close

9 พ.ค. 2566

วิกฤตภัยแล้ง-ฟื้นความอุดมสมบูรณ์-สร้างชุมชนสู่ความยั่งยืน “ชุมชนคนน้ำดี และ โมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ” จาก SCGC

Sustainability CSR

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน พื้นที่ชุมชนรอบเขายายดาในจังหวัดระยอง ต้องประสบปัญหาภัยแล้งยืดเยื้อ ผืนป่าขาดความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพเข้าขั้นวิกฤต และคนในชุมชนต่างได้รับความเดือดร้อน แต่ในวันนี้พวกเขาพลิกฟื้นความแห้งแล้งให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มี “ทรัพยากรน้ำ” อันอุดมสมบูรณ์ เป็นตัวชูโรง และกลายเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

แล้วพวกเขาทำได้อย่างไร ? ในบทความนี้ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC จะพาทุกคนไปเจาะลึกเรื่องราวที่น่าสนใจของการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรน้ำในชุมรอบเขายายดา และในโอกาสเดียวกันนี้เอง SCGC ก็ขอเน้นย้ำความสำคัญของ “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” ที่ตรงกับวันที่ 22 มีนาคมของทุกปี

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บทความแนะนำ:

  ✓ อัปเดต ! ผลการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2565

  ✓ Invest in Our Planet พลิกธุรกิจ ลงทุนเพื่อเปลี่ยนโลก

  ✓ โลกคู่ขนานระหว่าง “กระดาษ” และ “พลาสติก”

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วังวนฝันร้าย 20 ปี “ดินแห้ง-น้ำแล้ง”

ชุมชนบ้านมาบจันทร์ หนึ่งในชุมชนรอบเขายายดา ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณอำเภอเมือง และอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งกินพื้นที่กว่า 28,937 ไร่ และเป็นพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านราว 10 หมู่บ้าน ปัจจุบันชุมชนบ้านมาบจันทร์แห่งนี้ถือเป็นชุมชนที่ได้ถือครองพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และความเขียวขจีจากต้นไม้ที่ปกคลุมไปสุดสายตา สอดประสานไปกับแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ในทุกพื้นที่ และดูเหมือนกับว่าความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาตินี้ไม่เคยขาดหายไปจากพื้นที่นี้เลย

แต่หากย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2531 ชุมชนบ้านมาบจันทร์แห่งนี้ที่มีชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนผลไม้และยางพารา ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อม และเศรษฐสังคมอย่างต่อเนื่อง กินระยะเวลากว่า 20 ปี นอกจากนี้การรุกพื้นที่ป่าเพื่อแห่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ทำให้ดินในพื้นที่ป่าไม่สามารถดูดซับน้ำ ประกอบกับลักษณะภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นพื้นที่ติดทะเล  และเป็นดินทรายที่มีลักษณะการกักเก็บน้ำต่ำ ทำให้เมื่อถึงหน้าฝน น้ำฝนที่ตกลงมากลายเป็นน้ำผิวดินที่ไหลลงสู่ลำธารและไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงหน้าแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำกักเก็บเพื่อทำการเกษตร และลุกลามไปถึงการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน

“ปัญหาการขาดแคลนน้ำส่งผลกับวิถีชีวิตการเกษตรของชุมชนรอบเขายายดา ซึ่งเป็นแหล่งพื้นที่ปลูกผลไม้ขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ สับปะรด ลองกอง เมื่อไม่มีน้ำเพื่อลดผลผลิต ชาวบ้านต่างขาดรายได้หลักที่นำมาหล่อเลี้ยงชีวิต ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย”

ภาพจำของวันอันทุกข์ยากถูกเล่าซ้ำอีกครั้งผ่าน วันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง ว่า “เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่นี่ไม่ได้อุดมสมบูรณ์แบบนี้เลย ที่นี่เป็นเขาหัวโล้น เพราะเกิดจากการบุกรุกที่ป่า และเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ สัตว์ป่าก็หนีกันไปหมด ทำให้ที่นี่เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเป็นเวลาหลายปี พอฝนตกก็ไม่มีต้นไม้คอยดูดซับ ทำให้หน้าดินพังทลาย กักเก็บน้ำไม่ได้ เพาะปลูกไม่ได้ และต้องซื้อน้ำจากที่อื่นมาใช้ เราเคยรวมตัวกันปลูกป่า แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเราไม่มีความรู้ในการปลูกป่าให้สมบูรณ์” 

