close

13 ธ.ค. 2563

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 7: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” 

การจัดการขยะเป็นหน้าที่ของทุกคน
การเปลี่ยนทัศนคติ “ไม่ปล่อยขยะให้เป็นเรื่องไร้ค่า” คือสิ่งสำคัญที่ทำให้การจัดการขยะประสบความสำเร็จ ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ และชุมชนเขาไผ่ เขตเทศบาลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ต่างชื่นชอบและเห็นคุณค่าของขยะจัดการขยะ โดยทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกัน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน รวมไปถึงธนาคารขยะ และนี่คือเรื่องราวของชุมชนที่สะท้อนคำพูดข้างต้นได้เป็นอย่างดี

ทำไปด้วยกัน บ้าน-วัด-โรงเรียน
ด้วยความเป็นชุมชนกึ่งเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรม ที่มีประชากรกว่า 2,700 ชีวิตจาก 1,100 ครัวเรือน ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีปริมาณขยะจำนวนมาก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำอะไรเลยย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนอย่างแน่นอน นั่นทำให้ทุกคนในชุมชนหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการขยะเป็นพิเศษ

บ้าน คือ หน่วยย่อยสำคัญที่ จำลอง หอมหวน ประธานชุมชนโขดหิน 2 นำอวนซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในพื้นที่มาดัดแปลงเป็น “ห่วงรักษ์ พักขยะ” ตัวช่วยจัดการขยะให้กับทุกครัวเรือนในชุมชน เพื่อใส่ขยะที่ขายได้ เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระดาษ ขวดแชมพู วิธีนี้ทำให้ชาวบ้านเริ่มเห็นประโยชย์ของการจัดการขยะ ที่ไม่ใช่แค่ทำให้ชุมชนสะอาดสะอ้านมากขึ้นและเป็นแหล่งรายได้เสริม หากแต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการจัดการขยะให้กับจุดอื่น ๆ ในชุมชน

ขยะบรรจุภัณฑ์ที่ญาติโยมใส่อาหารถวายพระ รวมถึงถังสังฆทาน ปิ่นโต และจีวรเหลือใช้จำนวนมาก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดขยะเป็นจำนวนมากในชุมชน การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นทางออกที่สำคัญ พระอาจารย์มหานักรบ อัคคธัมโม เจ้าอาวาสวัดโขดหิน (ปักษีคีรีราม) คือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้การจัดการขยะในวัดเกิดขึ้นได้ พระอาจารย์ได้บอกญาติโยมให้ทำบุญด้วยการล้างถุงพลาสติกเหล่านี้ให้สะอาดแล้วนำมาบริจาค แล้วก็แยกขยะประเภทต่าง ๆ จากนั้นวัดจะเอาขยะเหล่านี้ไปขาย และนำเงินมาเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็ก ๆ และเณรที่มาบวช

สำหรับปิ่นโตที่เหลืออยู่มากมายหลายร้อยเถา ทางวัดก็นำมาแจกให้ชาวบาน เพื่อเอาไว้ใช้ใส่อาหารที่จะนำมาทำบุญที่วัด ทดแทนการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่วนถังสังฆทานนั้น ทางโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 นำไปใช้เป็นถังสำหรับแยกขยะภายในห้องเรียนทุกชั้น และจีวรที่ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว พระอาจารย์ก็ให้ชาวบ้านนำมาตัดเย็บเป็นหน้ากากอนามัย ผ้าม่าน ผ้าคลุมโต๊ะ และผ้าคุลมเก้าอี้

ในโรงเรียนเองก็เคยเผชิญหน้ากับปัญหาขยะเช่นเดียวกัน โดย บุษบา ธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 สนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้คุณค่าของขยะและการนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลจากการจัดการขยะอย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้ขยะในโรงเรียนแห่งนี้ลดจำนวนลงจนแทบไม่มีเหลือให้เทศบาลต้องมาเก็บก่อน ในทางกลับกันสิ่งที่งอกเงยและงดงามเพิ่มขึ้นก็คือ จิตสำนึกในการหันมาใส่ใจการจัดการขยะของเด็กทุกคน และพวกเขาคือผู้ใหญ่ที่จะเติบโตขึ้นมาดูแลชุมชนในจังหวัดระยอง

ธนาคารขยะชุมชน - ต่อยอดเพื่อความยั่งยืน
ณภัทร ภูมิรัตนโชติ ผู้จัดการธนาคารขยะแห่งชุมชนเขาไผ่ บอกเล่าถึงความร่วมมือร่วมใจของทั้งสามชุมชน (ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ และชุมชนเขาไผ่) ธนาคารขยะแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2556 ด้วยเหตุผลเพื่อให้คนในชุมชนรู้จักคัดแยกขยะ รวมถึงชุมชนใกล้เคียงที่คัดแยกขยะและนำมาขายต่อที่นี่ ธนาคารจะติดต่อซื้อขายกับที่รับซื้อขยะแต่ละประเภท กำไรจากการขายขยะจะเป็นทุนการศึกษาของเด็ก ๆ ในชุมชนต่อไป

ข้อดีของการมีธนาคารขยะคือ ช่วยผลักดันให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการขยะโดยอัตโนมัติ และยังมีประโยชน์ไปยังชุมชนข้างเคียงจนเกิดเป็นความร่วมแรงร่วมใจจัดการปัญหาขยะร่วมกัน “เราเห็นว่า การจัดการขยะไม่ควรเป็นหน้าที่ของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่ควรเป็นหน้าที่ร่วมกันของเราทุก ๆ คน” ณภัทรกล่าวทิ้งท้าย

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
การร่วมมือกันระหว่าง บ้าน วัดและโรงเรียน ซึ่งเป็นเครือข่ายฟันเฝืองสำคัญที่ส่งเสริมการจัดการขยะในชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงแล้ว การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการหาโซลูชันใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ คือเรื่องที่จำเป็นเช่นกัน

เว็บแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า (KoomKah)” จากเอสซีจี คือตัวช่วยจัดการข้อมูลของธนาคารขยะ ช่วยให้การซื้อ-ขายขยะจากชุมชนยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยธนาคารขยะสามารถนำข้อมูลไปวางแผนและประเมินสถานการณ์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ว่าควรขายขยะเมื่อใด เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่ง หรือทำให้ทั้งชุมชนเขาไผ่และชุมชนอีกสองแห่งได้ประโยชน์สูงสุดจากการจัดการของธนาคารขยะ

อีกหนึ่งความสำเร็จก็คือ “ถุงนมกู้โลก” ที่เปลี่ยนถุงนมในโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 ปริมาณมหาศาลไปเป็นโต๊ะและเก้าอี้ เพื่อนำกลับมาใช้งานในโรงเรียน โดยเอสซีจีจะมารับถุงนมที่โรงเรียนสะสมไว้ทุกเดือนไปรีไซเคิลต่อ โดยเก้าอี้รีไซเคิล 1 ตัว น้ำหนัก 8 กิโลกรัม ใช้ถุงนมรีไซเคิล 600 ถุง ส่วนโต๊ะ 1 ตัว น้ำหนัก 3.5 กิโลกรัม ใช้ถุงนม 263 ถุง นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีเพราะได้ปลูกฝังให้นักเรียนทุกคนเป็นนักจัดการขยะ หากสิ่งนี้ติดตัวไปเมื่อเติบโตขึ้น เขาจะเป็นคนที่จัดการขยะได้อย่างมีคุณภาพ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ปล่อยปละละเลยการจัดการขยะ

ดาวน์โหลด Waste to Wealth... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth/


Is this article useful ?