close

14 ต.ค. 2563

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 2: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “CHULA Zero Waste”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ CHULA Zero Waste” 

ปัญหาขยะในจุฬาฯ
จากการเก็บสถิติพบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผลิตขยะมากถึง 2,000 ตันต่อปี ด้วยขยะจำนวนที่มากขนาดนี้ รวมทั้งต้องการจะสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับทุกคนของสถาบันในเรื่องการจัดการขยะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำโครงการ CHULA Zero Waste ขึ้น โดยมีเป้าหมายลดขยะภายในมหาวิทยาลัยให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในสิ้นปี 2564

ข้อมูลจริงคือสำคัญ
ในช่วงก่อนจะเริ่มโครงการ CHULA Zero Waste นั้น ทีมงานใช้เวลาในการเก็บข้อมูลถึง 3 เดือน เพื่อให้รู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับขยะในสถาบัน ขยะแบบไหนมีจำนวนมาก ขยะแบบไหนควรเป็นเป้าหมายในการลดหรือเลิกใช้ และควรวางมาตรการและวิธีจัดการอย่างไร

“เราให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลมาก เพราะแผนการและนโยบายทุกอย่าง เราจะทำจากข้อมูล เพราะฉะนั้นข้อมูลที่เราได้มาต้องแน่น และที่สำคัญต้องเป็นข้อมูลจริง ด้วยเหตุนี้เราและทีมงานจึงไปลุยเองเลย” หนึ่งในคำพูดของทีมงาน CHULA Zero Waste

ข้อมูลที่ได้มานี้จะถูกนำมาใช้เป็นประกอบการระดมความคิดและการวางแผนจัดการขยะแต่ละประเภทของทีมงาน ซึ่งแต่ละอย่างก็มีแผนการดำเนินงานแตกต่างกันไป แต่อยู่ภายใต้หลัก 3Rs คือ Reduce ลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle การแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

ถ้ามีโอกาสจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด
ฟันเฟืองสำคัญของโครงการ CHULA Zero Waste ก็คือ วรุณ วารัญญานนท์ หรือที่ผู้คนในจุฬาฯ รู้จักกันในนาม “อาจารย์วิน” ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการฯ และที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศ

ความท้าทายแรกที่วรุณและทีมงานตั้งเป้าจะก้าวข้ามไปให้ได้ มุ่งเน้นไปที่การลดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) ซึ่งเป็นขยะย่อยสลายได้ยากและมักจะใช้ครั้งเดียวทิ้ง ข้อมูลจากร้านสะดวกซื้อและร้านสหกรณ์ในมหาวิทยาลัย พบว่า ในแต่ละเดือนมีการเบิกถุงพลาสติก มากถึง 130,000 ใบ โดยในช่วงแรกอาจารย์วินและทีมงานเริ่มต้นด้วยการให้ยาเบาเพื่อเป็นการชิมลาง โดยให้แม่ค้าแต่ละร้านถามความสมัครใจลูกค้าว่า จะรับถุงพลาสติกหรือไม่ เพียงเท่านี้ ยอดการใช้ถุงพลาสติกก็ลดลงมาอยู่ที่ 90,000 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนถุงพลาสติกที่มีการใช้งานทั้งหมด

ขั้นตอนต่อไป ทีมงานแนะนำให้ร้านค้าเรียกเก็บเงินค่าถุงพลาสติกในราคา 2 บาท เพื่อให้ลูกค้ารู้คุณค่าของถุงพลาสติกที่ซื้อมาและเป็นการกระตุ้นให้นำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งเงินที่ได้จะถูกนำเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมของทาง มหาวิทยาลัย ผลที่ได้ก็คือยอดการใช้ถุงพลาสติกภายในจุฬาฯ ลดลงเหลือแค่ 10,000 ใบ เท่ากับการลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้เกินกว่า 90% แนวปฏิบัติดังกล่าวถูกนำมาขยายผลไปยังตลาดนัด ศูนย์หนังสือ และโรงอาหารทุกโรงภายในมหาวิทยาลัย