ภายหลังได้รับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการสร้างฝายชะลอน้ำที่ประสบความสำเร็จของ SCG ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ผู้ใหญ่วันดี จึงได้ตัดสินใจติดต่อมาที่ SCGC เพื่อขอคำปรึกษาในการพลิกฟื้นชุมชนบ้านมาบจันทร์แห่งนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2550

เก็บน้ำดี มีน้ำใช้” การร่วมมือสู่ความสำเร็จ

เมื่อ SCGC ได้รับฟังปัญหาของชาวบ้านในชุมชนบ้านมาบจันทร์ จึงตอบรับเป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงในการพลิกฟื้นชุมชนรอบเขายายดา และได้เข้ามาทำงานร่วมกันกับชาวบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกว.) เข้ามาร่วมนำงานวิจัยท้องถิ่นประยุกต์ต่อยอดกับความรู้ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม พร้อมนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งหมดกว่า 10 ปี ร่วมถ่ายทอดถอดบทเรียนสู่องค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำด้วยตนเองอย่างยั่งยืนฉบับชุมชน และเกิดเป็นแนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บขึ้น เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง สร้างระบบการจัดการน้ำในชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญ 4 ข้อดังนี้

    • สร้างคน: SCGC ได้เริ่มการ ‘สร้างคน’ โดยการรวบรวมอาสาสมัครในหมู่บ้านมาบจันทร์ ซึ่งมีแกนนำหลักคือ ผู้ใหญ่วันดี และ ดร. พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ โดยเป็นการสร้างคนในชุมชนให้เป็นนักวิจัยท้องถิ่น เตรียมเก็บรวบรวมแหล่งน้ำในหมู่บ้าน โดย SCGC จะเป็นที่ปรึกษาและแนะนำให้อาสาสมัครเหล่านี้เป็นผู้กระจายความรู้ในการจัดการน้ำที่ถูกต้องสู่คนในชุมชน เพื่อสร้างจิตวิญญาณรักษ์ป่ารักษ์น้ำให้กับชุมชน
    • สร้างกติกา: เพื่อรักษาแหล่งน้ำเพื่อใช้ร่วมกันอย่างยั่งยืน เมื่อถึงหน้าแล้ง ชาวบ้านในชุมชนรอบเขายายดาจะสร้างกฎการใช้น้ำในหน้าแล้งเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างพอเพียง โดยการสร้างกติกานี้และมาจาการเก็บรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำของชาวบ้านตลอดทั้งปี
    • เก็บข้อมูล: ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้สร้างแนวคิด “นักวิจัยท้องถิ่น” ที่สามารถเก็บข้อมูล บันทึกสถิติอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวกับน้ำได้อย่างเป็นระบบ และจัดทำผังน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำได้ โดยการจัดเก็บข้อมูลค่าความชื้น ปริมาณน้ำฝนโดยการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน และมีการเก็บข้อมูลน้ำบ่อโดยการใช้ลูกดิ่งวัดความลึก และใช้ลูกปิงปองเพื่อวัดกระแสในน้ำท่า ร่วมกับการคำนวณแบบพื้นฐานเพื่อคำนวณออกมาเป็นปริมาณน้ำที่มีในชุมชน เพื่อกำหนดการใช้กติกาน้ำ
    • เก็บน้ำ: SCGC และคนในชุมชนบ้านมาบจันทร์เห็นตรงกันว่า สำหรับพื้นที่ในชุมชนรอบเขายายดาจำเป็นต้องหาทางเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุด ด้วยการเพิ่มการดูดซับน้ำฝน ลดน้ำผิวดิน ชะลอการไหลของน้ำ โดยเริ่มจากการฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการปลูกป่า 5 ระดับ และสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อชะลอน้ำฝนให้ดินซึมซับน้ำ และเก็บน้ำจากเขา การสร้างทำนบชะลอน้ำสำหรับพื้นที่การเกษตรที่ติดลำคลองตอนล่าง

