close

11 ก.ค. 2566

เจาะเมกะเทรนด์ Urbanization และตัวอย่างนวัตกรรมรองรับการเติบโตของเมือง

Business Innovation Product

ตัวอย่างนวัตกรรมรองรับเมกะเทรนด์การเติบโตของเมือง (Urbanization)

เคยสังเกตหรือไม่ว่า ยิ่งเราอาศัยอยู่ในเมืองหลวงนานเท่าไหร่ เราจะรู้สึกว่าขนาดของเมืองนั้นค่อย ๆ เล็กลง และคับแคบมากขึ้นตามกาลเวลา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงดึงดูดของสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ความทันสมัย และโอกาสในการประกอบอาชีพ ที่ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและความเป็นเมืองยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านจำนวนประชากร ยิ่งประชากรเพิ่มขึ้น แนวโน้มการเติบโตของเมืองก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย


จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร นำมาซึ่งปัญหาด้านทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด และคุณภาพชีวิตของทุกคนบนโลก เป็นที่มาของ “วันประชากรโลก” (World Population Day) ที่กำหนดขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้นานาประเทศตระหนักถึงประเด็นปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากร รวมทั้งการวางแผนครอบครัวอย่างถูกต้อง เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยากจน และปัญหาสังคมที่ตามมา


Urbanization เมกะเทรนด์ ความเป็นเมือง และโอกาสในการออกแบบนวัตกรรม

การเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้เกิดเมกะเทรนด์ Urbanization ซึ่งเป็นเทรนด์การขยายตัวของเมืองที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ ยิ่งรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้น ยิ่งผลักดันให้ความเป็นเมืองขยายวงกว้างออกไป KPMG International Cooperation บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจระดับโลก ได้คาดการณ์จำนวนผู้มีรายได้ปานกลางในแต่ละทวีปไว้ว่า ในปี 2030 จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรายได้ประชากรอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้มีรายได้ปานกลางในทวีปเอเชียอาจเติบโตขึ้นจาก 525 ล้านคนในปี 2009 เป็น 3,228 ล้านคนในปี 2030 รองลงมาคือทวีปแอฟริกา มีแนวโน้มเพิ่มจาก 181 ล้านคนในปี 2009 เป็น 313 ล้านคนในปี 2030 ซึ่งแม้รายได้ของประชากรกลุ่มนี้จะไม่มากเท่ากับในทวีปยุโรปและอเมริกา แต่ก็มีส่วนทำให้ความเจริญของเมืองขยับขยายออกไป เพราะผู้คนได้เข้ามาแสวงหาโอกาสการทำงานในเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของธุรกิจขนาดใหญ่ จากนั้นก็ย้ายถิ่นฐานเข้ามาเพื่อความสะดวกสบาย


แล้วความเป็นเมืองส่งผลอย่างไรต่อการออกแบบนวัตกรรม คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่จะเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในเมือง ลองจินตนาการภาพของเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น ในเมืองนั้นก็จะประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน ที่พักอาศัย ระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงการใช้ไฟฟ้า ประปา และระบบการสื่อสาร หรือโทรคมนาคม มากไปกว่านั้น ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยียังส่งเสริมให้เมืองเกิดใหม่ดำเนินรอยตามเมืองใหญ่สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่เชื่อมโยงผู้คนจากต่างเมืองเข้าหากัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตจะมีการคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมารองรับการเติบโตของเมืองยุคใหม่ สนองตอบไลฟ์สไตล์ผู้คนที่ต้องการความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น



