close

13 ธ.ค. 2566

World Energy Conservation Day
Save พลังงาน ให้ใช้งานไม่รู้จบ

ESG Innovation Product

นานแค่ไหนแล้วที่มนุษย์ลืมคิดไปว่า พลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวันของเรานั้นมีอยู่อย่างจำกัด นั่นเพราะเราใช้พลังงานในรูปแบบของเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคย จนละเลยว่าข้าวของเหล่านั้นมีการใช้พลังงานอยู่เบื้องหลังเสมอ


วันอนุรักษ์พลังงานโลก หรือ World Energy Conservation Day จึงเกิดขึ้นเพื่อให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน และสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 


ทำไมต้องอนุรักษ์พลังงาน

เหตุผลที่เราต้องใช้พลังงานอย่างรู้ค่า ไม่ใช่เพียงเพราะพลังงานมีอยู่อย่างจำกัด แต่เพราะยังมีคนอีกมากในหลายพื้นที่ที่ยังขาดแคลนพลังงาน หรือได้รับความเดือดร้อนจากกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอตลอดทั้งปี ด้วยสาเหตุจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ปัจจัยด้านการพัฒนาประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการเกิดวิกฤตด้านพลังงานจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่ทำให้แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว ก็เกิดการขาดแคลนพลังงานได้เช่นกัน


“ทวีปแอฟริกา แหล่งพลังงานสะอาด ที่ประสบกับความยากจนทางพลังงาน”

ยกตัวอย่างประเทศในแอฟริกา ประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานมายาวนาน ก่อนหน้าที่พลังงานสะอาดจะเฟื่องฟู ประชากรของทวีปแอฟริกาถูกบีบให้ใช้พลังงานชีวมวลจากฟืนและถ่าน ซึ่งล้าหลัง ขาดประสิทธิภาพ และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาด หลายประเทศในภูมิภาคนี้กลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานลมที่สำคัญ เช่นในประเทศเคนยา ที่ตั้งเป้าจะพาประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีอีกหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบชนบทที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งพลังงาน และไม่มีไฟฟ้าใช้


พลังงานสะอาดอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของทวีปนี้ แต่ไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายดายนักในการแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศที่เจริญที่สุดในภูมิภาค ผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของทวีปแอฟริกาก็ต้องเผชิญกับความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพราะพลังงานเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้แต่เดิมล้วนมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ส่วนพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์นั้นยังไม่สามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอต่อการใช้งาน ปัญหาเหล่านี้ยังคงแก้ไม่ตก ซ้ำยังมีปัญหาด้านประสิทธิภาพของผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศมาซ้ำเติม ทำให้เกิดการตัดกระแสไฟฟ้าบ่อยครั้ง กระทบทั้งคุณภาพชีวิตของผู้คน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นำมาซึ่งความถดถอยในระยะยาว


“วิกฤตพลังงาน ท่ามกลางภาวะสงคราม”

ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัญหาความขัดแย้งของสองประเทศที่ทั่วโลกต่างจับตามอง สถานการณ์ที่รุนแรงและไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายในเร็ววันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปที่พึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซีย และมีความต้องการพลังงานสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว บางประเทศถึงกับขาดแคลนพลังงาน และหลายประเทศต้องจำกัดการใช้พลังงานของประชาชน 


ตัวอย่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้แก่ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งยุติการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียแบบ 100% ทำให้ขาดแคลนถ่านหินมากถึง 1-2 ล้านตันเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงฤดูหนาว รัฐบาลโปแลนด์จึงต้องอัดฉีดงบประมาณกว่าหนึ่งพันล้านยูโรเพื่อสนับสนุนให้ครัวเรือนติดตั้งฉนวนของบ้านและระบบทำความร้อนที่มีประสิทธิภาพ ประเทศฝรั่งเศส มีการผลักดันแผน Energy Sobriety หรือมาตรการประหยัดพลังงานในประเทศ ลดการใช้พลังงานลง 10% จากปี 2019 ให้ได้ภายในปี 2024 เพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่มากถึง 1 ใน 5 ของประเทศ ประเทศเยอรมนี ก็ปรับลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเหลือ 35% จากเดิม 55% พร้อมให้คำมั่นยุติการนำเข้าพลังงานทั้งหมดจากรัสเซีย จึงกล่าวได้ว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้ต้นทุนพลังงานพุ่งสูงขึ้น กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่กระทบต่อกันเป็นลูกโซ่


