close

17 มี.ค. 2566

ภารกิจพลิกผืนป่า คืนฝูงปลาสู่ท้องทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับ SCGC

Sustainability CSR
“เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้ง ให้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดปี สร้างวิถีสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คืนคุณภาพชีวิตประมงพื้นบ้าน ด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เรื่องราวความมุ่งมั่นและเส้นทางความสำเร็จ จากโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของ SCGC”

ป่าและน้ำ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ไม่อาจแยกจากกัน ว่ากันว่าที่ใดมีป่า ที่นั่นมีน้ำ เพราะป่าคือแหล่งต้นน้ำที่ไหลรินสู่ทุกชีวิต ผ่านบ้านของสัตว์น้อยใหญ่ ผ่านชุมชน และไหลลงสู่ท้องทะเล

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าและแหล่งน้ำ เป็นที่มาของโครงการความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เราริเริ่มขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อนและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนตามแนวทาง ESG ตั้งแต่การเพาะต้นกล้าต้นเล็ก ๆ ปลูกป่า พัฒนาแหล่งน้ำ และสร้างระบบนิเวศใต้ท้องทะเล นำมาซึ่งรอยยิ้มและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในท้องถิ่น

SCGC ขอแบ่งปันเรื่องราวภารกิจพลิกผืนป่า และคืนฝูงปลาสู่ท้องทะเล ผ่านโครงการความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของเรา

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บทความแนะนำ:

   SCGC กับภารกิจพิชิต “โลกรวนหนักจนใจรับไม่ไหว” 

  ✓ SCGC กับการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยบรรษัทภิบาล

  ✓ นวัตกรรมพลาสติกรีไซเคิล ที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ชุมชนคนน้ำดี เก็บน้ำดีมีน้ำใช้
ด้วยโมเดล
2 สร้าง 2 เก็บ

“เขายายดาเมื่อก่อนไม่ใช่แบบนี้นะ เมื่อหลายปีที่แล้ว มันเกิดความแห้งแล้งจากการแผ้วถางป่า ที่ผ่านมาเราพยายามแล้วนะในเรื่องการปลูกป่า แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ จนเราได้ประสานไปที่บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ เขามาช่วยสอนเราเรื่องการจัดการน้ำ เราได้เขามาเป็นพี่เลี้ยง แล้วเวลามีปัญหา ปรึกษาได้ทุกเรื่อง” พี่วันดี อิทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง ในฐานะผู้นำชุมชน บอกเล่าถึงที่มาก่อนจะร่วมมือกับ SCGC พลิกฝื้นพื้นที่บริเวณเขายายดา ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์

ย้อนไปเมื่อปี 2550 SCGC ได้ตอบรับเป็นพี่เลี้ยง ทำหน้าที่ดูแลให้คำปรึกษาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของชุมชนรอบเขายายดา และนำไปสู่การริเริ่มจัดทำโครงการ “เก็บน้ำดี มีน้ำใช้ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ” โครงการที่เปลี่ยนชีวิตชาวบ้านมาบจันทร์ด้วยการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสู้ภัยแล้งอย่างเป็นระบบ หัวใจสำคัญ 4 ด้านคือ “สร้างคน”  มุ่งสร้างนักวิจัยท้องถิ่นทำงานร่วมกับ SCGC และผู้เชี่ยวชาญ “สร้างกติกา” กำหนดกติกาการใช้น้ำของชุมชนอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความเกื้อกูลกัน “เก็บข้อมูล” เก็บข้อมูลปริมาณน้ำตามจุดต่าง ๆ โดยบันทึกสถิติอย่างเป็นระบบ สำหรับนำไปกำหนดกติกาการใช้น้ำร่วมกัน “เก็บน้ำ”  เก็บน้ำให้ได้มากและนานที่สุด ด้วยการดูแลแหล่งต้นน้ำ และแหล่งเก็บน้ำของชุมชน

โมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ถูกนำไปใช้ร่วมกับองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ป่าและน้ำ เริ่มตั้งแต่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการปลูกป่า 5 ระดับ หรือการคัดเลือกพรรณไม้ท้องถิ่นซึ่งมีเรือนยอดต่างระดับกัน นั่นคือ ระดับใต้ดิน เช่น มัน เผือก ระดับเรี่ยดิน เช่น ฟักทอง แตงโม ระดับเตี้ย เช่น พริก มะเขือ ระดับกลาง เช่น มะม่วง มะพร้าว และระดับสูง เช่น สัก ยางนา มาปลูกเสริมกับแนวป่าเดิม ช่วยลดแรงตกกระทบผิวดินของเม็ดฝน เพิ่มการดูดซับน้ำฝนของผิวดินได้อย่างเต็มที่ ร่วมกับการสร้างฝายชะลอน้ำ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ เพื่อเก็บน้ำและชะลอการไหลของน้ำในช่วงฤดูฝน พร้อมทั้งขุดลอกคลองเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ และสุดท้ายคือการทำธนาคารน้ำใต้ดิน โดยการขุดหลุมเพื่อเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ใต้ดิน สร้างความชุ่มฉ่ำให้หน้าดิน ประหยัดน้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้และพืชผลทางการเกษตร ลดน้ำท่วมขังช่วงหน้าฝน และสร้างความชุ่มชื้นในช่วงหน้าแล้ง

SCGC ยืนเคียงข้างชุมชน เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาป่าไม้และน้ำอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่สะสมมากว่า 10 ปี จากการเป็นพี่เลี้ยงให้กับชาวบ้านมาบจันทร์ และตามมาด้วยผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ช่วยเติมน้ำในลำธารได้ 14.83 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อุณหภูมิอากาศต่อปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 38.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่ พบสัตว์ป่า 123 ชนิด และพรรณไม้อีกกว่า 120 ชนิดพันธุ์ ยังไม่นับความสุขและรอยยิ้มของคนในชุมชนที่ประเมินค่าไม่ได้

ปลูก เพาะ รัก : ปลูกต้นไม้ เพาะต้นกล้า รักษาป่า สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำ

นอกจากพื้นที่บริเวณเขายายดา SCGC ยังเล็งเห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดระยอง และยึดถือเป็นภารกิจที่ต้องเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างเช่นเรื่องป่าไม้ ที่ SCGC เดินหน้าสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง จนพื้นที่นับพันไร่ ค่อย ๆ กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ด้วยต้นไม้กว่าแสนต้นที่ SCGC ร่วมมือกับทุกภาคส่วนปลูกความอุดมสมบูรณ์ลงสู่ผืนดิน

จากความมุ่งมั่นสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการเดินหน้าปลูกป่ามาตลอดระยะเวลาหลายปี มาสู่โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมในชื่อ “ปลูก เพาะ รัก” ปลูกต้นไม้ เพาะต้นกล้า รักษาป่า สามหลักสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ปลูกต้นไม้

SCGC ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เยาวชน ชุมชนในพื้นที่ และเหล่าจิตอาสา พลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ด้วยการปลูกป่าชายเลน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ป่าชุมชน และกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นปอดขนาดใหญ่ของคนในพื้นที่ และเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของสัตว์น้อยใหญ่ ในเบื้องต้น SCGC ได้ร่วมปลูกต้นโกงกางและไม้อื่น ๆ ในพื้นที่ป่าชายเลนไปแล้วทั้งสิ้น 161,100 ต้น คิดเป็นพื้นที่ 230 ไร่ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,189 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าปกและป่าชุมชน จำนวน 49,529 ต้น คิดเป็นพื้นที่ 390 ไร่ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 868 ตันคาร์บอนไดออกไซด์* นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของภารกิจ เพราะ SCGC ตั้งเป้าปลูกป่าให้ได้ 1 ล้านต้น ซึ่งขณะนี้จำนวนกล้าไม้ที่ปลูกลงดินก็ทยอยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ

เพาะต้นกล้า

จากจุดเริ่มต้นฟื้นฟูพื้นที่ป่าบริเวณเขายายดา มาสู่การออมเมล็ดพันธุ์เพื่อสร้างธนาคารต้นไม้ ซึ่ง SCGC ได้ร่วมมือกับคนในชุมชนเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและพันธุ์ไม้หายาก จัดทำเป็นโรงเรือนเพาะชํากล้าไม้ เพื่อนําเมล็ดพันธุ์จากต้นไม้ในพื้นที่เขายายดามาเพาะขยายพันธุ์ ขณะเดียวกันก็แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ให้บุคคลทั่วไปนำไปเพาะ และส่งกลับคืนต้นกล้ามายังโรงเรือนเพื่อดูแลให้เป็นกล้าไม้ที่แข็งแรง พร้อมหยั่งรากลงดินต่อไป ที่ผ่านมาสามารถเพาะต้นกล้าได้มากกว่า 20,100 ต้น* (*นับตั้งแต่ปี 2560 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566)

