close

17 ธ.ค. 2563

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 11: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “ชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็น”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “ชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็น จ.พระนครศรีอยุธยา” 

ทัศนคติ คือต้นตอของปัญหาขยะ
ย้อนไปเมื่อประมาณ 60 กว่าปีที่แล้ว ชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็น ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำป่าสัก ทุกอย่างในเวลานั้นสะอาด สวยงามไปหมด น้ำในแม่น้ำป่าสักสามารถนำมาใช้อุปโภคและบริโภคได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

จนเมื่อความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเริ่มเข้ามา การเดินทางทางน้ำเป็นทางถนน ในหมู่บ้านเริ่มมีถนนตัดผ่าน เริ่มมีน้ำเสียและมลพิษ สิ่งแวดล้อมที่ดีค่อยๆ หายไป ขณะที่ผู้คนก็ใช้ชีวิตแบบเห็นแก่ตัวมากขึ้น จากชุมชนที่สะอาดก็เริ่มเต็มไปด้วยขยะ ทั้งจากคนนอกหมู่บ้านเอาขยะมาทิ้ง และจากคนในที่มีอะไรก็ทิ้งหมักหมมรวมกันไปหมด ไม่ได้มีการแยกขยะ รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน รวมทั้งตลาดต่างก็เป็นที่ผลิตขยะออกมาอย่างต่อเนื่องโดยขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ

นอกจากพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านหลายคนสุขสบายจนเคยตัว และคิดว่าการเสียเงินค่าขยะ 20 บาทต่อเดือนแล้วจะทิ้งขยะยังไงก็ได้ ไม่ต้องมาเสียเวลาคัดแยกขยะ และเข้าใจว่าทั้งหมดเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศบาล

จากหมู่บ้านต่างจังหวัดที่น่าอยู่ ชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็นกลับกลายเป็นดินแดนที่มีแต่ผู้ผลิตขยะ โดยไม่มีใครคิดจะลุกขึ้นมาจัดการ หากปล่อยไปเรื่อย ๆ ปัญหาขยะอาจเป็นเหมือนไฟลามทุ่ง ที่เนิ่นนานไปจะควบคุมไม่ได้ และกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและพฤติกรรมที่อาจจะท้าทายในการแก้ไข

เราจะสร้างธนาคารเพื่อจัดการขยะ
พันธุ์วดี พูลสวัสดิ์ คือประธานชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็น หมู่ 5 ที่อาสามาจัดการกับปัญหาขยะของพื้นที่แห่งนี้ ในตอนแรกเธอคิดว่าปัญหาอยู่ที่ “ถังขยะ” หากไม่มีถังขยะ ชาวบ้านก็ไม่มีที่ทิ้ง เมื่อไม่มีที่ทิ้ง อาจจะจัดการคัดแยกขยะกันเอง หรือไม่สร้างขยะเพื่อจะได้ไม่ทำให้บ้านตัวเองสกปรก แต่การหักดิบดังกล่าวได้รับการต่อต้านจากชาวบ้าน จนต้องปล่อยให้ทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนเดิม

เมื่อทั้งการบังคับและการขอความร่วมมือจากชาวบ้านไม่เกิดผล พันธุ์วดีจึงเปลี่ยนแนวทางใหม่ ด้วยการเริ่มจากคนที่เห็นขยะเป็นปัญหาก่อน แล้วค่อยๆ ขยายผลออกไป ประธานชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็นรวบรวมสมัครพรรคพวกได้ประมาณ 10 ชีวิต ก่อนจะประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับขยะที่มีอยู่ในชุมชน ทำอย่างไรให้คนโพธิ์ซ้ายร่มเย็นลุกขึ้นมาจัดการคัดแยกขยะ หลังการประชุม ทุกคนได้ข้อสรุปร่วมกัน “เราจะสร้างธนาคารเพื่อจัดการขยะ”

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
ความสำเร็จอย่างแรกในการจัดการขยะของชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็น มาจากการขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อทำให้ธนาคารขยะเป็นจริง การทอดผ้าป่าขยะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการระดมทุนเพื่อก่อตั้งธนาคารขยะของที่นี่ โดยต้นผ้าป่าในขบวนบุญครั้งนี้ มีทั้งเงิน ขยะ และบางทีก็มีทั้งขยะที่มากับเงิน ซึ่งทีมงานได้เงินจากการทอดผ้าป่าและขายขยะรวมแล้ว 6,740 บาท

ธนาคารขยะของที่นี่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวบ้าน เงื่อนไขการสมัครสมาชิกไม่ซับซ้อน เพียงถือขยะมาให้คณะกรรมการธนาคารขยะ แล้วกรอกประวัติเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ทุกคนก็จะได้สมุดธนาคารขยะของตัวเอง เมื่อมีการทำธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการฝากหรือถอน ก็จะบันทึกข้อมูลลงสมุด ดอกเบี้ยที่สมาชิกได้รับนั้น นอกจากราคาขายขยะที่สูงกว่าราคากลางทั่วไปแล้ว ทุก ๆ สิ้นปี จะมีให้ลุ้นของรางวัล อาทิ จักรยาน พัดลม หม้อหุงข้าว ชุดเครื่องนอน ฯลฯ ปัจจุบันธนาคารขยะของชุมชนโพธิ์ซ้ายร่มเย็นมีสมาชิกมากถึง 110 คน และยังมีทีท่าว่าจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ขยะของที่จะถูกนำมาคัดแยกขยะออกเป็น 2 ส่วน คือ ขยะรีไซเคิลได้ และรีไซเคิลไม่ได้ โดยขยะที่รีไซเคิลได้จะมีคนมารับซื้อเมื่อมีน้ำหนักราว 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ชาวบ้านจะนำกลับมาประดิษฐ์เป็นสินค้า ที่สะท้อนไอเดียและฝีมือล้วนของชาวบ้านที่นี่

ขณะที่ขยะเศษอาหาร จะนำมาเลี้ยงไส้เดือนและผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นไม้ให้งอกงาม ส่วนขยะอันตราย จะมีจุดทิ้งอยู่ที่ทำการของชุมชน โดยจะนำส่งเทศบาลและจังหวัดนำไปบริหารจัดการอย่างถูกต้อง

ดาวน์โหลด Waste to Wealth... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth/


Is this article useful ?