ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา SCGC ผนึกกำลังชุมชนรอบเขายายดา จ.ระยอง และพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (สถานีวิจัยป่าต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO (Biodiversity-Based Economy Development Office) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าสร้างฝายชะน้ำ ปลูกป่าเสริม และทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนอื่น ๆ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมจากการสัมปทานป่าไม้และแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเขายายดา จ.ระยอง และชุมชนโดยรอบ ซึ่งมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเขายายดา (Forested Watershed Rehabilitation at Yai Da Mountain) ภายใต้แนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำของชุมชนยั่งยืน
“ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2531 เขายายดาถูกภัยคุกคามจากไฟป่าเผาอย่างต่อเนื่องจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ทำเกษตร ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ค่อย ๆ หายไปและถูกแทนที่ด้วยพื้นดินที่ถูกเปิดโล่ง ทำให้ความสามารถในการดูดซับน้ำของดินลดลง ก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเมื่อฝนตกหนักฉับพลัน และในภาวะหน้าแล้งก็ขาดน้ำหล่อเลี้ยงในดิน ส่งผลให้เกษตรกรโดยรอบได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการขาดน้ำเพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน และภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง เนื่องจากภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจหลักของจังหวัด”
ข้อความส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ กำนันวันดี อินทรพรม ตัวแทนชุมชนบริหารจัดการน้ำ บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง ในฐานะผู้นำชุมชนที่ต้องแบกรับความทุกข์ยากทั้งของตนเองและลูกบ้าน สะท้อนภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในอดีตของชุมชนได้อย่างแจ่มชัด หลังจากได้ร่วมมือกับ SCGC เพื่อร่วมกันพลิกฟื้นพื้นที่ธรรมชาติของเขายายดาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และร่วมมือกันพัฒนาแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างชุมชนยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ
ในบทความนี้ ชวนมาทำความเข้าใจ การสร้างฝ่ายชะลอน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาของน้ำในระบบนิเวศป่าต้นน้ำในพื้นที่เขายายดา และถ่ายถอดต่อยอดเป็นบทเรียนสำหรับการบริหารจัดการน้ำให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเทรนด์ความยั่งยืน 2024 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: 17 SDGs) เป้าหมายที่ 6 และ เป้าหมายที่ 15
ถามมา: การสร้างฝายชะลอน้ำจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศในบริเวณนั้น ๆ หรือไม่ ?
ตอบไป: คำถามนี้เกิดจากข้อกังวลใจของนักอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ของปลาบางชนิด อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า การสร้างฝายชะลอน้ำ เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงท้องลำธาร แต่ถ้าจะลองพิจารณาให้ละเอียดว่า การสร้างฝายชะลอน้ำก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกหรือเชิงลบมากกว่ากัน
เริ่มต้นที่การทบทวนเหตุการณ์ก่อนหน้าที่จะทำการสร้างฝายว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะพบว่า (1) มีการทำลายป่าต้นน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลทำให้ความสามารถในการดูดซับน้ำฝนลงมาเก็บสะสมในชั้นดินลดลง น้ำฝนในส่วนเกินจึงแปรสภาพเป็นน้ำผิวดินไปไหลลงสู่ลำธารอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการกัดเซาะเอาผิวหน้าดินที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารติดตามไปด้วย ทำให้น้ำท่าในลำธารขุ่นข้น (2) การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อน (climate change) ทำให้ฝนตกยาก แต่ถ้าได้ตก ก็จะตกหนัก ด้วยระยะเวลาของการตกที่ไม่นานนัก(ขึ้นกับปริมาณไอน้ำที่อากาศนำพาเอามา) ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเพิ่มความรุนแรงของผลกระทบจากข้อ (1) ให้มากยิ่งขึ้น และ ณ ขณะนั้น สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นปลาหรือเป็นปู จะสัญจรในลำน้ำได้ยาก เพราะน้ำท่าในลำธารไหลแรง และขุ่นข้น
ในขณะเดียวกันเมื่อน้ำผิวดินจากพื้นที่ต่าง ๆ ไหลมารวมกันในลำธารมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดเป็นน้ำบ่าไหลหลาก กัดเซาะดินสองฝั่งลำห้วยและท้องลำธาร ตลอดจนการไหลลงมารวมกันบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรอการระบาย สร้างความเสียหายให้กับชุมชนที่อยู่เบื้องล่าง ในส่วนนี้จะเห็นได้ว่า โครงสร้างของลำธารก็ได้เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ในทำนองเดียวกัน เมื่อไม่มีน้ำฝนซึมลงมาเก็บสะสมในชั้นดิน ก็จะไม่มีน้ำในชั้นดินที่จะเอื้ออำนวยให้กับลำธารหลังจากฝนหยุดตก และ/หรือ ในช่วงฤดูแล้ง ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ขึ้นมา และ ณ ขณะนั้น สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นปลาหรือเป็นปู จะสัญจรในลำน้ำได้ยาก เพราะไม่มีน้ำไหล ทั้งปัญหาน้ำบ่าไหลหลาก และการขาดแคลนน้ำใช้จึงเป็นที่มาของการลดผลการทบทั้งสองด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ

ถามมา: ฝายชะลอน้ำช่วงลดผลกระทบได้อย่างไร
ตอบไป: ฝายชะลอน้ำ ถ้าสร้างให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะสามารถชะลอความเร็วของน้ำท่าที่ไหลในลำธารได้ถึงร้อยละ 40-90 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วกระแสน้ำ นอกจากนี้ยังช่วยลดความขุ่นข้นของน้ำในลำธาร จากการตกของตะกอนแขวนลอยอีกด้วย เพราะถ้าน้ำท่ามีโอกาสหยุดนิ่งเพียง 40 วินาที อนุภาคเม็ดดินที่เป็นทรายก็จะตกลงสู่ท้องลำธาร หรือแม้กระทั่งมีการตกของตะกอนเต็มหน้าฝายชะลอน้ำแล้วก็ตาม ถ้าอัตราการไหลของน้ำท่าในลำธารไม่เกิน 0.08 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะไม่มีการกลิ้งหรือเคลื่อนตัวของอนุภาคดินทรายที่ท้องลำธาร ทั้งนี้ตัวเลขทั้งหมดเป็นผลมาจากงานวิจัย
นอกเหนือไปจากการชะลอความเร็วของน้ำท่าที่ไหลในลำธาร ควบคู่ไปกับการลดความขุ่นข้นของน้ำในลำน้ำแล้ว น้ำที่มีโอกาสพักตัว จะซึมลงไปใต้ท้องลำธาร แล้วเคลื่อนตัวลงสู่พื้นที่ตอนล่างอย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วส่งผลต่อเนื่องทำให้บ่อน้ำบริเวณเชิงเขายายดาที่เคยแห้งมาก่อนการสร้างฝาย มีน้ำในบ่อตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ของชุมชนรอบเขายายดา และ/หรือ ซึมเข้าไปบริเวณสองฝั่งลำห้วย ทำให้ต้นไม้มีการเจริญเติบโตและสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 6.55-14.08 โดยเป็นผลมาจากศึกษาการเปลี่ยนแปลงของค่า NVDI ซึ่งเป็นข้อมูลที่แปลมาจากภาพถ่ายดาวเทียม แล้วนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างก่อนและหลังการสร้างฝาย

ถามมา: ไม่ต้องสร้างฝายไม่ได้หรือ ใช้การปลูกสร้างป่า และ/หรือ ปลูกเสริมป่าอย่างเดียวก็ได้หรือไม่ ?