ตัวอย่างข้างต้นคือความไม่แน่นอนด้านพลังงานที่ทุกประเทศต้องเผชิญ เป็นความเสี่ยงจากการบริหารจัดการพลังงาน ข้อจำกัดของสภาพแวดล้อม และการรับมือกับวิกฤตพลังงานในรูปแบบตั้งรับ หรือยังไม่ได้เตรียมพร้อมเพื่ออนาคตเท่าที่ควร


นิยามของการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า

เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถเผชิญความเสี่ยงด้านพลังงานได้ ถ้าเช่นนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน หนึ่งในทางออกที่ทุกประเทศสามารถทำได้ก็คือการอนุรักษ์พลังงาน หรือการร่วมมือกันลดการใช้พลังงาน ใช้อย่างรู้ค่า ใช้เท่าที่จำเป็น หรือสงวนไว้ให้มีพลังงานใช้ต่อไปอย่างยาวนาน ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ระดับบุคคล และในครัวเรือน เช่น การประหยัดไฟ การใช้รถสาธารณะ ไปจนถึงระดับองค์กรธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม เช่น การบริหารจัดการพลังงานในสถานประกอบการ หรือในระดับประเทศ เช่น การกำหนดนโยบาย หรือออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้พลังงาน


นอกจากการลดการใช้พลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นอีกแนวทางในการอนุรักษ์พลังงานให้มีอยู่อย่างยั่งยืน หลายคนอาจสงสัยว่า การอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservation) ต่างจากประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) อย่างไร เรามีคำตอบ


ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) เป็นคำที่นิยมแพร่หลายในบทความว่าด้วยพลังงานในปัจจุบัน มีความหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ดียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน กล่าวคือ ใช้พลังงานเท่าเดิม หรือน้อยลง แต่ได้ผลลัพธ์ที่มากกว่า ยกตัวอย่างหลอดไฟ LED ที่ใช้ไฟน้อยลง แต่สว่างมากขึ้น ส่วนการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservation) จะเน้นไปที่การใช้พลังงานให้น้อยลง หรือประหยัดพลังงาน เช่น การปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน การปิดเครื่องปรับอากาศช่วงพักเที่ยง หรือการหยุดพักเครื่องจักรบางช่วงเวลา


SCGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สร้างสรรค์นวัตกรรมสารเคลือบเตาเผาอุตสาหกรรมรายแรกในประเทศไทย ในชื่อ emisspro® (อีมิสโปร) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเตาเผาไหม้ โดยปรับปรุงการถ่ายโอนรังสีความร้อนของพื้นผิวที่ถูกเคลือบให้ดีขึ้น ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำพวกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์


ผลิตภัณฑ์สารเคลือบ emisspro® แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่างกัน คือ


emisspro® R-Series ผลิตภัณฑ์สารเคลือบเตาเผา ใช้สำหรับพ่นเคลือบวัสดุทนไฟทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น อิฐฉนวนทนไฟ ฉนวนใยแก้ว อิฐทนไฟมวลเบา และปูนทนไฟหนาแน่นสูง สามารถทนอุณหภูมิได้สูงถึง 1500 องศาเซลเซียส ช่วยยืดอายุการใช้งาน และช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงสูงสุดถึง 5% ต่อปี


emisspro® T-Series ผลิตภัณฑ์สารเคลือบผิวท่อ ช่วยดูดซับรังสีความร้อนของเตาเผาในโรงงานอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น ป้องกันการกัดกร่อนของกรดและสารเคมี ยืดอายุการใช้งาน ที่สำคัญ ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงสูงสุดถึง 5% ต่อปี และลด CO2 ได้กว่า 100,000 ตันต่อปี 