กลยุทธ์ ‘เก็บน้ำ’ อย่างยั่งยืน

“ต้องหาทางเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุด ด้วยการเพิ่มการดูดซับน้ำฝน ลดน้ำผิวดิน ชะลอการไหลของน้ำท่า เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำให้ได้มากที่สุด” ข้อความด้านบนคือสิ่งที่ทั้งชุมชนรอบเขายายดาและ SCGC ได้ร่วมกันช่วยถอดรหัสหลักการการเก็บน้ำในพื้นที่ นอกจากนี้ ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ยังกล่าวถึงวิธีการเก็บน้ำในชุมชนเขายายดาว่า “เราแนะนำการลดปัญหาน้ำหลาก และตุนน้ำใช้หน้าแล้งให้กับชุมชน ตั้งแต่ฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการปลูกป่า 5 ระดับเพื่อชะลอน้ำฝน ให้ดินซึมซับน้ำ และสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บน้ำจากเขา กักความชุ่มชื้น ทำทำนบชะลอน้ำและขุดลอกคลองเพื่อเก็บน้ำในคลองใช้ได้มากขึ้น และทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำฝนคืนลงสู่ดิน”

โดยการปลูกป่า 5 ระดับ คือการคัดเลือกพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าของท้องถิ่นซึ่งมีขั้นเรือนยอดที่ต่างกัน 5 ระดับ ได้แก่ ระดับใต้ดิน เช่น มัน เผือก ระดับเรี่ยดิน เช่น ฟักทอง แตงโม ระดับเตี้ย เช่น พริก มะเขือ ระดับกลาง เช่น มะม่วง มะพร้าว และระดับสูง เช่น สัก ยางนา มาปลูกเสริมกับแนวป่าเดิม โดยเรือนยอดที่มีหลากหลายระดับเหล่านี้จะช่วยลดแรงตกกระทบผิวดินของเม็ดฝน ยืดระยะเวลาในการตกของเม็ดฝน เพิ่มการดูดซับน้ำฝนของผิวดินได้อย่างเต็มที่ 

ด้านการสร้างฝายชะลอน้ำในผืนป่า ฝายของชุมชนเขายายดาจะสร้างขึ้นโดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน กิ่งไม้ ไม้ไผ่ เพื่อชะลอการไหลของน้ำในลำธารให้ช้าลงในตอนที่มีน้ำมากในฤดูฝน ป้องกันการเกิดน้ำหลากในพื้นที่ของบ้าน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยผืนป่ากักเก็บน้ำเพื่อใช้ในยามหน้าแล้ง ผลของการสร้างฝายในบริเวณเขายายดา พบหลักฐานในเชิงประจักษ์ว่า ฝายทำให้เขายายดามีปริมาณน้ำคงอยู่ตลอดทั้งปี และตามงานวิจัยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยวิธีการใช้แบบจำลองร่วมกับภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า

“ฝายช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำได้ น้ำสะสมในชั้นดินเพิ่มขึ้น ลดความขุ่นของตะกอนในน้ำท่า และต้นไม้ในป่าเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 14.08

ในส่วนของธนาคารน้ำใต้ดิน คือการขุดหลุมเพื่อกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในระดับผิวดินช่วงฤดูฝนไว้ในใต้ดิน เป็นการเติมระบบน้ำใต้ผืนดินตามพื้นที่บ้านเรือนหรือสวนของชุมชน  ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นต่อหน้าดิน ประหยัดน้ำในการรดน้ำต้นไม้บริเวณใกล้เคียง ลดน้ำท่วมขังได้ในช่วงหน้าฝน สามารถกักน้ำส่วนเกินดังกล่าวให้มาเป็นความชุ่มชื้นในหน้าแล้งได้อีกด้วย

