close

6 พ.ย. 2563

“นวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล” เพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เพื่อชุมชนน่าอยู่

ภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ตั้งแต่การผลิต การใช้ และการวนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ (Make – Use – Return) พร้อมกับ Open Innovation การเปิดรับความร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม กับทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เร็วและดียิ่งกว่า คือ ปัจจัยหลักเชิงกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนและผลักดันให้ เอสซีจี เป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

นวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล หรือ Innovative Recycled Plastic Road เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จ ที่ประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และสะท้อนความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงขององค์กร ที่ต้องการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นไม่เฉพาะในการดำเนินธุรกิจ หากแต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม

ทุกความท้าทายมีโซลูชันรองรับ
ข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติพบว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ โดยเฉพาะครึ่งหนึ่งเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในประเทศไทยเอง รายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 ระบุว่า มีปริมาณขยะถึง 27 ล้านตัน และเป็นขยะพลาสติกถึง 2 ล้านตัน โดยมีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี

การสร้างคุณค่าสูงสุดอย่างยั่งยืนให้กับพลาสติกตั้งแต่ต้นทางการผลิต การใช้ และวนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นโจทย์สำคัญของเอสซีจีและพันธมิตร เพื่อทำ “นวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล” ที่มีส่วนผสมของยางมะตอยกับ “พลาสติกที่ใช้แล้ว”

ผนึกกำลังเพื่อแก้ไขปัญหา
แนวคิด นวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล (Innovative Recycled Plastic Road) นี้เริ่มต้นจาก บริษัทดาว เคมิคอล ได้ดำเนินการสร้างถนนยางมะตอยจากพลาสติกรีไซเคิลมาก่อนในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย จากนั้นทางธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จึงร่วมมือที่จะดำเนินการสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลเช่นนี้บ้างในประเทศไทย

โดยนักวิจัยของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ค้นคว้า วิจัย และทดลองเพื่อหาสัดส่วนที่เหมาะสมให้กับส่วนผสม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณสมบัติในเรื่องความแข็งแรงทนทาน การซึมน้ำ อายุการใช้งาน และที่สำคัญก็คือเพื่อความเหมาะสมต่อการใช้งานในบริบทของประเทศไทย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยไม่เหมือนกัน จึงมีผลต่อเรื่องอุณหภูมิบนพื้นผิวถนนและใต้ถนน

ผลลัพธ์ของงานวิจัยนวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ทดสอบโดยภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เปรียบเทียบถนนพลาสติกรีไซเคิลกับถนนยางมะตอยทั่วไป พบว่าถนนพลาสติกรีไซเคิลที่มีขยะพลาสติกเป็นส่วนประกอบนั้น มีคุณสมบัติของผิวถนนที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม 15-30% และประสิทธิภาพด้านการยึดเกาะถนนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 6% ทำให้วิธีการนี้นอกเหนือจากช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศแล้ว ยังหมายถึงการพัฒนาประยุกต์ใช้พลาสติกใช้แล้วให้เกิดประโยชน์สำหรับการทำถนนยางมะตอยที่มีคุณภาพอีกด้วย

สำหรับประเภทพลาสติกที่เหมาะกับการทำนวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อน หลอด แก้วกาแฟชนิด PP, PE และ PET ซองบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่เคลือบชั้นโลหะ เช่น ถุงน้ำยาล้างจานแบบซองตั้ง โดยทั้งหมดต้องเป็นพลาสติกที่สามารถหลอมละลายได้ในอุณหภูมิประมาณ 160 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า เพราะเป็นระดับความร้อนของการผลิตยางมะตอยสำหรับงานทาง

ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล ตอบสนองต่อเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติใน 3 มิติที่สำคัญ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยอธิบายได้ดังนี้

  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า ลดปริมาณพลาสติกเหลือใช้ โดยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ ลดการสึกหรอของถนน และช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตยางมะตอยสำหรับงานทาง
  • ยั่งยืนกว่า สร้างความตระหนัก การเห็นประโยชน์ของพลาสติกเหลือใช้ นำไปสู่การส่งเสริมอาชีพการแยกพลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย
  • ถนนที่แข็งแรงกว่า สร้างมูลค่าเพิ่มจากพลาสติกเหลือใช้ ลดการซึมน้ำ ทนการกัดเซาะน้ำดีกว่า ทำให้อายุการใช้งานยาวนานขึ้น และลดการซ่อมแซมถนน

ต่อยอดเครือข่ายอย่างไม่หยุดยั้ง
นวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ. ระยอง คือ ต้นแบบนวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล ที่เกิดจากความร่วมมือทางเทคโนโลยี ระหว่าง เอสซีจี และ ดาว เคมิคอล โดยถนนเส้นปฐมฤกษ์นี้ มีระยะรวม 220 เมตร มีความกว้างของถนน 3 เมตร ความหนา 6 เซนติเมตร

จากนั้นมีการขยายผลโครงการผ่านความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ อาทิ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พัฒนาถนนพลาสติกรีไซเคิล นำร่องแวดวงอสังหาฯ ไทยรายแรกที่นำพลาสติกใช้แล้วมาสร้างมูลค่าและใช้ประโยชน์ภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นถนนพลาสติกรีไซเคิลเส้นแรกในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่จะนำพลาสติกใช้แล้วมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างถนนที่ใช้งานได้จริง และการดำเนินงานนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์ของสมาร์ทซิตี้  คือ Smart Environment สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่วางเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดสมาร์ทซิตี้โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สร้างนวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิลในโครงการ 7 Go Green Recycled Plastic Road

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 เอสซีจีได้ลงนามความร่วมมือกับ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมมือศึกษาและพัฒนาการนำพลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานก่อสร้างทาง เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้การทำถนนของประเทศ ตอบโจทย์การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดคล้องตามนโยบาย BCG Economy (Bio – Circular – Green Economy) ของรัฐบาล

ปัจจุบันเอสซีจี และพันธมิตรได้ดำเนินการทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตต้นแบบที่มีพลาสติกเหลือใช้เป็นส่วนผสม รวมความยาวถนนทั้งสิ้น 7.7 กิโลเมตร และสามารถนำพลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าได้รวม 23 ตัน หรือราว 23,000 กิโลกรัม รับชมวิดีโอนวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิลได้ที่ https://bit.ly/360yP05


Is this article useful ?