close

13 ธ.ค. 2563

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 8: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “ชุมชนบ้านมดตะนอย”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “ชุมชนบ้านมดตะนอย” 

อดีตคือชุมชนแห่งขยะ
ชุมชนบ้านมดตะนอย ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ติดกับท้องทะเลอันดามัน ผู้คนเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม และหาเลี้ยงปากท้องด้วยอาชีพประมง

ขยะของชุมชนแห่งนี้มาจาก 2 ทาง ทางแรกจากทะเล เวลาน้ำทะเลหนุนขึ้นมาแต่ละครั้งก็จะนำขยะขึ้นฝั่งมาด้วย พอน้ำลงขยะเหล่านั้นก็จะติดอยู่ในพื้นที่ ด้วยความที่เกิดน้ำทะเลหนุนบ่อย บางช่วงหนุนทุกวัน บางช่วง 2-3 วันต่อครั้ง ทำให้ชาวบ้านไม่อยากจะรักษาความสะอาด เพราะทำความสะอาดแล้ว พอน้ำทะเลหนุนก็สกปรกอีก ส่วนทางที่สองจากขยะที่ชาวบ้านใช้แล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นโฟม หรือขยะอื่น ๆ ก็ยิ่งทำให้ที่นี่เป็นแหล่งสะสมขยะไปโดยปริยาย

จัดการขยะด้วยเวทีประชาคม
สมโชค สกุลส่องบุญศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวนี้ และตระหนักได้ว่าถ้าปล่อยไว้ย่อมส่งแต่ผลเสียกับชุมชนอย่างแน่นอน เขาจึงเชิญผู้คนทุกฝ่ายในชุมชนไม่ว่าจะเป็น ครู ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม เจ้าของรีสอร์ท องค์การบริหารส่วนตำบล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาหารือทางออกการจัดการขยะร่วมกัน

บทสรุปของประชาคมในวันนั้น มีสองข้อด้วยกัน คือ ข้อแรก จัดการจุดทิ้งขยะหน้าทางเข้าชุมชนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และข้อสอง ทุกวันศุกร์ชาวบ้านจะต้องทำความสะอาดและจัดการขยะที่บ้านตัวเอง ส่วนทุกศุกร์ที่ 3 ของเดือน ทุกคนจะร่วมมือกันทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะในชุมชน ทั้งมัสยิด สวนสาธารณะ รวมทั้งบริเวณชายหาด ฯลฯ ด้วยเป็นข้อตกลงร่วมกันของชุมชน ชาวบ้านทุกคนต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนพื้นที่ชุมชนบ้านมดตะนอยกลับมาสวยงามและเป็นระเบียบแบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
นอกเหนือจากการห้ามใช้โฟมอย่างเด็ดขาดในพื้นที่แล้ว ซึ่งผลที่ได้ทำให้คนในชุมชนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ “ทำดีได้ดาว” คืออีกหนึ่งไฮไลต์ความสำเร็จที่ทุกคนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับการจัดการขยะร่วมกัน

โครงการนี้เกิดขึ้นจาก ผอ. สมโชค สกุลส่องบุญศิริ และณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านบ้านมดตะนอย โดยเด็ก ๆ จะมีสมุดบันทึกประจำตัว หากไปซื้อของที่ร้านค้าในชุมชน และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับถุง หลอด หรือใช้ถุงผ้าใช้ปิ่นโต พ่อค้าแม่ค้าจะติดดาวลงสมุดบันทึกประจำตัวให้ทันที เมื่อได้ดาวครบตามจำนวน เด็ก ๆ สามารถนำสมุดมารับของรางวัลได้ที่โรงพยาบาลฯ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้แปลงกายเป็น “ฮีโร่กู้โลก” ด้วยชุดชูชีพที่ประดิษฐ์จากขวดน้ำอัดลม แล้วมาร่วมกันเก็บขยะชายหาด การส่งเสริมการจัดการขยะด้วยวิธีนี้ นอกจากขยะพลาสติกจะลดจำนวนลงแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังการจัดการขยะและสร้างจิตสำนึกที่ดีในหัวใจของเด็ก ๆ อีกด้วย

โครงการนี้ ผู้ใหญ่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเข้าร่วมได้ โดยพวกเขาจะได้คูปองชิงโชค โดยให้เขียนชื่อตัวเอง และชื่อร้านค้าที่ไปซื้อของ ทุกวันที่ 15 ก็มีการจับรางวัล ของรางวัลจะเน้นเป็นของที่นำมาใช้ซ้ำได้ เช่น แก้วน้ำ กล่องข้าว ปิ่นโต ทั้งนี้ทั้งสองกิจกรรมสำหรับคนต่างรุ่นมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนั่นเอง

ที่บ้านมดตะนอยแห่งนี้ ชาวบ้านยังร่วมมือกันสร้างจุดทิ้งขยะริมชายหาด เพื่อเก็บขยะชายหาดและเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ขยะจากบุคคลภายนอกที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่สร้างความเสียหายให้ธรรมชาติและท้องทะเล พร้อมกับการติดตั้งอวนดักขยะใน 3 ร่องน้ำหลักของชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะหลุดรอดลงท้องทะเล หากมีขยะจากชุมชนก็จะติดอวนที่สร้างดักไว้ ขณะที่ขยะจากทะเลจะเข้าสู่หมู่บ้านก็จะติดที่อวนด้านนอกเช่นกัน ขยะที่ดักได้จะนำมาจัดการตามกระบวนการอย่างถูกวิธี

​ดาวน์โหลด Waste to Wealth ... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth/


Is this article useful ?