รักษาป่า

นอกเหนือจากการปลูกต้นไม้ลงในผืนดิน การปลูกต้นไม้ในใจคนก็สำคัญไม่แพ้กัน SCGC จึงสนับสนุนโครงการที่สร้างเสริมจิตสำนึกรักป่าไม้ ให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีพันธกิจร่วมกัน รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครการรวมกลุ่มอนุรักษ์ในท้องถิ่นโดยมีการจัดกิจกรรมดูแลพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับรับสมัครสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาสานต่องานของเครือข่าย ร่วมเป็นแกนนำในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต่อไป

บ้านปลา : จากบ้านหลังเล็กของสัตว์ทะเลสู่ชุมชน เพื่อการประมงที่ยั่งยืน

“ประมงพื้นบ้าน” หนึ่งในอาชีพที่ชาวจังหวัดระยองใช้หาเลี้ยงชีพมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ในทุกวัน กลุ่มชาวประมงจะออกเรือแต่เช้ามืดเพื่อจับสัตว์ทะเลมาขาย ความเป็นอยู่ของพวกเขาผูกไว้กับความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล

กระทั่งวันหนึ่ง เรือเล็กจำเป็นต้องออกจากฝั่ง ไกลขึ้น ไกลขึ้น เพราะทรัพยากรชายฝั่งที่เสื่อมโทรม สัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งไม่เพียงพอให้ชาวประมงพื้นบ้านจับมาหล่อเลี้ยงชีวิตอีกต่อไป ผลกระทบจากการทำนากุ้ง และการจับสัตว์น้ำของประมงพาณิชย์บางรายที่ไม่ถูกต้อง ทำให้พวกเขาต้องออกหาปลาไกลขึ้น ใช้เวลานานขึ้น และมีต้นทุนค่าน้ำมันเรือมากขึ้น รวมทั้งต้องเผชิญกับคลื่นลมแรงที่สร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์หาเลี้ยงชีพ

ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชน และความมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อม SCGC จึงร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) และกลุ่มประมงพื้นบ้าน จังหวัดระยอง หาทางแก้ปัญหาเพื่อคืนฝูงปลาสู่ท้องทะเลดังเดิม ด้วยการสร้าง “บ้านปลา” จากท่อ PE100 ซึ่งผลิตจากเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง ที่เหลือจากกระบวนการขึ้นรูปทดสอบในโรงงาน ซึ่งเม็ดพลาสติก PE100 ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทนแดด และความดันน้ำ ใช้สำหรับผลิตท่อส่งน้ำดื่มขนาดใหญ่ จึงมีความปลอดภัยต่อระบบนิเวศทางทะเล หลังจากนำไปใช้งานก็ไม่พบไมโครพลาสติกจากท่อ PE100 ในบริเวณบ้านปลาและพี้นที่โดยรอบ

นับจากการวางบ้านปลาหลังแรกที่ปากคลองแกลง จังหวัดระยอง ในปี 2555 จนถึงวันนี้ SCGC ได้วางบ้านปลาไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 2,230 หลัง  สร้างพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลกว่า 50 ตารางกิโลเมตร  เกิดความร่วมมือกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน 43 กลุ่ม ช่วยเพิ่มรายได้ให้กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กในพื้นที่ชายฝั่งระยองกว่า 930 ราย และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนประมง คิดเป็นมูลค่ากว่า 9 ล้านบาทต่อปี * (ข้อมูลจากการสำรวจ SROI ในกลุ่มประมงพื้นบ้าน จังหวัดระยอง จำนวน 10 กลุ่ม ในปี 2565) 

เมื่อผืนป่าและแหล่งน้ำไม่อาจแยกจากกัน การจะดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจึงต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติในทุกมิติ ทั้งการพลิกฟื้นผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาระบบนิเวศทางทะเล ทั้งหมดนี้เพื่อให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้คนมีคุณภาพชีวิต ภายใต้การดำเนินงานตามแนวทาง ESG อย่างต่อเนื่องจาก SCGC


Is this article useful ?