การเข้าถึงพลังงานอย่างยั่งยืน

ความสามารถในการเข้าถึงพลังงาน คือพื้นฐานสู่การสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งองค์การสหประชาชาติเล็งเห็นความสำคัญในข้อนี้ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนในบริบทของสังคมโลก และกำหนดให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา (Ensure access to affordable, reliable, sustainable and modern energy for all) มีเป้าประสงค์ครอบคลุม 3 เป้าหมายย่อยคือ


7.1 สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการ พลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้และเชื่อถือได้ ภายในปี 2579

7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลกภายในปี 2579

7.3 เพิ่มอัตราการปรับปรุง ประสิทธิภาพการใช้ พลังงานของโลกให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2579

7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัยและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเทคโนโลยี เชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2579

7.b ขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งบริการพลังงานที่เป็นสมัยใหม่และยั่งยืนให้โดยถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนา ที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ภายในปี 2579


การที่ประชากรโลกจะสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานได้อย่างยั่งยืน แหล่งพลังงานที่ว่านั้นจะต้องเป็นพลังงานสะอาด ที่นำมาหมุนเวียนใช้ได้ และไม่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม จากการประชุม “Global Expert Group” โดยสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Department of Economic and Social Affairs: UN DESA) และ UN-Energy เมื่อวันที่ 11 – 12 พฤษภาคม 2566 บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนทั่วโลกต่างเห็นพ้องกันว่า การเข้าถึงพลังงานสะอาดมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตั้งเป้าให้บรรลุผลภายในปี 2573 


ข้อมูลจากการหารือยังระบุอีกว่า หากอัตราการเข้าถึงไฟฟ้าของประชากรโลกยังค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในอัตราเท่าเดิมคือ จาก 84% ในปี 2543 เป็น 91% ในปี 2563 หรือเพียง 7% ในระยะเวลา 20 ปี ประชากรโลกอีกกว่า 1.9 พันล้านคนจะไม่สามารถเข้าถึงการทำครัวโดยใช้พลังงานสะอาด (clean cooking) ภายในปี 2573 โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกาที่ยังขาดการเข้าถึงพลังงาน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนให้สามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เมื่อย้อนกลับมามองในบ้านเรา แม้ว่าคนไทยส่วนมากจะสามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าและพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ แต่ก็ยังมีประชาชนในพื้นที่นอกเขตการใช้บริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ จึงต้องอาศัยพลังงานจากแหล่งอื่นในการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น โซลาร์เซลล์ ประกอบกับค่าไฟฟ้าที่ราคาสูงขึ้นจากต้นทุนด้านพลังงานก็อาจตัดโอกาสการเข้าถึงไฟฟ้าของคนบางกลุ่มเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งเดิม ก็สามารถช่วยให้ผู้คนเข้าถึงพลังงานได้มากขึ้น



SCGC ไม่หยุดนิ่งในการคิดค้นนวัตกรรมด้านพลังงาน จึงพัฒนานวัตกรรม SCGC Floating Solar Solutions ทุ่นลอยน้ำสำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ที่เสริมการใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 25 ปี ตอบโจทย์เมกะเทรนด์พลังงานทางเลือกที่หลายพื้นที่ทั่วโลกต่างกำลังต้องการ



จะเห็นได้ว่า พลังงานสะอาดคือหนึ่งในทางเลือกพลังงานแห่งอนาคต ที่จะปลดล็อกการเข้าถึงพลังงานของผู้คนบนโลก ให้มีกระแสไฟฟ้าใช้และมีพลังงานในการขับเคลื่อนกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะการใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ถือเป็นพลังงานที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้ หากมีการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เชื่อแน่ว่าทุกชีวิตบนโลกจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าวันวาน และมีพลังงานไว้ใช้อย่างไม่จำกัด


อนาคตด้านพลังงานของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร วิวัฒนาการด้านพลังงานของมนุษยชาติมาไกลขนาดไหน อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ พลังงานทดแทน และการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนทางพลังงาน



อ้างอิง 1

อ้างอิง 2

อ้างอิง 3

อ้างอิง 4


Is this article useful ?