close

17 ธ.ค. 2563

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 10: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “วิภาวดีฯ ไม่มีขยะ”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “วิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” 

ถนนสายธุรกิจ ถนนสายขยะ
ถนนวิภาวดีฯ เป็นที่ตั้งของบริษัทเอกชนชั้นนำต่าง ๆ ที่สำคัญของประเทศ และนั่นอาจอนุมานได้ว่าต้องเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีแนวโน้มปริมาณขยะเกิดขึ้นมาก ยิ่งหากขาดการจัดการอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพแล้ว อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบในภายหลังได้

ในทางกลับกัน หากบริษัททุกแห่งบนถนนธุรกิจแห่งนี้ ร่วมมือกันจัดการขยะอย่างเป็นระบบ น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจให้เกิดขึ้นได้ ด้วยความคิดริเริ่มของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network หรือ TRBN) จึงเกิดการรวมพลังของ 31 องค์กรชั้นนำบนถนนวิภาวดีฯ เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงถนนเส้นนี้ให้สะอาด สวยงาม เป็นแบบอย่างที่ดี

เพื่อให้เป็น “วิภาวดีฯ ไม่มีขยะ”

เริ่มต้น เพื่อต่อยอดอย่างยั่งยืน
ฟันเฟืองสำคัญของโครงการวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ คือ พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย หรือ TRBN

เธอเล่าย้อนให้ฟังว่า ทางองค์กรเป็นผู้นำข้อมูลและความเป็นจริงมาบอกบริษัทบนถนนวิภาวดีว่า ประเทศไทยมีปัญหาขยะมากแค่ไหน ภาครัฐมีวิธีการรับมือและจัดการอย่างไร แล้วบริษัทต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทาง เป็นผู้ผลิตขยะสามารถที่จะช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าช่วยแล้วจะเกิดผลดีกับเราและส่วนรวมอย่างไร หรือถ้าเราจัดการขยะในองค์กรแล้วจะมีหน่วยงานหรือบริษัทใดบ้างที่จะต่อยอดนำขยะนี้ออกไปจัดการหมุนเวียนเป็นทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี รวมทั้งมีองค์กรใดบ้างที่จะสนับสนุนองค์ความรู้เฉพาะทางที่ช่วยเติมเต็มการจัดการขยะของเราให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในองค์กรที่ช่วยเติมเต็มการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ ก็คือบริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดของโครงการนี้ โดยทุกบริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องกลับไปจัดการขยะภายในองค์กรของตัวเองให้ดี รวมทั้งเก็บบันทึก และส่งข้อมูลที่เป็นจริงมาให้ GEPP ข้อมูลจะเป็นตัวชี้วัดว่าแต่ละองค์กรจัดการขยะได้ดี มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมีอะไรที่ต้องจัดการให้ดีขึ้นได้อีก

เผยแพร่ความรู้ ขยายผลความร่วมมือ
โครงการวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ ปัจจุบันประกอบด้วยบริษัทสมาชิกทั้งสิ้น 31 บริษัท โดยทุกบริษัทจะส่งข้อมูลการจัดการขยะของตนให้กับ GEPP บันทึกเก็บไว้

โดยเป้าหมายหลักที่สำคัญของปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของโครงการ มีดังต่อไปนี้

  • มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและบทเรียนที่เป็นประโยชน์ระหว่างกันของบริษัท
  • ต้องเพิ่มอัตราการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้มากและมีประสิทธิภาพในการหมุนเวียนมากขึ้น
  • ลดภาระการฝังกลบ และลดปริมาณขยะหลุดออกสู่ธรรมชาติ
  • เกิดโมเดลการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการจัดการขยะมูลฝอยภายในอาคารและเชิงพื้นที่

นอกจากนั้น โครงการวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ ยังหวังผลลัพธ์ คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้คนบนถนนวิภาวดีฯ และให้ผู้คนในสังคมตระหนักรู้เรื่องการจัดการขยะให้มากขึ้น

สำหรับปี 2564 โครงการยังมีเป้าหมายหลักต่อเนื่อง ได้แก่ เกิดนวัตกรรมในการจัดการขยะและนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพและขยายผลได้มากกว่าเดิม มีบริษัทในเครือข่ายนำไปขยายผลในธุรกิจของตน รวมทั้งบูรณาการเรื่องการจัดการของเสีย และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ และขยายผลไปสู่บริษัทและพื้นที่อื่น ๆ

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
ก.ล.ต. ถือเป็นบริษัทสำคัญที่ร่วมผลักดันโครงการวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน หลังร่วมเปิดตัวโครงการทางองค์กรกำหนดให้มีการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง โดยการคัดแยกขยะของที่นี่แบ่งเป็น 8 ประเภทคือ 1. ขยะเศษอาหาร 2. พลาสติกสะอาด 3. กระป๋องและะกล่องกระดาษสะอาด 4. ขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย 5. กระดาษสี 6. กระดาษขาวดำ 7. ถุงแกงและกล่องโฟม และ 8. ขยะฝังกลบ เช่น ทิชชู ไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบลูกชิ้น ซึ่งขยะทุกประเภทล้วนได้รับการนำไปจัดการต่ออย่างถูกวิธี

ก.ล.ต. ยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยการกำกับดูแลให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูลว่าทางบริษัทได้ดำเนินการทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือที่บ่งบอกว่ามีการรับผิดชอบต่อสังคม และมีธรรมาภิบาลที่ดีอย่างไรบ้าง โดยระบุในรายงานประจำปี 2564 เพื่อเผยแพร่ในปี 2565 มิได้เปิดเผยแต่เรื่องของงบดุลอย่างเดียว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ ก.ล.ต. มีการกระตุ้นให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมลงในรายงานประจำปี

บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ “อีสท์วอเตอร์” เป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการน้ำ ก็นำการคัดแยกขยะไปปรับใช้กับองค์กร โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อีสท์วอเตอร์สามารถนำขยะมารีไซเคิลได้ถึง 3,132 กิโลกรัม คิดเป็น 28% ของจำนวนขยะทั้งหมด และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ถึง 1,727.67 กิโลกรัม

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เริ่มต้นจัดการ e-waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์มาก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ แต่การเข้าร่วมโครงการนี้กระตุ้นให้คนทิ้ง e-waste ถูกต้องมากขึ้น โดยเอไอเอสมีจุดทิ้ง e-waste ทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 1,806 จุด จากที่ไม่ค่อยมีผู้คนตระหนักรู้ กลับกลายเป็นว่าหลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ มีผู้คนทิ้งขยะมากถึง 49,952 ชิ้น ภายในระยะเวลา 7 เดือน สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึง 499,520 กิโลกรัมคาร์บอน หรือเทียบเท่ากับต้นไม้ขนาดใหญ่ จำนวน 55,502 ต้น ดูดซับก๊าซดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปีเต็ม


ดาวน์โหลด Waste to Wealth... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth/


Is this article useful ?