ความร่วมมือ 10 ปี ฟื้นวิกฤตสู่ความยั่งยืน

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ SCGC และชุมชนชาวมาบจันทร์ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการจัดการน้ำเพื่อชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะ “ทรัพยากรน้ำ” ที่เป็นต้นธารของความอุดมสมบูรณ์ต่าง ๆ มีน้ำในลำธารให้ผลผลิตถึง 14.83 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรโดยรอบเขายายดา คิดเป็นผลผลิตรวมทั้งสิ้น 79,382,695 กิโลกรัม/ปี ทำให้ระบบนิเวศกลับคืนสู่ป่า เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต พบสัตว์ป่า 123 ชนิด และพรรณไม้มากกว่า 120 ชนิดพันธุ์ และยังช่วยลดโลกร้อน อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยตลอดปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 38.49 ตัน CO2/ไร่ และดูดซับ 5.41 CO2/ไร่/ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2565)

นอกเหนือจากความอุดสมบูรณ์ของธรรมชาติที่หวนกลับมาสู่ชุมชนบ้านมาบจันทร์อีกครั้ง ความร่วมมือระหว่าง SCGC และชุมชนยังต่อยอดไปสู่โครงการวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว ที่มีมูลค่าการท่องเที่ยว 538.54 บาท/ไร่ พร้อมรับนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ชอปปิงผลิตภัณฑ์ชุมชน และร่วมทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่าง ๆ เพื่อส่งต่อแนวคิดการบริหารจัดการน้ำท้องถิ่นอย่างยั่งยืนกับผู้มาเยือน

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะทำให้ชุมชนเขายายดาเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย “หลังจาก SCGC ได้เข้ามาจัดทำโครงการต่าง ๆ ทำให้ในช่วงหลัง เราไม่ขาดแคลนน้ำ เรามีน้ำใช้ในการทำการเกษตรทั้งปี สร้างผลผลิตและเศรษฐกิจที่ดีอย่างมาก ทำให้ทั้งตัวเราและชุมชนอยู่ได้” จรูญ สุทัดสันต์ เจ้าของสวนทุเรียนในชุมชนรอบเขายายดากล่าว

ผู้ใหญ่วันดียังกล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ “ชุมชนคนน้ำดี : เก็บน้ำดี มีน้ำใช้ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ” ของชุมชนรอบเขายายดาว่า “พอเริ่มสร้างฝายตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2553 พวกเราก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงบนเขายายดา จนทำให้วันนี้ป่าเขายายดากลับมาคืนความอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกพืชผักหลากหลายได้ตลอดปี และทางเอสซีจี เคมิคอลส์ ก็ช่วยแนะนำให้เรานำผลผลิตไปแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ได้มากมาย และรวมถึงต่อยอดบ้านมาบจันทร์ของเราให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทำรายได้เข้ามาในชุมชนได้อีกมากมาย ต้องขอขอบคุณ SCGC และทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นทั้งเพื่อนและพี่เลี้ยงช่วยดูแลพวกเราอย่างใกล้ชิดค่ะ”

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถติดต่อจองทริปท่องเที่ยวชุมชนบ้านมาบจันทร์ได้ที่เพจ Facebook ชุมชนท่องเที่ยวบ้านมาบจันทร์ https://www.facebook.com/mapjunlocaltourism/ หรือติดต่อที่ผู้ใหญ่วันดี อินทร์พรม 089-284-1204 และ รับชมวิดิโอโครงการได้ที่ด้านล่างนี้ 

โครงการ “ชุมชนคนน้ำดี : เก็บน้ำดี มีน้ำใช้ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ” จาก SCGC ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนรอบ ๆ โรงงานของบริษัท และการสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนเพื่อเติบโตร่วมกันกับเราได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังตอกย้ำการให้ความสำคัญของ SCGC ต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในเป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ (SDG 1: End poverty in all its forms everywhere เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและการสุขาภิบาลที่ยั่งยืน (SDG 6: Clean water and sanitation) เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน (SDG 11: Make cities and human settlements inclusive, safe, resilient and sustainable) และ เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น (SDG 13: Take urgent action to combat climate change and its impacts)


Is this article useful ?