ตัวอย่างนวัตกรรม ตอบโจทย์ความเป็นเมืองจาก SCGC

SCGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนระดับภูมิภาค ก้าวทันทุกเมกะเทรนด์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเทรนด์การเติบโตของเมือง หรือ Urbanization เรามีฐานการผลิตที่กระจายอยู่ในภูมิภาคอาเซียนที่มีประชากรรวมกันราว 661 ล้านคน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตจากปัจจัยเกื้อหนุนเรื่องการขยายตัวของชนชั้นกลางและการเติบโตของเมือง มากไปกว่านั้น SCGC ยังไม่หยุดคิดค้นพัฒนา และออกแบบนวัตกรรมที่รองรับความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจจาก SCGC ได้แก่ นวัตกรรมพลาสติกหุ้มสายเคเบิลป้องกันการลามไฟ ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ มุ่งแก้ปัญหาไฟไหม้สายเคเบิลใยแก้วนำแสง ที่มักเกิดเพลิงไหม้ลุกลามเป็นวงกว้างจากวัสดุพลาสติกที่ห่อหุ้มสายเคเบิลฯ แบบเดิม และด้วยเทคโนโลยีจำเพาะจาก SCGC ปัญหานี้ก็ได้รับการแก้ไข เกิดเป็นพลาสติกที่สามารถหน่วงไฟได้ และมีนํ้าหนักเบาลง ลดปัญหาเพลิงไหม้สายเคเบิลฯ ที่อาจเป็นอันตรายได้


ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น SCGC ยังออกแบบนวัตกรรมพลาสติก HDPE สำหรับท่อทนแรงดันสูงที่พลิกโฉมการวางระบบท่อด้วยการติดตั้งแบบลอดใต้ผิวดิน เหมาะกับงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยลดปัญหาการวางท่อในเมืองที่มักมีการขุดเจาะถนนเพื่อเปิดหน้าดิน ผ่านการรับรองมาตรฐานจากยุโรป EN 1555-1 เป็นรายแรกในอาเซียน


เมืองเปลี่ยน แล้วโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร

กระแสการเติบโตของเมือง หรือ Urbanization สามารถวัดได้จากจำนวนประชากรที่ไหลเข้าสู่พื้นที่เขตเมือง เคยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกกว่า 61% จะมาจากกิจกรรมในเมืองใหญ่ราว 750 เมือง คิดเป็น 22% ของจำนวนเมืองในโลก ด้าน PWC ประเมินว่าภายในปี 2050 จะมีสัดส่วนประชากรที่อาศัยในเมืองราว 72% เพิ่มจากปัจจุบันที่ 50% เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในเมืองใหญ่นั่นเอง


เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วคือแรงจูงใจให้คนเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่ และยังทำให้พื้นที่รอบข้างค่อย ๆ กลายเป็นเขตเมืองที่ประชากรที่อยู่อาศัยมีรายได้ดีขึ้น และมีกำลังในการจับจ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เกิดการจ้างงาน สร้างการต่อยอดทางเศรษฐกิจอีกไม่รู้จบ ทว่าในทางตรงกันข้าม เมกะเทรนด์ Urbanization ก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมา อาทิ ปัญหาความแออัด การขาดแคลนทรัพยากร มลพิษ ค่าครองชีพ และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมืองและคนในชนบท


เมื่อกระบวนการกลายเป็นเมืองนำมาทั้งโอกาสและสารพันปัญหา “การกลายเป็นเมืองอย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Urbanization จึงเป็นแนวคิดที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การกลายเป็นเมืองอย่างยั่งยืนจะไม่ได้มุ่งเน้นแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพลิกโฉมของเมืองสู่ความเจริญเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญในแง่ของสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คน และพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดในอนาคต ตัวอย่างการเปลี่ยนสู่ความเป็นเมืองอย่างยั่งยืน ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นที่ห่างไกล รวมทั้งการวางแผนรับมือปัญหาที่คาดว่าจะตามมาจากการขยายตัวของเมือง เช่น การวางผังเมือง การจัดการจราจร ปัญหาขยะ และปัญหามลพิษ เป็นต้น


ตราบใดประชากรโลกยังคงแสวงหาโอกาสและคุณภาพชีวิต สังคมเมืองที่เคยอยู่อย่างจำกัดก็จะขยายวงกว้างออกไปเพื่อโอบรับผู้คนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่รองรับเมกะเทรนด์การขยายตัวของเมืองที่ถูกพัฒนามาแล้วให้ดียิ่งขึ้น ล้ำหน้าขึ้น และถูกคิดค้นต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง นับจากนี้เราน่าจะได้เห็นการออกแบบนวัตกรรมที่ดีกับทุกชีวิต และพร้อมสำหรับการกลายเป็นเมืองที่ยั่งยืน



Is this article useful ?