ตอบไป: สามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลาที่ยาวนานมากนับหมื่นนับแสนปี ในธรรมชาติ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่าง ดิน น้ำ และป่าไม้ ก่อให้เกิด 3 กระบวนการขึ้นมาพร้อม ๆ กัน และดำเนินการต่อเนื่องไปด้วยกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากพื้นที่ที่เป็นลานหิน ไปสู่ป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ด้วยระยะเวลานับแสนปี เริ่มต้นจากการแตกตัวของหินเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ช่วยดูดซับความชื้น(กระบวนการสะสมน้ำในพื้นที่) เซลล์สืบพันธ์พืชปลิวเข้ามาตก พืชเริ่มเกิดขึ้นและเจริญเติบโต(กระบวนการพัฒนาตัวของสังคมพืช) และเมื่อพืชตายไปซากพืชจะผสมกับเศษหินกลายเป็นดิน (กระบวนการสร้างดิน) ที่มีความละเอียดและดูดซับความชื้นหรือน้ำได้มากขึ้น หมุนเวียนกันเช่นนี้ไปตลอด
แต่การสร้างฝายชะลอน้ำจะลดระยะเวลาของกระบวนการทั้งสาม ด้วยการเพิ่มน้ำให้กับพื้นที่ได้รวดเร็วและมากขึ้น ต้นไม้จะโตและสร้างดินที่สูญหายไปให้กลับคืนมา และต่อเนื่องทำให้พื้นที่เก็บน้ำเอาไว้ในดินได้มากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดการสร้างฝายชะลอน้ำจะช่วยลดผลกระทบจากน้ำหลากในฤดูฝน และเพิ่มน้ำในฤดูแล้งนั่นเอง จากการศึกษาของ SCGC ที่เขายายดา พบว่า การสร้างฝายชะลอน้ำ ประมาณร้อยละ 30 จากที่ต้องสร้างทั้งหมด ช่วยลดน้ำหลากได้ร้อยละ 2.75 และเพิ่มน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ร้อยละ 7.48 และทำให้มีน้ำไหลในลำธารมีต่อเนื่องเพิ่มไปถึงสามเดือน
สำหรับในส่วนของปลาและปู จากการสัญจรไปมาไม่ได้เลย และ/หรือ ลำบาก เพราะน้ำหลากในขณะฝนตก และน้ำในลำธารเหือดแห้งหลังจากฝนหยุดตก ไปเป็นมีน้ำไหลรินทั้งหน้าและหลังฝายแต่ละตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปูสัญจรไปมาไม่ลำบาก ทั้งนี้ข้อมูลเชิงประจักษ์ก็คือปริมาณปูเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนปลาอาจจะต้องมีการปรับตัวบ้าง เสมือนหนึ่งกับช้างเกเรที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา แล้วถูกนำมาปล่อยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริเวณรอยต่อ 5 จังหวัด ยังสามารถเดินกลับมาที่เขาชะเมาได้ในช่วงระยะเวลาไม่กี่วัน

ถามมา: แล้วหลักการสร้างฝายชะลอน้ำที่ถูกต้องทำอย่างไร?
ตอบไป: ผลจากการศึกษาของ FAO ระบุว่า ฝายชะลอน้ำที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าการลงทุนมากที่สุดควรจะมีข้อแรก สันของฝายสูงจากท้องลำธารไม่เกิน 60 เซนติเมตร สันของฝายควรมีความหนาประมาณ 3 ฟุต หรือ 1 เมตร ฐานของฝายควรหนาเป็นสามเท่าของความสูง ทั้งนี้เพื่อป้องกันแรงปะทะของน้ำท่าด้านหน้าฝาย และป้องกันน้ำท่าม้วนกลับและกัดเซาะฐานด้านหลังฝาย ข้อสอง บริเวณสันฝายควรทำเป็นลูกระนาด หรือมีช่องสี่เหลี่ยมเพื่อระบายน้ำหลาก โดยมีขนาดความกว้างและความสูงของช่องที่คำนวณได้จากข้อมูลอัตราการไหลสูงสุดของน้ำท่า สุดท้ายสันของฝายชะลอน้ำตัวล่าง ควรอยู่ในระดับความสูงเดียวกันกับฐานของฝายตัวบน
ถามมา: SCGC มีความร่วมมือกับภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญในการสร้างฝายชะลอน้ำหรือไม่ และมีการติดตามและประมวลผลอย่างไรบ้าง ?
