close

30 ก.ย. 2563

แก้วิกฤตเกาะสมุยน้ำขาดแคลน ด้วยท่อส่งน้ำประปา PE112

Product

หนึ่งในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติทั้งหมด 17 ข้อ ที่มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ มีการให้ความสำคัญกับเรื่องของ “น้ำจืดสะอาด” ทั้งในแง่การบริหารจัดการและการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภค เพราะน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม

ด้วยความตั้งมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญขององค์กร เอสซีจีได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงนำมาสู่ความร่วมมือกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ในโครงการวางท่อส่งน้ำประปาลอดทะเลระหว่างอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีถึงเกาะสมุย โครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนบนเกาะสมุย และเป็นฐานรากสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชน

สมุยกับปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาขั้นวิกฤต

เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศที่สร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากถึงปีละประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวทั้งประเทศ รองรับนักท่องเที่ยวประมาณปีละกว่า 3 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี

สาเหตุดังกล่าวทำให้ความต้องการน้ำจืดเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคบนเกาะจึงมากขึ้นตามไปด้วย และในปี 2559 เกาะสมุยซึ่งมีพื้นที่ที่มีขนาดเพียง 250 ตร.กม. ทำให้มีน้ำจืดในปริมาณจำกัด ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาอย่างรุนแรง น้ำในพรุที่เคยเป็นแหล่งกักเก็บตามธรรมชาติและเป็นแหล่งน้ำวัตถุดิบในการผลิตน้ำได้เหือดแห้ง ประกอบกับปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดฝนผิดฤดู ธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ต้องซื้อน้ำจากเอกชนในราคาที่สูงขึ้น ส่วนประชาชนในพื้นที่ต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อน้ำประปาใช้ในราคาคิวละ 60 - 70 บาท ขณะที่ด้านการผลิตประปาของเกาะสมุยเอง ก็ทำได้เพียงปรับปรุงขยายแหล่งน้ำดิบสำรองให้สามารถกักเก็บน้ำดิบได้มากขึ้น และผลิตน้ำจืดจากทะเลจ่ายให้ประชาชน

ปัญหาดังกล่าวหากไม่ได้รับการแก้ไข จะกลายเป็นวิกฤตเชิงโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นและการพัฒนาธุรกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและบนเกาะสมุย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การวางท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลครั้งแรก
ในประเทศไทยด้วยท่อ PE112

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และผู้นำด้านเคมีภัณ์ฑของอาเซียน ได้ร่วมมือกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ภายใต้ โครงการก่อสร้างระบบท่อน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย พัฒนานวัตกรรมวัสดุสำหรับผลิตท่อประปาของภาคธุรกิจ โดยเลือกใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนคอมพาวนด์สีดำ หรือ PE112 มาตรฐานระดับโลก ที่คิดค้นและผลิตด้วยเทคโนโลยีของ SCGC ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตร มีคุณสมบัติพิเศษของเม็ดพลาสติก SCG HDPE H112PC คือ

  • มีความเหนียว แข็งแรงคงทนมากกว่าเม็ดพลาสติก PE100 ทั่วไปในตลาด
  • สามารถทนแรงดันได้เพิ่มขึ้น 10% ทั้งภายในและภายนอกท่อ
  • สามารถทนรอยขีดข่วนได้เพิ่มขึ้น 50% ผ่านการทดสอบการสึกกร่อนด้วยวิธี Sand Slurry Test
  • มีความยืดหยุ่นดี สามารถโค้งงอได้ ทำให้ง่ายในการจมท่อลงสู่พื้นผิวใต้ทะเล
  • อายุการใช้งานของท่อยาวนานขึ้น

โครงการฯ ดังกล่าว นับเป็นโครงการวางท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย มีระยะทางของท่อยาวกว่า 120 กิโลเมตร แบ่งเป็นการวางท่อบนบกจาก อ.พุนพิน ไปยังพื้นที่ชายฝั่งที่ อ.ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร และจากชายฝั่งลอดทะเลอีก 20 กิโลเมตร เพื่อขึ้นฝั่งที่เกาะสมุย โดยเมื่อโครงการก่อสร้างระบบท่อน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุยเดินเครื่องส่งน้ำประปาเต็มระบบจะทำให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,100 ลบ.ม./ชม. และสามารถผลิตน้ำได้เต็มกำลังที่ 4,000 ลบ.ม./ชม. จากเดิมอยู่ที่ 2,000 ลบ.ม./ชม. นอกจากนี้ ประชาชนตลอดแนวเส้นท่อประปาทั้ง 5 อำเภอ ซึ่งประกอบด้วย อ.พุนพิน อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก และบางส่วนของ อ.ขนอม ยังจะได้มีน้ำสะอาดใช้อุปโภคและบริโภคเป็นจำนวนโดยประมาณ 65,580 ครัวเรือน

“เอสซีจีจะมุ่งพัฒนานวัตกรรมพลาสติกเพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิต และพัฒนาความเจริญให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเอสซีจี พร้อมร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาโซลูชันที่เหมาะสม และตอบโจทย์ โครงการ อื่น ๆ ในอนาคต” นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีกล่าว


ชมคลิปโครงการฯ ได้ที่นี่


Is this article useful ?