close

5 พ.ค. 2563

ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ: ระบบการจัดการขยะแบบบูรณาการ จากหนึ่งสำนักงานในเอสซีจี ขยายผลสู่ชุมชนใน จ. ระยอง

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังประสบปัญหาด้านขยะมูลฝอย จากข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ปี พ.ศ. 2562 ระบุว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีขยะรวมกันทั้งประเทศถึง 28 ล้านตัน โดยจังหวัดที่มีปริมาณขยะมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 20 รองลงไปก็คือ จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยมีสัดส่วนของปริมาณขยะพลาสติกอยู่ที่ 2 ล้านตัน ซึ่งมีเพียง 0.5 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่วนที่เหลือจะกลายเป็นขยะพลาสติกที่ไม่ได้ถูกจัดการอย่างเหมาะสม นี่ยังไม่นับรวมปัญหาขยะที่รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและกลายเป็นมลภาวะที่กระทบต่อสมดุลของห่วงโซ่อาหารในระยะยาว

จากสถานการณ์ดังกล่าวที่กำลังกระทบต่อความยั่งยืนของธรรมชาติและสภาพชีวิตของทุกคนในสังคม เอสซีจี จึงได้ริเริ่ม โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ขึ้นเพื่อสร้างและขับเคลื่อนโมเดลการจัดการขยะที่เหมาะสมกับชุมชน ผ่านโมเดล “บวร” ได้แก่ บ้าน-วัด-โรงเรียน และเชื่อมโยงกับ “ธนาคารขยะ” ภายในชุมชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งระบบ และเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความรู้และเข้าใจถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยลดการสร้างขยะ สอนการคัดแยกและการทิ้งขยะให้ถูกต้อง และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการรีไซเคิล

เศรษฐกิจหมุนเวียน กับการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
ภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารและการจัดการทรัพยากรทุกชนิดอย่างคุ้มค่าและนำมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เอสซีจีได้ใช้หลักการดังกล่าวขับเคลื่อนองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง ความท้าทายเรื่อง “ขยะ” ก็เช่นกัน เอสซีจีได้จัดทำ บางซื่อโมเดล ซึ่งเป็นโครงการณรงค์ให้พนักงานในองค์กรได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะ ด้วยการ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ที่ช่วยสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนเรื่องการจัดการขยะอย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้เอสซีจียังพัฒนาระบบคัดแยกขยะภายในองค์กร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะและช่วยลดปริมาณของขยะในบริษัทลงได้มากถึง 20 ตันต่อเดือน โดยในสัดส่วนดังกล่าวมีขยะที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลได้สูงถึงร้อยละ 45 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้มากถึง 50%  

ขยายผลความสำเร็จด้วย “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ”
ความสำเร็จของบางซื่อโมเดลที่เป็นตัวจุดประกายเรื่องการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการขยายผลโครงการในลักษณะเดียวกันมาสู่ชุมชน โดยเอสซีจีได้ร่วมกับจังหวัดระยองนำร่อง โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ที่เริ่มต้นจากชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ได้แก่ ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ ชุมชนเขาไผ่ วัดโขดหิน โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 และธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ ทั้งหมดนี้สะท้อนการประยุกต์ใช้แนวคิดบางซื่อโมเดลได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นการบูรณาการหน่วยสำคัญที่จะทำให้เกิดการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพในระดับชุมชน ผ่านโมเดลที่ทาง จ.ระยองมีอยู่แล้ว นั่นคือ บ้าน วัด และโรงเรียน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “บวร” โดยทั้งสามจุดเป็นต้นทางของขยะที่เกิดขึ้นภายในชุมชน เอสซีจีได้เชื่อมโยงโมเดลบวร และธนาคารขยะเข้าด้วยกัน โดยธนาคารขยะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงและเป็นปลายทางของขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน โมเดลดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะให้กับคนในชุมชนขับเคลื่อนผ่านผู้นำทางความคิด ได้แก่ ผู้นำชุมชน เจ้าอาวาส และนักเรียน และการผลักดันของผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี นอกจากนี้โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ยังช่วยเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล ควบคู่กับการลดปริมาณการฝังกลบขยะลงได้อีกด้วย  

ยั่งยืนด้วยธนาคารขยะและแอปพลิเคชัน
ธนาคารขยะในชุมชมถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการแยกขยะของคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนั่นจึงเป็นที่มาของธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ซึ่งทำหน้าที่เป็นปลายทางของขยะที่เกิดขึ้นจากชุมชนเขาไผ่และชุมชนใกล้เคียงที่มีมากถึง 2,400 หลังคาเรือน โดยในแต่ละเดือนมีปริมาณขยะที่คัดแยกแล้วเข้ามาค่อนข้างมาก ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดการข้อมูล รวมถึงใช้เวลาค่อนข้างมาในการจัดการ เอสซีจีจึงได้พัฒนา “คุ้มค่า” (KoomKah) ซึ่งเป็นเว็บแอปพลิเคชันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธนาคารขยะแบบครบวงจร เครื่องมือดังกล่าวมีฟังก์ชันการใช้งานที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ได้ 5 ฟังก์ชัน ดังนี้

  1. การรับซื้อขยะ (Buy) เป็นฟังก์ชันที่ช่วยบันทึกจัดเก็บข้อมูลขยะและจำนวนยอดเงินจากการซื้อขาย
  2. การจัดการสมาชิก (Membership Management) ระบบจะช่วยจัดเก็บข้อมูลสมาชิก รวมถึงประวัติการแลกแต้มสะสมคะแนน
  3. การขายขยะ (Sell) เป็นการบันทึกข้อมูลการขาย การคำนวณรายรับและกำไรที่ได้จากการขายสินค้าขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละรายการ
  4. การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) ฟังก์ชันนี้ของเว็บแอปพลิเคชันช่วยจัดระเบียบข้อมูลสินค้าขยะแต่ละประเภท เงินทุนและแต้มสะสมจากการรับซื้อสินค้า ทำให้วางแผนกลยุทธ์การซื้อขายได้ดียิ่งขึ้น
  5. การจัดทำรายงานรับซื้อและขายขยะ (Report) ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกช่วงเวลาประมวลผล และดาวน์โหลดไฟล์ออกมาในรูปแบบ Excel ซึ่งง่ายต่อการนำข้อมูลมาคำนวณในรูปแบบต่างๆ

ปัจจุบันโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ที่บูรณาการโมเดลบ้าน-วัด-โรงเรียน และเชื่อมโยงกับ “ธนาคารขยะ” ที่ใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน คุ้มค่า (KoomKah) ได้ดำเนินงานมากว่า 1 ปีแล้ว มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 80 ครัวเรือน ทำให้สามารถนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากถึง 6,500 กิโลกรัม และยังช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย ในปี 2563 นี้ เอสซีจี ตั้งเป้าจะให้โครงการฯ เพิ่มจำนวนครัวเรือนให้เข้ามาเป็นสมาชิกอีก 700 ครัวเรือน และกำลังผลักดันให้ชุมชนใหม่อีก 3 แห่ง คือ ชุมชนอิสลาม ชุมชนวัดชากลูกหญ้า และชุมชนมาบชลูด-ชากกลาง เข้ามาเป็นอีกหนึ่งพลังที่ช่วยขับเคลื่อนโมเดลการบริหารจัดการขยะนี้ให้ขยายผลออกไป โดยเอสซีจีจะสนับสนุนและส่งเสริมผู้นำชุมชนในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนเพื่อให้จังหวัดระยองก้าวสู่เมืองไร้ขยะต่อไปในอนาคต


Is this article useful ?