close

18 พ.ย. 2565

ภารกิจพิทักษ์ท้องทะเลไทย ลดปัญหาขยะ

Circular Economy Sustainability CSR

ปัญหาขยะทะเล หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแสที่ทำให้ผู้คนตื่นตัวและหันมาใส่ใจกับการจัดการพลาสติกเหลือใช้กันมากขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่า ปัญหาขยะทะเลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาด้านระบบนิเวศในท้องทะเลเท่านั้น เพราะการจะดูแลรักษาท้องทะเลไทยอย่างยั่งยืน นอกจากการไม่ให้ขยะหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำแล้ว ยังต้องมีการฟื้นฟูระบบนิเวศ และคืนสมดุลให้ธรรมชาติ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกและความรู้ในการจัดการขยะอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง ที่สำคัญต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เรามีภารกิจพิทักษ์ทะเลไทย ที่มุ่งมั่นทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและภาคประชาชน บวกกับการพัฒนานวัตกรรมจาก SCGC ก็ทำให้บทบาทผู้พิทักษ์ทะเลไทยของ SCGC ชัดเจน เห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรม และครอบคลุมการแก้ปัญหาระบบนิเวศทางทะเลแบบครบวงจร

ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ - ริเริ่มจัดการขยะทะเลตั้งแต่ต้นทาง

การรับมือกับปัญหาขยะที่ดีที่สุด คือการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง SCGC จึงริเริ่มโครงการ “บางซื่อโมเดล” เชิญชวนพนักงานเอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ ร่วมกันจัดการของเสียภายในองค์กรอย่างถูกวิธี ด้วยแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”  โดยปรับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อต่อการแยกขยะอย่างถูกต้อง พร้อมสร้างค่านิยมในการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง ก่อนจะต่อยอดไปสู่การบริหารจัดการขยะในชุมชนผ่านโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ในจังหวัดระยอง โดยใช้กลยุทธ์ผสาน 3 สถาบันหลักของชุมชน ทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน เข้ากับธนาคารขยะชุมชน พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) มาเป็นตัวช่วยจัดการข้อมูลให้กับธนาคารขยะและสมาชิกของโครงการ

การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพราะการคัดแยกขยะจะทำให้พลาสติกเหลือใช้ได้มีโอกาสไปรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการหลุดรอดไปสู่แหล่งน้ำ เป็นวิธีการที่เข้าถึงต้นตอของปัญหา และสามารถส่งต่อค่านิยมในการแยกขยะไปสู่ผู้คนในสังคมได้อีกทาง

ทุ่นกักขยะลอยน้ำ - ดูแลแหล่งน้ำ ลดขยะหลุดรอดลงสู่ทะเล

นอกจากการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางแล้ว SCGC ยังเพิ่มการดูแลแหล่งน้ำอีกขั้น โดยใช้นวัตกรรมที่เราพัฒนาขึ้นมาเพื่อดักจับขยะไม่ให้หลุดรอดสู่แหล่งน้ำ นั่นคือ “นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ (SCG-DMCR Litter Trap)” ที่ SCGC ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ยกระดับการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ (SCG-DMCR Litter Trap) ได้พัฒนามาจากทุ่นดักขยะแบบแนวตรง (Oil Boom) ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้คิดค้นขึ้นเมื่อปี 2651 มีขนาดกว้าง 1.8 เมตร และยาว 5 เมตร โดยใช้วัสดุหลักคือ ท่อ PE100 ที่เหลือจากการทดสอบขึ้นรูปในโรงงาน ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน แถมยังตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

นวัตกรรมทุ่นกักขยะนี้ ใช้กลไกฝาเปิด-ปิดที่อาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดันเพื่อกักเก็บขยะที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ไม่ให้หลุดลอยออกนอกทุ่นตามทิศทางของกระแสน้ำที่เปลี่ยนไปจากอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง สามารถกักเก็บขยะได้สูงสุด 700 กิโลกรัมต่อวัน ก่อนที่จะต่อยอดนวัตกรรมไปสู่ “ทุ่นกักขยะลอยน้ำ จาก HDPE-Bone (SCG-DMCR Litter Trap Generation 2)” ซึ่งผลิตจากวัสดุลอยน้ำ HDPE-Bone เป็นพลาสติกเกรดพิเศษ สามารถลอยน้ำได้ดีขึ้น ทนทานต่อรังสียูวี อายุการใช้งานยาวนาน 25 ปี ประกอบและติดตั้งได้ง่ายขึ้น จัดเก็บขยะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

บ้านปลา - รักษาระบบนิเวศทางทะเล

SCGC มีภารกิจพิทักษ์ท้องทะเลอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงแต่การรับมือกับปัญหาขยะ แต่ยังรวมถึงการดูแลระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย จึงเป็นที่มาของโครงการ “บ้านปลา” ที่ SCGC ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 โดยเริ่มต้นจากปากคลองแกลง จังหวัดระยอง และขยายผลไปยังบริเวณชายฝั่งทะเล ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด ปัจจุบัน SCGC สร้างบ้านปลาใต้ท้องทะเลไทยไปแล้วกว่า 2,180 หลัง ในพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 47 ตารางกิโลเมตร

บ้านปลาของ SCGC สร้างขึ้นจากท่อ PE100 ซึ่งเป็นพลาสติกพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE - High Density Polyethylene) เกรดพิเศษที่เหลือจากกระบวนการขึ้นรูปในโรงงาน เม็ดพลาสติกดังกล่าวผ่านกระบวนการทดสอบคุณสมบัติทั้งจาก SCGC เอง และจากสถาบัน VTT ประเทศฟินแลนด์ รวมทั้งสถาบันอื่น ๆ ทั่วโลก พบว่าปลอดภัยไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทนต่อการกัดกร่อนและแรงดันได้สูง ทำให้มีอายุการใช้งานนานกว่า 50 ปี สำหรับรูปทรงของบ้านปลาเป็นทรงสามเหลี่ยมพีระมิด ที่ออกแบบให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประมง และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอีกด้วย

กิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล
ร่วมเก็บขยะสร้างจิตสำนึกรักทะเล

นอกจากนี้ SCGC ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบ้านฉาง จังหวัดระยอง รวม 23 องค์กร จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล หรือ International Coastal Cleanup ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเน้นสร้างพลังคนรุ่นใหม่และสื่อสารไปยังทุกภาคส่วนให้ร่วมมือกันดูแลท้องทะเล เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ อย่างการเก็บขยะชายหาด สู่การให้ความรู้ด้านการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ไปจนถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เพื่อสร้างแหล่งทำกินที่ยั่งยืนให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน และส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ให้กับทุกคน

จะเห็นได้ว่า ภารกิจพิทักษ์ทะเลไทยของ SCGC ได้ถูกคิดขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่ขยะหลุดออกจากมือผู้บริโภคก็มีการจัดการอย่างถูกต้อง มีการป้องกันอีกขั้นไม่ให้ขยะหลุดรอดสู่แหล่งน้ำ ไปจนถึงการดูแลระบบนิเวศทางทะเล ณ ปลายทางที่บ้านปลา บ่งบอกถึงความตั้งใจในการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน


Is this article useful ?