close

13 ธ.ค. 2563

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 9: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “ไร่เชิญตะวัน”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “ไร่เชิญตะวัน” 

คนมาก ปริมาณขยะก็ยิ่งมาก
ในช่วงปลายปีจะมีงานสวดมนต์ข้ามปี และงานเทศกาลดอกไม้ นักท่องเที่ยวก็จะทะลักมาก มาเที่ยวที่ไร่เชิญตะวันวันละเป็นหมื่น ปัญหาที่ตามมาก็คือขยะล้นมาก จนทำให้ทัศนียภาพความสวยงามภายในไร่สูญเสียไปเลย ตอนเช้าจะมีถุงพลาสติกห้อยตามกิ่งไผ่ ขวดน้ำอีก 200-300 ขวด ซุกตามต้นไผ่สองข้างทางเต็มไปหมด ที่ยิ่งกว่านั้นไร่จะมีพระพุทธรูปปางลีลา ปรากฏว่าที่มือของพระพุทธรูปมีถุงน้ำพลาสติกไปห้อยอยู่

นั่นคือเหตุการณ์ที่ พระเมธีวชิโรดม หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี ผู้ก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้ประสบด้วยตัวเองเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และทำให้พระอาจารย์ตระหนักว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

พระอาจารย์มองว่าสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนคือการสร้างคน และวิธีการสร้างคนดีที่สุด คือ การให้ความรู้และเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อขยะ พระอาจารย์เริ่มจากตนเองและคนใกล้ชิด ได้แก่เจ้าหน้าที่ระดับผู้นำในไร่ จากนั้นจึงค่อยกระจายต่อไปยังนักท่องเที่ยว ชาวบ้าน และผู้คนในองค์กรอื่น ๆ

จัดการเองเพื่อความยั่งยืน
การคัดแยกขยะของที่ไร่เชิญตะวันแห่งนี้มีเพียงแค่ 4 ถัง นั่นคือ 1. ขยะพลาสติกจำพวกขวดน้ำ ถุงพลาสติก 2. ขยะจำพวกขวดแก้ว และอะลูมิเนียม 3. ขยะจำพวกกระดาษ และ 4. ขยะทั่วไป สาเหตุที่ไม่มีถังสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะมีพิษ เพราะนักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ จะมาเยี่ยมชมความสวยงามของไร่ ไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนเอาขยะประเภทดังกล่าวมาทิ้ง

ขยะทั้ง 4 ประเภท จะถูกนำไปคัดแยกที่โรงคัดแยกขยะ ขยะพลาสติก จะมีเครือข่ายมารับซื้อเอาไปสกัดทำน้ำมัน บางส่วนก็นำมาตัดเป็นเส้นแล้วสานเป็นตะกร้าและเชิงเทียนไว้ขายนักท่องเที่ยว ขยะจำพวกขวดแก้วและอะลูมิเนียมก็จะนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น นำกระป๋องกาแฟมาทากาวต่อกันเป็นเก้าอี้ หรือจะทำเป็นตะกร้าก็ได้ ส่วนกระดาษก็นำไปให้ชาวสวนกระท้อนและฝรั่งรอบ ๆ ไร่เอาไปห่อผลป้องกันแมลง ขณะที่ขยะทั่วไปจะถูกนำมาคัดแยกอีกครั้ง ถ้าเป็นพวกเศษผัก เศษอาหาร ก็นำไปเลี้ยงไส้เดือน จนเหลือส่วนที่จัดการไม่ได้จริง ๆ ก็จะให้เทศบาลตำบลห้วยสักมารับไปจัดการอย่างถูกต้องต่อไป

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
โครงการขุมทองกลางกองขยะ คือโครงการที่เปลี่ยนแปลงทัศนคติของพนักงานและชาวบ้านที่อยู่รอบไร่เชิญตะวัน ให้มองเห็นขยะเป็นขุมทรัพย์และของมีค่า โดยนำขยะที่คัดแยกแล้วมาแลกเปลี่ยนเป็นของกินของใช้ ซึ่งของกินของใช้ที่ชาวบ้านนำกลับไปคือ เครื่องสังฆทานที่ญาติโยมนำมาถวายนั่นเอง

สำหรับขยะเศษอาหาร ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมากในแต่ละวัน จะถูกนำมาเป็นอาหารเพาะพันธุ์ไส้เดือน หากเศษอาหารมีขนาดใหญ่จะถูกนำมาบดหรือสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อน ส่วนอาหารที่ดูแล้วมีรสจัดจะถูกนำไปล้างหรือหมักไว้ให้บูดสัก 1-2 คืนก่อนนำไปใช้งาน นี่คือวิธีการจัดการขยะเศษอาหารอย่างชาญฉลาดเป็นธรรมชาติ และยิ่งจัดการก็ยิ่งมีแต่เพิ่มพูน

โรงเรียนชาวนา หรือชื่อเต็มคือ โรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ เปิดสอนวิชาการจัดการขยะ โดยสอนตั้งแต่เรื่องวิธีคิดว่าทำไมต้องจัดการขยะ จัดการไปทำไม ทำไปแล้วได้อะไร ขยะมีกี่ชนิดต้องแยกอะไรบ้าง ฯลฯ หลังจากนั้นก็ให้ทุกคนเอาไปปฏิบัติในชีวิตจริงเลย สาเหตุที่ ท่าน ว.วชิรเมธี นำมาบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนนี้ ก็เพื่อที่ว่าจะได้ปลูกฝังเรื่องของการจัดการขยะในชีวิตของนักเรียนทุกคน เป็นการจัดการขยะแบบยั่งยืนและเป็นจริงในระยะยาว ไม่ใช่แค่ทำชั่วคราวแล้วก็ไม่เห็นความสำคัญ

​ดาวน์โหลด Waste to Wealth... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth/


Is this article useful ?