญก็คือ ปริมาณน้ำท่าและการไหลต่อเนื่องจะมีไม่มากพอที่จะทำให้ปลาเหล่านั้นว่ายทวนน้ำขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า ช่วงเวลาก่อนการสร้างฝายชะลอน้ำ ที่เขายายดาแห่งนี้ จะไม่มีปลา (ปลาปีกแดง ปลาตะพาก และปลาพลวง) ว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ เหมือนกับพื้นที่ต้นน้ำอื่น ๆ
ปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝนกับการไม่มีน้ำใช้ช่วงฤดูแล้ง ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนรอบเขายายดาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกไม้ผล ต้องใช้รถบรรทุกน้ำมาใส่บ่อ เพื่อสำรองน้ำให้กับไม้ผลชนิดต่าง ๆ ในช่วงฤดูแล้ง จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2547 ชุมชนรอบเขายายดา เห็นข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับการสนับสนุนให้ชุมชนที่อยู่ข้างเคียงบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ แล้วได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นน้ำท่าในลำธารที่ไหลยาวนานขึ้น จึงทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทดังกล่าวที่กรุงเทพเพื่อขอรับการสนับสนุน
ในปี พ.ศ. 2550 SCGC ได้เข้ามาสนับสนุนชุมชนรอบเขายายดาในด้านต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศเขายายดาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน โดยมีกิจกรรมหลัก ที่ประกอบไปด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ และการปลูกเสริมป่าด้วยพืชสมุนไพร เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนรอบเขายายดา (บ้านมาบจันทร์) กับ การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นระบบนิเวศเขายายดาให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาของ โรงเรียนวัดยายดา โรงเรียนวัดตะพงนอก และโรงเรียนบ้านตะเกราทอง
_____________________________________________________
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
- กิตติพงษ์ พงษ์บุญ ประดิษฐ์ ศรีพัฒนาสุวรรณ สมชาย อ่อนอาษา สำเริง ปานอุทัย บุญมา ดีแสง และจำเนียร เผื่อนดา. ผลกระทบของไฟป่าต่อการสูญเสียดินและน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ. ส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. 9 หน้า.
- นิรนาม. ไปดูปลากองที่เมื่อน่าน. กรมประมง 10 หน้า.
- นิรนาม. ฝูงปลาปีกแดง ว่ายทวนน้ำวางไข่นับหมื่นตัว. Thai PBS. https://www.thaipbs.or.th/news/content/250631