close

3 ก.ย. 2567

AEPW Solution Model Playbooks: คู่มือโซลูชัน “พลาสติก” ลดการสร้างขยะเป็นศูนย์ เพิ่มการหมุนเวียนใช้ทรัพยากร ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

Business ESG Circular Economy Solutions Sustainability

Alliance to End Plastic Waste หรือ AEPW เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลกที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม องค์กรนี้ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำด้านพลาสติกและเคมีภัณฑ์จากหลายประเทศทั่วโลก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) มีเป้าหมายที่จะยุติปัญหาขยะพลาสติกผ่านการดำเนินการในสี่ด้านสำคัญ คือ 1) ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน 2) ร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหากำไร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาขยะพลาสติก 3) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการขยะพลาสติกและการรีไซเคิลขยะพลาสติก และ 4) เผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติก การจัดการขยะพลาสติกและการรีไซเคิลขยะพลาสติกแก่สาธารณชน

SCGC เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Alliance to End Plastic Waste (AEPW) และเป็นบริษัทนวัตกรรมเคมีภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทยที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสำคัญตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2562          

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติ ยกระดับความร่วมมือ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในการรีไซเคิลขยะพลาสติก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ได้ร่วมมือกับ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group: BCG) ในการจัดทำ The Solution Model Playbooks” ซึ่งเป็นคู่มือที่รวบรวมความท้าทายในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม การสรุปบทเรียน และสูตรสำเร็จที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

The Solution Model Playbooks นี้นำเสนอแนวคิดของ "แบบจำลองวิธีแก้ปัญหา" ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของพันธกิจของ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ในการแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของขยะพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศของขยะพลาสติก การสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถ และการระดมเงินทุนเพื่อผลิตซ้ำแบบจำลองวิธีแก้ปัญหาในระดับที่ใหญ่ขึ้น คู่มือนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบันทึกวิธีแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จของแต่ละโครงการ เพื่ออำนวยความเข้าใจและสร้างความสอดคล้องระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ในการจัดการขยะพลาสติกและการรีไซเคิลขยะพลาสติก ผ่านการทำซ้ำและขยายขอบเขตของแบบจำลองวิธีแก้ปัญหาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบผลสำเร็จ

ในคู่มือดังกล่าวยังพูดถึงความสำคัญของการพัฒนาแบบจำลองวิธีแก้ปัญหาเพื่อรับมือกับความท้าทายของการรีไซเคิลขยะพลาสติก และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีการยกตัวอย่างโครงการที่ดำเนินอยู่เป็นตัวอย่างประกอบเพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของวิธีการเหล่านี้ ที่น่าสนใจได้แก่ Cidades with Instituto RECICLEIROS Project STOP Jembrana และ TAKA TAKA คู่มือ The Solution Model Playbooks ยังย้ำให้เห็นที่มาที่ไปของประเภทขยะพลาสติกต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ขยะมูลฝอยทั่วไปที่ไม่ได้รับการคัดแยกอย่างถูกต้องเหมาะสม จนถึงขยะพลาสติกเฉพาะทาง เช่น ขวดเครื่องดื่มพีอีที (PET) หรือกล่องโฟมสำหรับเก็บความเย็น โดยมุ่งเน้นไปที่ประเภทหลังและพัฒนาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ให้กับขยะพลาสติกเฉพาะทางนี้

วิธีแก้ปัญหาที่ครอบคลุมและบูรณาการยังถูกกล่าวถึงใน The Solution Model Playbooks นี้ด้วย เพื่อให้ผลักดันให้เกิดการรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ โดยคุณลักษณะสำคัญของแบบจำลองวิธีแก้ปัญหาที่มีการแนะนำไว้ในคู่มือประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาที่เฉพาะเจาะจง มีความเป็นไปได้ทางเทคนิค สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ มีโครงการที่ดำเนินอยู่เพื่อการเรียนรู้ และที่สำคัญก็คือ เป็นโซลูชันที่สามารถนำไปทำซ้ำได้ในหลากหลายภูมิภาค

"ปัญหาขยะพลาสติกมีความซับซ้อนและจำเป็นต้องมีการปลดแอกเชิงระบบ จากรูปแบบปัจจุบันที่เป็นการผลิต-ใช้-ทิ้ง ไปสู่รูปแบบหมุนเวียนที่ส่งเสริมการรีไซเคิล ควบคู่ไปกับชุดวิธีแก้ปัญหาอื่นๆ ที่จำเป็น การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเราต้องการการลงทุนและวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากเดิม ต้องมีการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม นี่เป็นการเดินทางที่ไม่มีใครสามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง และไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่สมบูรณ์แบบ ในทางกลับกัน เราต้องผนึกกำลังร่วมกันจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการพัฒนา และนำแบบจำลองวิธีแก้ปัญหาในปัจจุบันที่มีอยู่ในคู่มือไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเชิงประจักษ์ได้" จาคอบ ดูเออร์ ประธานและซีอีโอของ Alliance to End Plastic Waste กล่าว

SCGC และ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ยังคงมุ่งมั่นและผลักดันการจัดการขยะพลาสติก การรีไซเคิลขยะพลาสติก และการนำพลาสติกเหลือใช้กลับเข้าสู่ระบบเพื่อหมุนเวียนใช้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย SCGC มีโครงการจัดการขยะสำคัญ คือ โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ที่ สร้างและขับเคลื่อนโมเดลการจัดการขยะที่เหมาะสมกับชุมชน ผ่านโมเดล “บวร” ได้แก่ บ้าน-วัด-โรงเรียน และเชื่อมโยงกับ “ธนาคารขยะ” ภายในชุมชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งระบบ และเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความรู้และเข้าใจถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยลดการสร้างขยะ สอนการคัดแยกและการทิ้งขยะให้ถูกต้อง และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการรีไซเคิล

เรายังมีนวัตกรรม Advanced Recycling ช่วยลดปัญหาขยะในประเทศไทย และยังมีนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างทุ่นกักขยะ เพื่อช่วยกักเก็บขยะไม่ให้หลุดรอดออกสู่ทะเล ขณะเดียวกัน SCGC ยังมุ่งมั่นพัฒนาพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายขยายสินค้าในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 เรียกได้ว่า ในฐานะผู้ผลิต SCGC มีวิธีคิดดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบ การผลิต และการส่งต่อนวัตกรรมพลาสติกให้ผู้คนได้ใช้ และมีการดูแลจนถึงปลายทาง เก็บพลาสติกใช้แล้ว กลับมาหมุนเวียนสร้างคุณค่าใหม่

_________________________________________________

เครดิตภาพ: https://endplasticwaste.org/en/our-stories/solutions-for-change  


Is this article useful ?