ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของสถานการณ์โลก ส่งผลให้ธุรกิจได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งธุรกิจปิโตรเคมีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับผลกระทบจากประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมัน รวมไปถึงปริมาณความต้องการของตลาดที่ชะลอตัว (demand) ในขณะที่ปริมาณสินค้าในตลาด (supply) กลับมีค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้เล่นรายใหญ่ผันตัวจากการเป็นประเทศนำเข้า สู่การผลิตสินค้าปิโตรเคมีอย่างพลาสติกเพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ แม้ว่าพลาสติกจะเป็นวัสดุที่จำเป็นต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ตาม แต่ในสถานการณ์ที่ตลาดโลกชะลอตัวเช่นนี้ การปรับตัวให้เร็วและหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาพลิกเกมจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต่างติดตามอย่างใกล้ชิด
เมื่อมองย้อนกลับไปบนเส้นทางการผลิตปิโตรเคมี “แนฟทา (Naphtha)” วัตถุดิบที่ได้จากน้ำมัน ถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตพอลิเมอร์หรือเม็ดพลาสติก ซึ่งแน่นอนว่าในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบมีความผันผวนรุนแรงต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น SCGC จึงมองหาวัตถุดิบอื่นๆ เพิ่มเติมที่ยังคงทำให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพดีเช่นเดิมในราคาที่มีเสถียรภาพ จนในที่สุดก็มาสู่ Game Changer ครั้งสำคัญ นั่นคือ การนำ “ก๊าซอีเทน” (Ethane) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในก๊าซธรรมชาติ มาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับโรงงาน LSP เวียดนาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ กว่า 30% เมื่อเทียบกับแนฟทาในปัจจุบัน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วย
ก่อนหน้านี้ SCGC ได้มีการศึกษาเรื่องการใช้วัตถุดิบอีเทนในการผลิตพอลิเมอร์มาโดยตลอด แต่ในช่วงเวลานั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องการส่งออกก๊าซและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เข้ามารองรับการใช้งาน แต่เมื่อเกิดการปลดล็อกในเรื่องนี้ SCGC จึงไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสนี้มาใช้สำหรับการต่อยอดธุรกิจให้เกิดความแข็งแกร่ง โดย SCGC ถือเป็น fast follower ที่นำเอาก๊าซอีเทนมาใช้ในกระบวนการผลิต ต่อจากบริษัทกลุ่มบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำระดับโลกที่พิสูจน์ผลการใช้งานจนมั่นใจ
ด้วยความเชี่ยวชาญ ความอุตสาหะของทีมงานและผู้บริหาร SCGC ทุกระดับในการเดินเกม และตัดสินใจอย่างรวดเร็วรัดกุม จึงทำให้ SCGC ขับเคลื่อนโครงการ LSPE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน (พฤศจิกายน 2567 – กุมภาพันธ์ 2568) SCGC ได้ลงนามในสัญญาจัดหาวัถตุดิบก๊าซอีเทนจากสหรัฐอเมริกา ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี และลงนามในสัญญาการเช่าเหมาเรือขนส่งก๊าซอีเทนจำนวน 5 ลำ โดยทั้งหมดเป็นการลงนามเป็นสัญญาระยะยาว 15 ปี จึงมั่นใจได้ว่าจะมีวัตถุดิบก๊าซอีเทนจากสหรัฐอเมริกาส่งตรงถึงโรงงาน LSP เวียดนาม อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ SCGC ยังได้ลงนามในสัญญาทางวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (EPC) สำหรับสร้างถังเก็บวัตถุดิบก๊าซอีเทน จำนวน 2 ถัง ที่ โรงงาน LSP เวียดนาม ซึ่งเป็นถังแบบ Double Wall Tank ใช้วัสดุผนังและหลังคาคอนกรีตด้านนอก และโลหะเกรดพิเศษด้านในถัง มีความจุประมาณ 55,000 ตันต่อถัง และต้องควบคุมอุณหภูมิให้ได้ประมาณ -90 องศาเซลเซียสในการใช้งาน โดยขณะนี้ โรงงาน LSP อยู่ระหว่างดำเนินการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคอื่น ๆ สำหรับรับวัตถุดิบ (Supporting Facilities) คาดว่าโครงการฯ จะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2027
ด้วยกลยุทธ์เพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัถตุดิบด้วยก๊าซอีเทน SCGC เชื่อมั่นว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันระยะยาว ช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยโรงงาน LSP จะสามารถรับก๊าซอีเทนได้มากถึงสองในสามของปริมาณวัตถุดิบทั้งหมด ควบคู่ไปกับการใช้ก๊าซโพรเพนและแนฟทา เพื่อให้สามารถเลือกใช้วัตถุดิบได้อย่างเหมาะสมกับราคาในแต่ละช่วงเวลา
จากความเชี่ยวชาญในธุรกิจมานานกว่า 40 ปี และศักยภาพของทีมงาน SCGC พร้อมรุกไปข้างหน้า ปรับตัว เร่งเครื่อง พลิกเกม เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ลดต้นทุนการผลิต เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าเพิ่ม (HVA Product & Service) ที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ การแพทย์ และพลังงานทดแทน แน่นอนว่าพอลิเมอร์หรือพลาสติกยังคงเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และยังไม่อาจมีวัสดุอื่นที่มาทดแทนได้ รวมไปถึงยังช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนอีกนับไม่ถ้วน จึงเชื่อมั่นได้ว่าธุรกิจปิโตรเคมียังคงเป็นธุรกิจที่มั่นคง และพร้อมเติบโตในระยะยาว