close

17 ธ.ค. 2563

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 12: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “เทศบาลเมืองทุ่งสง”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “เทศบาลเมืองทุ่งสง” 

ปัญหาขยะล้นเมือง
ขยะเป็นปัญหาของเทศบาลเมืองทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มาเนิ่นนาน ที่นี่เป็นเมืองชุมทางที่มีผู้คนเดินทางผ่านไปมาตลอดเวลา มีประชากรกว่า 32,000 คน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นประชากรแฝงจากพื้นที่อื่น มีขยะเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่พื้นที่ฝังกลบไม่เพียงพอ ขยะเป็นปัญหาที่เทศบาลเมืองทุ่งสงต้องหาทางออกให้ได้

โดยขยะในเขตเทศบาลทุ่งสงวันหนึ่งมีมากกว่า 50 ตัน ถ้านำไปฝังกลบทั้งหมดจะเสียค่าฝังกลบถึงปีละ 4 ล้านบาท ดังนั้นถ้าไม่มีการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง นอกจากปัญหาขยะล้นเมืองแล้ว ยังต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการจัดการขยะอีกด้วย

พื้นที่ต่างกัน ใช้วิธีไม่เหมือนกัน
ทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง กล่าวถึงปัญหาขยะที่จะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในอนาคต หากไม่รีบจัดการ “การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากตัวเรา ดังนั้นสิ่งที่ต้องทบทวนคือ หาวิธีการที่เหมาะสมกับชุมชนของเรา

เทศบาลได้ส่งพี่เลี้ยง ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่กองช่างสุขาภิบาลของเทศบาลเข้าไปช่วยดูแลให้ความรู้การจัดการขยะในชุมชนทั้ง 20 ชุมชน เจ้าหน้าที่ของเทศบาลจะลงพื้นที่ไปให้ความรู้ชาวชุมชน สาธิตการแยกขยะจากถังขยะของชุมชนเอง ใช้วิธีเทขยะออกมาทั้งหมด แล้วคัดแยกเป็นประเภทต่าง ๆ ทำให้เห็นว่า เมื่อแยกขยะ มีขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เกือบทั้งหมด การให้พี่เลี้ยงเข้าไปช่วยให้คำแนะนำ ทำให้ชุมชนเข้าใจและเห็นความสำคัญการคัดแยกขยะ การจัดการขยะในเขตเทศบาลทุ่งสงจึงเห็นผลในเวลาอันรวดเร็ว

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
เทศบาลเมืองทุ่งสง อ.ทุ่งสง ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นอนาคตของทุ่งสง เด็กและเยาวชนของ 6 โรงเรียนในเขตเทศบาลทุ่งสง ซึ่งมีนักเรียนรวมกว่า 4,600 คน ได้รับการปลูกฝังความรู้และจิตสำนึกการจัดการขยะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เด็ก ๆ จะถูกปลูกฝังให้ทำหน้าที่สื่อสารต่อไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย กลับบ้านต้องไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง คัดแยกขยะร่วมกับผู้ปกครอง เป็นการขยายผลสู่ครัวเรือน โดยมีนักเรียนเป็นผู้นำ

โครงการ “พลิกถุงพลิกโลก” ยังช่วยลดปริมาณขยะจากถุงนมโรงเรียนที่จำนวนมากถึง 3,200 ถุงต่อวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อดื่มนมหมดแล้ว นักเรียนทุกคนต้องล้างถุงนม โดยพลิกล้างทั้งสองด้าน แล้วเอาไปตากแดดขจัดความชื้น โรงเรียนจะรวบรวมส่งให้เทศบาล เพื่อนำถุงนมที่ล้างสะอาดแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรรูปให้เป็นขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) แล้วส่งต่อให้โรงงานปูนซิเมนต์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด ในเอสซีจี นำไปทำเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงหลักในภาคอุตสาหกรรม

ส่วนขยะที่เหลือให้สร้างมูลค่าได้อีกคือ ขยะอินทรีย์ เช่น กับข้าว เศษอาหาร ต้นกล้วย มะพร้าว ฯลฯ จะถูกมาทำปุ๋ย มีทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง โดยชาวบ้านนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ทำให้พืชพันธุ์เจริญงอกงามได้ ผสมน้ำให้สัตว์เลี้ยงกินเป็นยาระบายท้องได้ดีอีกด้วย และชาวบ้านยังเอาไปใช้ล้างทำความสะอาดคอกหมูก็ได้ผลดีไม่น้อย

ดาวน์โหลด Waste to Wealth... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth/


Is this article useful ?