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
นอกจากถุงพลาสติกที่มีการใช้งานลดลงอย่างน่ายินดีแล้ว ทีมงาน CHULA Zero Waste ยังรณรงค์ให้นิสิตและบุคลากรในจุฬาฯ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้ถุงผ้าและแก้วน้ำส่วนตัวกันมากขึ้น โดยจากสถิติพบว่า คนในจุฬาฯ หันมาใช้ถุงผ้าเกินกว่าร้อยละ 90 ส่วนแก้วน้ำ มีคนหันมาใช้แก้วน้ำส่วนตัวเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 15 จากเดิมที่แทบจะไม่มีใครใช้เลย

แก้วน้ำรักษ์โลก ยังเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของโครงการ CHULA Zero Waste ซึ่งก่อนที่โครงการฯ จะถูกขับเคลื่อนนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีขยะแก้วพลาสติกประมาณ 2 ล้านใบต่อปี ทีมงานแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนมาใช้แก้วแบบใหม่ โดยใช้วิธีบูรณาการ 3 ปัจจัย ดังนี้

  1. เทคโนโลยี โดยเปลี่ยนมาใช้แก้วย่อยสลายได้ หากโยนแก้วลงไปในกองปุ๋ยหมักจะย่อยสลายได้ใน 4-6 เดือน
  2. มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ทีมงานใช้วิธีลดราคาลง 2 บาท เพื่อเป็นการให้รางวัลผู้ซื้อที่นำแก้วมาเอง
  3. การจัดการแบบครบวงจร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำข้อตกลงร่วมกับกรมป่าไม้ ในการนำแก้วย่อยสลายได้ไปใช้ปลูกต้นไม้แทนถุงดำ ซึ่งนอกจากจะลดการใช้ถุงดำปลูกต้นไม้แล้ว ยังสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถนำต้นไม้ลงดินได้ทั้งแก้วเลย เพราะภาชนะสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

สำหรับการคัดแยกขยะ จุฬาฯ ได้แบ่งการแยกขยะ ออกเป็น 4 ประเภทคือ 1. เศษอาหาร 2. ขยะรีไซเคิล ได้แก่ กระดาษ ขวดน้ำ โลหะและแก้ว 3. ขยะทั่วไป และ 4. ขยะอันตรายทุกประเภท ทีมงานของโครงการ CHULA Zero Waste เน้นรณรงค์ให้ทุกคนรับประทานอาหารให้หมดจาน เพื่อเลี่ยงการสร้างขยะประเภทนี้ แต่ถ้ามีขยะเศษอาหารเกิดขึ้น จะถูกนำมาเป็นอาหารสัตว์ก่อน และหากยังเหลืออีก ก็จะนำไปแปรรูปเป็นไบโอดีเซล หรือปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ส่วนขยะรีไซเคิล แม่บ้านของมหาวิทยาลัยจะนำไปคัดแยก แล้วขายเป็นรายได้ส่วนบุคคล ส่วนที่ขายไม่ได้ก็จะถูกส่งไปให้โรงงานนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงทดแทน สำหรับขยะทั่วไปจะถูกนำฝังกลบอย่างถูกวิธี และขยะอันตราย ซึ่งมีจุดรับทิ้งอยู่ถึง 20 แห่งในมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งจะถูกส่งให้โรงงานนำไปรีไซเคิล และอีกส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปฝังกลบอย่างถูกวิธี

กุญแจแห่งความสำเร็จของโครงการ CHULA Zero Waste ไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อมูล การวางแผนงานอย่างเป็นระบบ กระบวนการดำเนินงานที่มีมาตรการหลากหลายรูปแบบ หรือการปรับปรุงแผนงานอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น หากแต่ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับในมหาวิทยาลัย ที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการให้ประสบผลสำเร็จและเกิดความต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

ดาวน์โหลด Waste to Wealth... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth


Is this article useful ?