close

9 พ.ย. 2563

เท้าเทียม: จากความเชี่ยวชาญสู่นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

“คนไข้บางคนไม่เคยเดินเลยตลอด 40 ปี เพราะเขาไม่เคยได้รับโอกาสให้ได้มีขาเทียม หากได้ไปดูจุดที่เรากำลังทำขา หรือว่าได้เห็นคนไข้มาที่มูลนิธิฯ ตั้งแต่เช้าด้วยความหวังว่า วันรุ่งขึ้นจะเดินได้ นี่คือคำตอบว่าผมทำสิ่งนี้เพื่ออะไร”

คำกล่าวสั้น ๆ แต่ซึ้งหัวใจของ รศ. น.พ. วัชระ รุจิเวชพงศธร กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สะท้อนภาพความเป็นจริงของคุณภาพชีวิตผู้พิการในประเทศไทย ไปพร้อมกับการฉายโอกาสในการนำความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และการออกแบบของเอสซีจี เข้าไปพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมเพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง และสามารถนำศักยภาพที่พวกเขามีมาเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก้าวแห่งการพัฒนาเพื่อสิ่งที่ดียิ่งขึ้น
เป็นเวลานานกว่า 30 ปี ที่มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ให้ความช่วยเหลือผู้พิการขาขาดยากไร้ตามพระราชปณิธานของสมเด็จย่า เพื่อให้ผู้พิการทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ตลอดจนประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ โดยทางมูลนิธิฯ ร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพพัฒนาอุปกรณ์และชิ้นส่วนของขาเทียมเพื่อให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพและทนทานขึ้น เอสซีจีเองเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว

สำหรับโจทย์การพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับผู้พิการไร้ขาที่เอสซีจีมีส่วนสำคัญในการพัฒนาก็คือ “เท้าเทียมรูปแบบใหม่” เพื่อให้ถูกหลักสรีระวิทยาของคนไข้มากยิ่งขึ้น

จากความรู้ความชำนาญด้านวัสดุศาสตร์และการออกแบบ ประกอบกับประสบการณ์ที่มีอยู่ในวงการเครื่องมือแพทย์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เอสซีจี ในฐานะทีมออกแบบ เริ่มความท้าทายในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวจากการเลือกวัสดุ โดยให้ความสำคัญกับวัสดุคุณภาพของบริษัทและราคาต้องเข้าถึงได้ เพราะว่ามูลนิธิฯ ต้องนำไปใช้ต่อ ซึ่งทางทีมงานของเอสซีจีได้เลือกวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ นั่นคือ พอลิโพรพิลีน คอมโพสิท (PP Composite) ที่มีส่วนผสมของไฟเบอร์กลาส ให้ความแข็งแรงพิเศษ และมีนำหนักเบา มาผสมผสานกับการออกแบบใหม่ จากเดิมที่มีการออกแบบเป็นรูปตัวซี (C) ซึ่งจะมีแรงกดตรง ทำให้แกนแตกหักได้ ปัจจุบันทีมงานเอสซีจีได้ออกแบบเป็นรูปตัวเอ (A) เพื่อให้เกิดการรับแรงและการกระจายแรง โดยผสมผสานกับการออกแบบให้เป็นลักษณะโครงสร้างของรังผึ้ง ในที่สุดก็สามารถทำได้ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม

แกนเท้า (Keel) ที่พัฒนาขึ้นโดยทีมงานของเอสซีจีนี้ สามารถรับน้ำหนักสูงสุดได้ที่ 90 กิโลกรัม และเดินได้ขั้นต่ำกว่า 2,000,000 ก้าว ซึ่งถือว่าสามารถรองรับการใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก้าวแห่งความร่วมมือเพื่อสิ่งที่ดียิ่งขึ้น
นอกเหนือจากความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ที่สนับสนุนวัสดุพลาสติกที่ใช้สำหรับทำวัสดุหุ้มแกนเท้า (Foot Shell) เพราะต้องทนทาน รับแรงกดและคืนตัวเร็ว ให้ความเหนียวและยืดหยุ่น น้ำหนักเบา แต่ยังต้องสวยงามคล้ายเท้าจริง

นวัตกรรมเท้าเทียมนี้ยังสะท้อนหลักคิดเรื่อง Open Collaboration ที่เอสซีจีให้ความสำคัญและบูรณาการเข้ากับทุกมิติของกระบวนการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การขยายความร่วมมือเพื่อช่วยพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรม “เท้าเทียมรูปแบบใหม่” กับ บริษัท รับเบอร์โซล จำกัด ที่ได้ออกแบบแม่พิมพ์และทำคอมพาวด์วัตถุดิบให้สอดคล้องกับสิ่งที่จะออกมาเป็นชิ้น โดยยังคงคุณสมบัติที่ต้องใกล้เคียงเท้ามนุษย์มากที่สุด คือ น้ำหนักเบา ทนทาน ราคาไม่สูง แล้วก็หาซื้อเปลี่ยนได้ง่าย หน้าที่

ก้าวแห่งโอกาสเพื่อสิ่งที่ดียิ่งขึ้น
นวัตกรรมเท้าเทียมที่ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นโดย เอสซีจี  กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย บริษัท รับเบอร์โซล จำกัด และมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของโลกเท่านั้น แต่ยังช่วย “ซ่อมความหวัง สร้างชีวิตใหม่” ให้ผู้คนได้อีกมากมาย

​เอสซีจีจึงยังคงเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมและพร้อมจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้นและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน รับชมวิดีโอ “เท้าเทียมรูปแบบใหม่” ได้ที่ https://bit.ly/3p2qD8g 


Is this article useful ?