close

17 เม.ย. 2567

Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM ความเข้มข้นของยุทธศาสตร์รับมือ Climate Change

Business ESG Sustainability

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change วาระสำคัญระดับโลกที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของผู้คนให้หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เพียงปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน แต่จริงจังถึงขนาดต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน และกำหนดมาตรการระดับประเทศ เพื่อเร่งรัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้เกิดขึ้นอย่างเร็ววัน


นานาประเทศกับมาตรการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เหล่าประเทศมหาอำนาจต่างแสดงความเป็นผู้นำของโลกด้วยการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ยกตัวอย่าง ประเทศจีนที่เริ่มมีการจัดตั้งตลาดซื้อขายโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรม สิงคโปร์ที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการเงินสีเขียว หรือ Green Finance ของเอเชีย และสหรัฐอเมริกาที่มีการออกมาตรการด้านความยั่งยืนต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการทางภาษีที่เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด มีการพิจารณากฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ที่ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในสินค้าทั้งที่ผลิตในประเทศและสินค้านำเข้า หากเป็นสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนเกินกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม


ส่วนในภูมิภาคยุโรป EU จัดได้ว่ามีนโยบายด้าน Climate Change ที่เป็นรูปธรรมอย่างมาก เพราะหลังจากตั้งเป้าสู่  Net Zero Emission ภายในปี 2050 แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ยังได้กำหนดแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยในปี 2030 สหภาพยุโรปจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้อย่างน้อย 55% เทียบกับปี 1990 และหนึ่งในมาตรการที่สหภาพยุโรปใช้เพื่อจัดการปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็คือ การเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) มาตรการที่สร้างแรงสั่นสะเทือนใหักับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก


การเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน คืออะไร

การเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ในยุโรปได้เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2023 และจะค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ก่อนอื่นลองมาดูกันว่า CBAM คืออะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร


Carbon Trust ผู้ให้บริการโซลูชันด้าน Climate Crisis สำหรับธุรกิจ ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า CBAM คือ ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนฉบับแรกของโลกที่ออกโดยสหภาพยุโรป มาตรการนี้มุ่งแก้ปัญหา ‘carbon leakage’ หรือการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจกจากนอกชายฝั่งยุโรป เนื่องจากมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างเข้มข้นในภูมิภาค อาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศที่มีมาตรฐานการควบคุมการปล่อยมลพิษที่ต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้ลดลงจริง เพียงแค่ย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเท่านั้น การเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนจึงเสมือนเป็นยาแรงที่ยุโรปเลือกใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission 


กลไกภาษีคาร์บอนของสหภาพยุโรป

เมื่อลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า การเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปในช่วง 3 ปีแรกจะเน้นไปที่ธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง ได้แก่ ปูนซิเมนต์ ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ไฮโดรเจน และไฟฟ้า ก่อนจะขยายไปยังธุรกิจอื่น ๆ ต่อไป กระทั่งวันที่ 1 มกราคม 2026 จึงจะมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะคำนวณราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 2 ลักษณะคือ 1) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Direct Emission) คือการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิต ทั้งจากเครื่องจักร และยานยนต์ 2) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Indirect Emission) เช่น ปริมาณการใช้ไฟฟ้า 


ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2023 หลายสำนักต่างพาดหัวข่าวว่า ยุโรปเริ่มบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนแล้ว ซึ่งหลายคนอาจเข้าว่าเป็นการเริ่มเก็บค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งที่จริงไม่ใช่


การบังคับใช้ CBAM จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะที่สำคัญคือ ระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2023 – 31 ธันวาคม 2025 จัดเป็นช่วงเริ่มต้นที่กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า หรือที่เรียกว่า Embedded Emission ก่อนจะเข้าสู่ระยะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบนับจาก 1 มกราคม 2026 เป็นต้นไป ระยะนี้ผู้นำเข้านอกจากจะต้องรายงาน Embedded Emission แล้ว ยังต้องแสดงหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน หรือ CBAM Certificate ด้วย โดยราคาค่าธรรมเนียมจะอ้างอิงจากราคาเฉลี่ยรายสัปดาห์ของการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของสหภาพยุโรป (Weekly average auction price of EU ETS allowances) 


แรงกระเพื่อมจากสหภาพยุโรป ถึงนานาประเทศ กับผลกระทบ CBAM

Bloomberg ผู้ให้บริการข่าวและซอฟต์แวร์ด้านข้อมูลการเงิน มีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบในระดับโลก โดยระบุว่า CBAM จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เพราะธุรกิจที่นำเข้าสินค้าในสหภาพยุโรปต้องอาศัยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากคู่ค้าในประเทศต่าง ๆ ทำให้ต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของข้อมูล เพิ่มภาระในการบริหารจัดการ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งบริษัทในห่วงโซ่ธุรกิจต่างต้องปรับตัวให้สอดรับกับมาตรการนี้ 


เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจ Bloomberg แนะนำให้ธุรกิจที่มีห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศเร่งเตรียมความพร้อมต่อมาตรการ CBAM โดยเริ่มจากการเตรียมรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะแรก เพราะนอกจากจะป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการค้าแล้ว บริษัทยังได้ใช้โอกาสนี้ทบทวนกิจกรรมทางการค้าของตนเอง ก่อนที่มาตรการบังคับใช้ CBAM จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2026 