ตอบไป: SCGC มีผู้เชี่ยวชาญจากด้านอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเขายายดา (Forested Watershed Rehabilitation at Yai Da Mountain) และมีการทำงานวิจัยเพื่อสำรวจภายหลังจากการสนับสนุนชุมชนรอบ เขายายดาสร้างฝายชะลอน้ำที่เขายายดาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 (พ.ศ. 2550-2553) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,239 ฝาย จากทั้งหมดที่จะต้องสร้าง คือ 18,464 ฝาย โดย SCGC ได้ทำการศึกษาเพื่อติดตามและประมวลผล พบข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
- บ่อน้ำตื้นบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา และพื้นลูกเนินท้ายน้ำเขายายดา มีน้ำคงอยู่ตลอดปี จากที่เคยแห้งเป็นประจำในช่วงฤดูแล้งของทุกปี
- ฝายชะลอน้ำช่วยลดความเร็ว กระแสน้ำได้สูงสุดร้อยละ 90 และต่ำสุดร้อยละ 40
- แม้ว่าหน้าฝายจะมีตะกอนตกอยู่เต็ม แต่ฝายก็ยังชะลอน้ำได้ถึงร้อยละ 36
- ฝายชะลอน้ำช่วยลดความขุ่นข้นของตะกอนในน้ำท่าร้อยละ 33
- ฝายชะลอน้ำช่วยให้ปริมาณน้ำสะสมในชั้นดิน เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 41 10.41
- ผลของการแปลข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม คือ ค่า Normalized Different Vegetative Index (NDVI) พบว่าการสร้างฝายทำให้ต้นไม้ในป่าเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 55-14.08

ถามมา: การสร้างฝายตามโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเขายายดา (Forested Watershed Rehabilitation at Yai Da Mountain) ให้ผลเชิงประจักษ์ตามมิติ ESG: Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) อย่างไร ?
ตอบไป: ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance สำหรับโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเขายายดาที่ SCGC ร่วมกันกับชุมชนรอบเขายายดา จ.ระยอง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (สถานีวิจัยป่าต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก) และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรน้ำในลำธารรวม 512.48 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ปี หรือ 14.83 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปริมาณต้นไม้มีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น โดยพบพรรณไม้ถึง 120 ชนิดพันธุ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 123 ชนิด อีกทั้งยังช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยตลอดทั้งปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ 38.49 ตันคาร์บอน/ไร่ และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5.41 ตันคาร์บอน/ไร่/ปี
ในเชิงมิติสังคม (Social) โครงการฯ นี้ ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ชุมชนรอบเขายายดา จ.ระยอง มีน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรกว่า 10,620 ไร่ ซึ่งคิดเป็นผลผลิตรวมทั้งสิ้น 79,382,695 กิโลกรัม/ปี ต่อยอดไปสู่โครงการวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว ที่มีมูลค่าการท่องเที่ยว 538.54 บาท/ไร่ พร้อมรับนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ชอปปิงผลิตภัณฑ์ชุมชน และร่วมทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่าง ๆ เพื่อส่งต่อแนวคิดการบริหารจัดการน้ำท้องถิ่นอย่างยั่งยืนกับผู้มาเยือน
โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเขายายดานี้ยังตอบโจทย์มิติธรรมาภิบาล (Governance) เพราะชุมชนได้ร่วมสำรวจจัดผังน้ำของตนเอง พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดการสร้างฝายชะลอน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และการสร้างความยั่งยืนของชุมชนร่วมกันอย่างทั่วถึงและอ้างอิงบนข้อเท็จจริง นอกจากนี้ชุมชนยังได้ร่วมกันออกกติกาการใช้น้ำร่วมกัน นำไปสู่ความร่วมมือภายในที่ผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนและเทรนด์ความยั่งยืน 2024