close

9 ม.ค. 2561

Industrial Ecology : ต้นแบบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน

นิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นสถานที่หนึ่งที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ ด้วยเหตุนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงนำแนวคิด ‘อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ’ หรือ Industrial Ecology มาใช้กับนิคมอุตสาหกรรมในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน ในรูปแบบที่เป็นเครือข่ายช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อีกทั้งมีการดูแลทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าถึงความเป็นมาของแนวคิด อุตสาหกรรมเชิงนิเวศและตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ดำเนินนโยบายอย่างสำเร็จดียิ่งไว้ดังนี้

จุดเริ่มต้นแนวคิด “Industrial Ecology หรือ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ”

แนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศหรือ Industrial Ecology เป็นแนวคิดที่นำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนโดยมุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนา ออกแบบอุตสาหกรรมให้คล้ายคลึงกับระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติบนหลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Symbiosis) และดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานให้คนรุ่นต่อไป

ความจริงแล้ว คำว่า “Industrial Ecology” เป็นที่รู้จักในต่างประเทศตั้งแต่ปีค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) แต่สำหรับเมืองไทย กนอ. ได้นำแนวคิดนี้มาใช้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งกำหนดเป้าหมายที่จะยกระดับนิคมอุตสาหกรรมมุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) โดยภายในปีพ.ศ. 2562 ทุกนิคมอุตสาหกรรมจะต้องพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

หลักเกณฑ์การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

กนอ. กำหนดคุณลักษณะมาตรฐานการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ( ECO Industrial Estate ) 5 มิติ ประกอบด้วย มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม และมิติบริหารจัดการ และกำหนดระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 3 ระดับ ได้แก่

ระดับ “Eco Champion” คือ นิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างผาสุกด้วยหลักธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยนิคมฯ จะต้องนำข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 มิติ ของ กนอ. ไปเป็นกรอบมาตรฐานในการเปรียบเทียบเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาในแผนแม่บทพัฒนายกระดับนิคมฯ สู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ระดับ “Eco Excellence” คือ นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่การพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ระดับ “Eco World Class” คือ นิคมอุตสาหกรรมชั้นนำที่สามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม

อยากให้ท่านยกตัวอย่างนิคมที่ผ่านมาตรฐาน Eco Champion และ Eco Excellence

ที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล (R.I.L Industrial Estate) โดยบริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด เป็นนิคมที่ได้รับการรับรองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในระดับ Eco Champion ติดต่อกันสามปีซ้อน และยังเป็นต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco Excellence แห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย   

จุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลคืออะไร

นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล เป็นหนึ่งนิคมที่เข้าร่วมนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Industrial Development) นอกจากการนำหลักเกณฑ์ของ กนอ. ไปปฏิบัติ และ การขยายผลออกไปสู่ภายนอก ทั้ง ชุมชน วัด และโรงเรียนโดยรอบนิคมแล้ว โรงงานทุกโรงภายในนิคมอาร์ ไอ แอล ยังได้รับรองให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ECO Factory) ตามข้อกำหนดของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยครบถ้วน รวมทั้งยังผ่านมาตรฐานโรงงานสีเขียว (Green Industry) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมระดับสูงสุดของประเทศ

ความสำเร็จของนิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จึงเป็นสิ่งยืนยันว่านิคมอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้จริง และสามารถพัฒนาต่อไปเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมของประเทศตามแนวนโยบายของรัฐเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง

***********************************************************************

รู้จักนิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล (R.I.L Industrial Estate)

นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล (R.I.L Industrial Estate) ดำเนินการโดยบริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเอสซีจี เคมิคอลส์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2547 บนพื้นที่กว่า 1,700 ไร่ ในตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยนิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล เป็นต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco Excellence แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีจุดเด่นในทุกมิติตามหลักเกณฑ์ของกนอ. อาทิ มิติทางกายภาพ นิคมฯ ได้มีการปลูกต้นไม้ชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวป้องกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับชุมชน (Protection Strip) มีพื้นที่สีเขียวกว่า 293 ไร่ มีต้นไม้ประมาณ 52,600 ต้น สร้างพื้นที่สีเขียวภายในนิคม 19.5% ของพื้นที่ทั้งหมด และยังมีการตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแจ้งให้ชุมชนรับทราบทุก ๆ 3 เดือน

มิติบริหารจัดการ นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล มุ่งผลักดันการพัฒนาโรงงานให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานทั้งด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งเสริมให้ทุกโรงงานในนิคมฯ ได้รับการรับรองเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และยังมี 2 บริษัทในนิคม ฯ ที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 5 (Green Industry 5) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ได้แก่ บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด ในเอสซีจี เคมิคอลส์ และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

มิติสังคม และมิติเศรษฐกิจ นิคมฯ มีสัมพันธ์อันดีกับชุมชน รวมถึงสนับสนุนชุมชนโดยรอบกว่า 10 แห่ง ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจขนมเปี๊ยะ 8 เซียน ของกลุ่มแม่บ้านในหมู่บ้านทิวลิป ชุมชนเนินพยอม ที่ประสบความสำเร็จมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 200,000 บาท เป็นต้น


Is this article useful ?