close

15 พ.ย. 2565

5 ไฮไลต์จาก SCGC เพื่อการจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน

Business ESG Circular Economy Sustainability CSR

นอกเหนือจากการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลกและการใช้งานแล้ว เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะความท้าทายด้านการจัดการขยะที่เราดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่าน 5 กิจกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานคิดของการขับเคลื่อน Circular Economy หรือ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมของบริษัท

ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ

บางซื่อโมเดล คือ ภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของนโยบายการจัดการขยะภายในองค์กรของ SCGC ซึ่งเป็นโมเดลการจัดการขยะภายในบริษัทที่ส่งเสริมให้พนักงานเกิดพฤติกรรม “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”  และถูกต่อยอดเป็นโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ที่เราได้ส่งต่อองค์ความรู้และชุดพฤติกรรมเพื่อบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางในชุมชนจังหวัดระยอง 

SCGC ได้ขับเคลื่อนโครงการนำร่องนี้ที่ชุมชนเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ผ่านโครงการ “บ-ว-ร” (บ้าน วัด โรงเรียน) ที่เชื่อมกับธนาคารขยะของชุมชน ทำให้เกิดการบูรณาการทั้งระบบ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น เรายังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ช่วยเก็บข้อมูลและเชื่อมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทั้งยังช่วยวางแผนกลยุทธ์การซื้อขายขยะได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับขยะ และเพิ่มโอกาสการจำหน่ายขยะแต่ละชนิดไปยังโรงงานรีไซเคิลและโรงหลอมได้โดยตรง

โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ได้รับความนิยมอย่างมากและขยายผลไปอย่างกว้างขวาง (จากแผนเดิมที่ SCGC ตั้งเป้าไว้ที่ 700 ครัวเรือน) ข้อมูลเดือนธันวาคม 2564 ระบุว่ามีสมาชิกทั้งหมด 3,589 บัญชีในเขตระยองที่ฝากขยะผ่านแอปพลิเคชั่นคุ้มค่า และมียอดสะสมขยะรีไซเคิลที่เข้าสู่ระบบแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ (เดือนเมษา 2562 ถึงเดือนธันวาคม 2564) อยู่กว่า 178 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 464,406 บาท โดยปริมาณขยะรีไซเคิลทั้งหมดที่เก็บเข้าสู่ระบบสามารถคำนวณเพื่อเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ 134,242 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2eq)

บ้านปลาเอสซีจีซี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 ชุมชนชายฝั่งของจังหวัดระยองประสบปัญหาปริมาณสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องออกเรือจากฝั่งไปไกลเกือบ 10 กิโลเมตรเพื่อทำการประมง SCGC ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูทรัพยากรทะเลชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งทำกินของประมงพื้นบ้านและเป็นเสมือนคลังอาหารของประเทศ จึงได้นำ PE100 ซึ่งเป็นพลาสติกพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE - High density polyethylene) เกรดพิเศษที่เหลือจากกระบวนการขึ้นรูปทดสอบมาใช้สร้าง “บ้านปลา” โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) และกลุ่มประมงพื้นบ้านของจังหวัดระยอง 

เราได้ทดลองนำพลาสติกเหลือใช้จากทะเลและชุมชน เช่น ฝาขวดน้ำ ถุงพลาสติกหูหิ้ว มาคัดแยกผสมกับเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษของ SCGC เพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลาในปี 2560 รวมถึงการพัฒนาการวางบ้านปลาแบบใหม่ที่เรียกว่า “หมู่บ้าน” โดยยึดโยงบ้านปลา 10 หลัง เข้าไว้ด้วยกันตั้งแต่อยู่บนบก และใช้แพจากทุ่นพลาสติกเพื่อขนส่งบ้านปลาทั้งหมดไปในบริเวณที่ต้องการวางบ้านปลา ทำให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาการวางบ้านปลา และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการวางแบบเดิม 

ตลอดระยะของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปีปัจจุบัน SCGC ได้วางบ้านปลาครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกไปแล้วจำนวน 2,240 หลัง ครอบคลุมพื้นที่ในทะเลตั้งแต่จังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราดและระนอง ของกลุ่มประมงทั้ง 43 กลุ่ม และคิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 50 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 174 ชนิด นอกจากนี้เรายังมีแผนที่จะสรุปบทเรียนการดำเนินโครงการในวาระที่กำลังจะครบ 10 ปี อีกด้วย

นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ

หากวิเคราะห์จากแหล่งที่มาของขยะในทะเล มีเพียง 20% เท่านั้นที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางทะเลโดยตรง เพราะขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมบนบก SCGC เข้าใจข้อเท็จจริงนี้และต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาขยะในทะเล โดยเฉพาะการนำพลาสติกใช้แล้วมาหมุนเวียนใช้ให้ได้มากที่สุด เราจึงร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พัฒนานวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ ซึ่งมีอยู่ 2 รุ่น คือ นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำรุ่น 1 (SCG – DMCR Litter Trap: Generation 1) และ ทุ่นกักขยะลอยน้ำจาก HDPE-Bone (SCG-DMCR Litter Trap Generation 2)

นวัตกรรมทุ่นกักขยะทั้งสองรุ่นมีคุณสมบัติทนต่อกระแสน้ำ ทนแสงแดดได้ในระยะยาว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังประกอบง่าย สะดวกในการขนย้าย และหากเสื่อมสภาพหรือได้รับความเสียหายยังสามารถนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมดอีกด้วย

ปัจจุบัน SCGC ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตั้งทุ่นกักขยะลอยน้ำรวมกว่า 37 ชุด ใน 17 จังหวัด สามารถลดปริมาณขยะลงสู่ทะเลได้กว่า 71 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2564)

วันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล

เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องขยะคือทรัพยากร ส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง และดูแลจัดการขยะอย่างเหมาะสมเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง SCGC ให้ความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรม “วันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล” หรือ “International Coastal Cleanup” (ICC) อย่างต่อเนื่อง สำหรับกิจกรรมของปี 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ภายใต้ธีม #SeatheChange เราและจิตอาสากว่า 450 คน ร่วมเก็บขยะบริเวณชายหาดแสงจันทร์-แหลมเจริญ อำเภอเมือง และบริเวณหาดน้ำริน-หาดพยูน-หาดพลา อำเภอ บ้านฉาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดระยอง

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีของการจัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล ที่มี SCGC เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ ช่วยเก็บขยะไปได้แล้วกว่า 850,000  ชิ้น รวมน้ำหนักทั้งสิ้นกว่า 95,000 กิโลกรัม โดยข้อมูลของขยะที่เก็บได้จะถูกส่งไปยังองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรวมกับประเทศอื่น ๆ นำไปสู่การแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน

ผนึกกำลังเครือข่ายระดับโลก

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และร่วมกันพัฒนานวัตกรรม SCGC ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ ได้แก่ Alliance to End Plastic Waste (AEPW), The Ocean Cleanup และ Ellen MacArthur Foundation (EMF) 

ราเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งและผู้สนับสนุนการดำเนินงานของ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รวมบริษัทระดับโลกในห่วงโซ่คุณค่าของวงการพลาสติก โดย SCGC เป็นฟันเฟืองหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของ AEPW ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังเร่งแก้ไขปัญหาขยะในทะเลและการนำพลาสติกใช้แล้วกลับมาสร้างมูลค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วนการร่วมมือกับ The Ocean Cleanup สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นการลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย ความร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลเรื่องขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไหลลงสู่ทะเลที่ชัดเจนและถูกต้อง เพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการขยะและนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ในส่วนของความร่วมมือกับ Ellen MacArthur Foundation (EMF) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2010 เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันทุกภาคส่วนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) SCGC ได้ใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนจากตัวแทนของมูลนิธิและบริษัทสมาชิกอื่น ๆ เพื่อนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และเผยแพร่ให้กับทุกภาคส่วนในประเทศไทย การเข้าร่วมกับ EMF ยังเป็นโอกาสดีที่ให้ SCGC ได้นำเสนอแนวคิดและและโครงการต่าง ๆ ของเราที่ส่งเสริมการนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการสร้างมูลค่าอีกครั้ง ล่าสุดนำไปสู่ความร่วมมือในโคงการ Stretch Wrap Alternative Project (SWAP) ที่ศึกษาการนำฟิล์มยืดพันพาเลท (Stretch Wrap) กลับมาใช้ซ้ำตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน  

SCGC เชื่อว่าหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดีตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง จะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ก ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เรายังคงมุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมพลาสติกเพื่อทุกความเป็นไปได้ และขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างไม่หยุดยั้ง


Is this article useful ?