แม้ว่าการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปจะเป็นเพียงก้าวแรกของมาตรการทั้งหมด แต่ก็นับว่าเป็นก้าวสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ นำหลักการไปปรับใช้ เพื่อสร้างมาตรฐานในการนำเข้าสินค้าให้มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ตุรกี ออสเตรเลีย หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา


สำหรับประเทศไทย ในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาทิ การทำให้ราคานำเข้าสินค้าไทยไป EU แพงขึ้น ส่งผลให้ส่งสินค้าไป EU ได้น้อยลง และผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าของไทย โดยเฉพาะต้นทุนในการดำเนินการขอรับการรับรอง และต้นทุนในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับมาตรฐานโลก


วิจัยกรุงศรีได้วิเคราะห์ ผลกระทบของ CBAM ต่อประเทศไทย ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในเบื้องต้นประเทศไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากประเทศไทยส่งออกสินค้าเป้าหมายของ CBAM ในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่น ทว่า หากมาตรการเก็บภาษีข้ามพรมแดนมีการเพิ่มรายการสินค้าเป้าหมาย และเริ่มบังคับใช้ในหลายประเทศ ผู้ส่งออกไทยก็จะได้รับผลกระทบในที่สุด 


ธุรกิจเคมีภัณฑ์ท่ามกลางวิกฤต Climate Change

จะเกิดอะไรขึ้นหากสหภาพยุโรปขยายขอบเขตสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีคาร์บอนไปยังธุรกิจพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังยุโรปในสัดส่วนที่สูงกว่าสินค้าอื่น ๆ ในกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะพอลิเอทิลีนที่ผลิตเป็นพลาสติก HDPE และพอลิเอทิลีนที่มีความหนาแน่นต่ำ สำหรับพลาสติกประเภท LDPE 


อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ถือเป็นรากฐานสำคัญของหลายธุรกิจ เพราะเคมีภัณฑ์หรือพลาสติกถูกนำไปใช้อย่างหลากหลาย อาทิ บรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโครงสร้างพื้นฐานอย่างท่อประปา ท่อสายไฟ สายเคเบิล เคมีภัณฑ์สามารถแปรรูปได้อย่างไร้ข้อจำกัด สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปได้จริง



ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามเสนอให้อุตสาหกรรมพลาสติกจัดอยู่ในสินค้าเป้าหมายที่ต้องจ่ายภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน แม้ข้อเสนอนั้นยังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภายุโรป แต่ในระยะต่อไป ยังไม่มีใครรับประกันได้ว่าสินค้าจำพวกเคมีภัณฑ์เหล่านี้จะได้รับการยกเว้นจากมาตรการ CBAM ภาคธุรกิจจึงต้องเร่งรับมือจากความเสี่ยงที่เกิดจากการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน และความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนอีกด้วย

SCGC บนวิถี Low Carbon

การจะสร้างธุรกิจเคมีภัณฑ์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลกำไรทางธุรกิจ แต่ยังต้องตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่ง SCGC ในฐานะผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน เล็งเห็นทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคต จึงเร่งพัฒนานวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และนำเอาคาร์บอนในกระบวนการผลิตกลับมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก


ที่ผ่านมา SCGC เร่งศึกษาค้นคว้านวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ความร่วมมือกับไอเอชไอ (IHI) ผู้ผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าและก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ศึกษาและสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อทดสอบเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Dioxide Capture and Utilization (CCU) และยังมีความร่วมมือกับบริษัท Avantium N.V. ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านเคมีทดแทน (renewable chemistry) จากประเทศเนเธอร์แลนด์  เดินหน้าทดสอบนำก๊าซคาร์บอนมาเป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตพอลิเมอร์ PLGA หรือพอลิเมอร์ที่คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นลบ (carbon-negative plastic) นำคาร์บอนในกระบวนการผลิตมาใช้ และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตเพิ่ม พร้อมเร่งพัฒนาโรงงานนำร่องด้วยกำลังการผลิตกว่า 10 ตันต่อปี

นอกจากนี้ยังพัฒนาพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท Braskem (บราสเคม) ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากประเทศบราซิล เพื่อผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตรแทนเอทิลีนจากฟอสซิล และที่ขาดไม่ได้ คือการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกแบรนด์ SCGC GREEN POLYMERTM ที่ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ การรีไซเคิลพลาสติกกลับมาหมุนเวียนใช้อีกครั้ง การสร้างสรรค์พลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพลาสติกจากทรัพยากรหมุนเวียน

ส่วนการเจาะตลาดยุโรปที่มีมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น SCGC ก็เล็งเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก จึงก้าวนำไปอีกขั้นด้วยการเข้าไปลงทุนในบริษัทซีพลาสต์ (Sirplaste) ประเทศโปรตุเกส ขยายกำลังการผลิตพลาสติกรีไซเคิลป้อนตลาดยุโรป ด้วยกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงรวม 45,000 ตันต่อปี และยังลงทุนในกลุ่มบริษัท KRAS ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีกิจการครอบคลุมการรีไซเคิลพลาสติกตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อสร้างแต้มต่อในการรุกตลาดพลาสติกรีไซเคิลในยุโรปที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจของ SCGC


Is this article useful ?