close

29 พ.ย. 2567

1.5 องศาเซลเซียส จุดเปลี่ยนสู่หายนะโลก

Business ESG Circular Economy Innovation Solutions Sustainability

โลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์เริ่มนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อการบริโภคมากขึ้น จนเมื่อภาคอุตสาหกรรมเจริญรุดหน้าถึงขีดสุด มนุษย์ก็พัฒนาเทคโนโลยีมาต่อยอดเพื่อใช้ชีวิตได้อย่างไร้ขีดจำกัด และนี่คือโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าเกินกว่าที่หลายคนเคยจินตนาการเอาไว้

ขณะที่โลกหมุนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง มีสิ่งหนึ่งที่เริ่มถดถอย นั่นคือความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อม มนุษย์กำลังใช้ทรัพยากรธรรมชาติราวกับไม่มีวันหมดสิ้น ทั้งที่จริง ๆ แล้วทรัพยากรธรรมชาติล้วนมีวันหมดไป และยิ่งใช้มากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยิ่งเร่งอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้น จนยากที่มนุษย์จะใช้ชีวิตได้เช่นเดิม

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติที่สูงที่สุดตั้งแต่ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส นี่คือสัญญาณเตือนสู่วิกฤติการณ์ “โลกเดือด” ที่เปลี่ยนโลกของเราเป็นโลกใบใหม่ ที่อยู่ยากกว่าเดิม

หายนะจากคลื่นความร้อนและภัยธรรมชาติ

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอีกเพียง 1.5 องศาเซลเซียสจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม ทำให้ภูมิอากาศแปรปรวน เกิดฝนตกหนัก ภัยแล้งที่ยาวนาน และภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น มนุษย์จึงไม่อาจใช้ชีวิตได้ตามปกติ และต้องอยู่ติดบ้านมากขึ้น เพราะไม่สามารถออกไปเผชิญความร้อนภายนอก หรือภัยธรรมชาติได้  

มากไปกว่านั้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั่วโลก สัตว์น้อยใหญ่ทยอยสูญพันธุ์เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่ออากาศที่เปลี่ยนแปลง บางส่วนต้องย้ายถิ่นที่อยู่และล้มตาย โดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยในแถบขั้วโลก ซึ่งเป็นบริเวณที่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด

ความไม่เท่าเทียมทางสังคม ผลกระทบที่คาดไม่ถึงจากภาวะโลกเดือด

เมื่อพูดถึงภาวะโลกเดือด เรามักนึกถึงผลกระทบเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงเมื่อสิ่งแวดล้อมแย่ลง การใช้ชีวิตของมนุษย์ก็ยากลำบากตามไปด้วย ภัยพิบัติทางธรรมชาติทำลายการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เคยมีมาหลายทศวรรษ หลายอาชีพไม่สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ และมีต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูงขึ้น เพราะต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อรับมือกับอากาศที่ร้อนจัด ทั้งการบริโภค การเจ็บป่วย การปรับปรุงที่อยู่อาศัย 

เมื่อลองดูในรายละเอียด เราจะพบว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมาก จากรายงานของ The United Nations (UN) ระบุว่าเด็กกว่า 12 ล้านคนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทำให้พวกเขาสูญเสียที่อยู่อาศัย ขาดการศึกษา และมีแนวโน้มสูงที่จะเผชิญกับปัญหาสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ภัยพิบัติจากภาวะโลกเดือดยังซ้ำเติมประชากรที่ยากจน จากที่เคยมีข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรอยู่แล้ว ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้แรงงานที่ทำงานในสภาพอากาศร้อนจัดต้องเผชิญกับความสามารถในการทำงานที่ลดลง ทำให้มีผู้สูญเสียงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 80 ล้านคนทั่วโลกเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ภาวะโลกเดือดกระทบความมั่นคงทางอาหาร 

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหาร เราต้องปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร ไม่ใช่เพื่อสุขภาพ แต่เพราะภาวะโลกเดือดทำให้การทำเกษตรกรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะเร่งการคายน้ำของพืชและดิน จึงจำเป็นต้องมีน้ำให้มากพอสำหรับการทำเกษตรกรรม แต่ขณะที่โลกกำลังเดือด แน่นอนว่าความแห้งแล้ง ภัยธรรมชาติ และศัตรูพืช คือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น การปรับตัวของภาคเกษตรกรรมจะยากขึ้นและมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อน เช่นในแถบแอฟริกาหรือเอเชียใต้ ประชากรที่ยึดอาชีพเพาะปลูกล้วนได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ต่างจากผู้บริโภคทั่วไปที่มีแนวโน้มเข้าถึงอาหารได้อย่างจำกัด หรือจำเป็นต้องซื้ออาหารแพงขึ้น กระทบกับค่าครองชีพ และวนลูปสู่ปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมในที่สุด หากไม่เร่งแก้ไข ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารจะทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากจน โดยประเมินว่าภายในปี 2030 ประชากรในทวีปแอฟริกาเพียงแห่งเดียวอาจมีจำนวนถึง 43 ล้านคนที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเส้นความยากจน

รู้หรือไม่ “โลกร้อน โลกรวน โลกเดือด” 3 คำคล้าย แต่ความหมายต่างกัน
    • โลกร้อน หรือ Global Warming หมายถึงการที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นจนกระทบกับทุกชีวิตบนโลก
    • โลกรวน เป็นคำที่สื่อถึงปรากฏการณ์ Climate Change ที่ทำให้โลกปั่นป่วน เกิดความผิดปกติ และภัยพิบัติต่าง ๆ
    • โลกเดือด หรือ Global Boiling มีที่มาจาก สุนทรพจน์ของนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้นานาประเทศเร่งแก้ปัญหาโลกรวนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ถึงเวลาเริ่มเร่งเปลี่ยน รับมือภาวะโลกเดือด

ได้เวลาแล้ว ที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยับยั้งวิกฤติโลกเดือดด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า โดยเริ่มตั้งแต่ตอนนี้

SCGC เริ่มแล้ว ด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนในโรงงานอุตสาหกรรม ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งกระบวนการ เพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน คิดค้นนวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า SCGC GREEN POLYMER™ และร่วมกับพันธมิตรต่อยอดนวัตกรรมดักจับคาร์บอนไดออกไซด์มาผลิตพอลิเมอร์คาร์บอนฟุตพรินต์เป็นลบ พร้อมเร่งเครื่องสู่นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่ใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อน ไม่เพียงเท่านั้น SCGC เดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยโครงการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต พร้อมดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG และ Low Waste Low Carbon เพื่อดูแลและร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืนให้กับทุกคน 

มาก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน กับนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจาก SCGC

___________________________________________

ที่มา


Is this article useful ?