close

18 เม.ย. 2565

ไขคำตอบ “สตาร์ตอัป-ปังหรือพัง” ขึ้นอยู่กับอะไร แบ่งปันมุมมองจาก “Defire” ทีมชนะเลิศ ในเวที SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 – Thailand Competition Round

“ลองนึกภาพการวิ่งมาราธอนกลุ่มที่ร้อยเชือกทุกคนไว้ด้วยกัน เจอหลุมทุก ๆ 50 เมตร แต่ต้องลุกขึ้นมาให้ได้พร้อม ๆ กับทีม ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้จากการล้มทุกครั้งด้วยว่า ล้มแล้วมันเจ็บยังไง มีเทคนิคยังไงที่เจอหลุมครั้งถัดไปแล้วเหนื่อยน้อยกว่าเดิม ที่สำคัญเราจะช่วยพาทีมให้ผ่านไปด้วยกันได้ยังไง ให้ผ่านไปถึงเส้นชัยด้วยกัน” นิยามสตาร์ตอัปในมุมมองของ ธีธัช รังคสิริ (เอิ๊ก), CEO, Defire จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) – ทีมสตาร์ตอัปชนะเลิศจากเวทีการประกวด SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 ในรอบประเทศไทย

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา วงการสตาร์ตอัปไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก เกิดสตาร์ตอัประดับ “ยูนิคอร์น” สัญชาติไทยอย่าง แฟลช กรุ๊ป และ Bitkub เป็นแรงกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาหลายคนเดินเข้าสู่เส้นทางนี้ แต่กว่าจะผ่านแต่ละด่านและยืนหยัดมาได้ ต้องมีแรงผลักอะไรบ้าง วันนี้ทีม Defire จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ทีมชนะเลิศการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 ในรอบประเทศไทย ซึ่งเป็นการแข่งขันสตาร์ตอัปสำหรับนักศึกษาระดับโลกที่ดำเนินมายาวนานที่สุดในเอเชีย จัดโดย เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือเอสซีจีซี (SCGC) ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาแบ่งปันประสบการณ์จริง เพื่อปลุกไฟให้รุ่นน้องพร้อมก้าวสู่เส้นทางสตาร์ตอัปอย่างมืออาชีพ


รวมทักษะที่หลากหลาย แต่เป้าหมายเดียวกัน ส่วนผสมที่ลงตัวของสตาร์ตอัป Defire
ทีมที่มาเข้าแข่งขันในการประกวด SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 หลัก ๆ มีด้วยกัน 3 คน คือ ธีธัช รังคสิริ (เอิ๊ก), Chief Executive Officer (CEO), Defire ภัทรารัตน์ ตั้งนิสัยตรง (พัตเตอร์), Chief Business Development Officer (CBDO), Defire ดูแลด้านการพัฒนาธุรกิจ และวสันชัย วงศ์สันติวนิช (วิว) Chief Technology Officer (CTO), Defire มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขององกค์กร โดยมีศ.โนเพีย ซาซากิ เป็นที่ปรึกษา

เริ่มจากการที่พวกเราสนใจเรื่องของปัญหาสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเราโฟกัสไปที่เรื่องฝุ่นควัน ปัญหามลพิษในเมืองจริง ๆ มันมีเบื้องลึกกว่าที่เราเห็น เราจึงอยากลองขุดลงไปว่าจริง ๆ แล้ว ต้นตอของปัญหามันคืออะไร นี่จึงเป็นที่มาของ Defire แพลตฟอร์ม Carbon Credit เพื่อลดการเผาไร่

Stop Hunger Stop Fire… แก้ปัญหาปากท้อง ทางออกสิ่งแวดล้อม
“Stop Hunger Stop Fire เราหวังว่าเมื่อชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นแล้ว เขาจะสามารถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาได้ดียิ่งขึ้น” ฟังดูอาจเป็นประโยคที่เรียบง่าย แต่นี่คือเหตุผลที่ทำให้ทีมสตาร์ตอัป Defire ทุกคนตื่นขึ้นมาทำโปรเจกต์นี้

“เราเชื่อว่าถ้าจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการเผาไร่ เราจำเป็นต้องกลับไปแก้ไขเรื่องปากท้องของชาวบ้านก่อน ตราบใดที่ท้องเค้ายังหิว หรือยังหาเช้ากินค่ำ เค้าจะแคร์สิ่งแวดล้อมเหรอ ลองคิดกลับกัน เราจะแคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าเรื่องครอบครัว หรือเรื่องค่าเทอมลูกไหม นี่เป็นสิ่งที่เราต้องย้ำเตือนตัวเองเสมอตอนทำ Defire” ธีธัช รังคสิริ (เอิ๊ก), CEO, Defire

วสันชัย วงศ์สันติวนิช (วิว), CTO, Defire มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กร แชร์ให้ฟังว่า “โมเดลธุรกิจของ Defire มันมีความ Unique ทั้งในเชิงธุรกิจและเทคโนโลยี เรานำเรื่อง Carbon Credit หรือเรื่องของการลดมลภาวะ โดยใช้เป็นเครื่องมือที่ให้ Incentive กับเกษตรกรในการเลิกเผาไร่”


เป้าหมายสุดท้ายของโมเดลธุรกิจ Defire คือ ทำยังไงให้ Stop Hunger หรือให้เกษตรมีชีวิตที่ดีก่อน แล้วท้ายที่สุดเราเชื่อว่าเขาจะกลับไปทำให้การเกษตรของเขาดีต่อเรื่อง Climate Change หรือปัญหาโลกร้อน


ค้นหาวิธีลัด ทำให้ธุรกิจโตแบบก้าวกระโดด
เรามองกว่า Defire คอนเซ็ปต์มันชัด แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนคือเรื่องของธุรกิจ เราคิดว่าการเข้ามาร่วมการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin เป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้โมเดลธุรกิจโตขึ้นแบบ Exponential รวดเร็วกว่าที่คุณไปเรียนรู้ด้วยตัวเองข้างนอก

“ยอมรับว่าสิ่งที่ได้จากการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 เกินความคาดหวังไปมาก เดิมทีเราคิดว่าการแข่งขันนี้จะทำให้โมเดลธุรกิจของเรามันชัดเจนขึ้น แต่ที่ได้มากกว่านั้นคือ ได้ในเรื่องของ Technical, Feasibility ในด้านต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาเป็นกรรมการ คือกรรมการของการแข่งขันนี้ มีองค์ความรู้ที่ไม่เฉพาะเรื่องของธุรกิจ แต่มีองค์ความรู้ที่หลากหลายทำให้ทีมได้ Feedback ที่หลากหลาย และช่วยทำให้เราโตไปได้ไกลขึ้น โตไปได้เร็วขึ้น” ภัทรารัตน์ ตั้งนิสัยตรง (พัตเตอร์), CBDO, Defire


สตาร์ตอัปจะปังหรือพัง ขึ้นอยู่กับอะไร
“สตาร์ตอัป เป็นองค์กรที่ Fail Fast Learn Fast และมีไอเดียที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นก่อน” ซึ่งในมุมมองของทีม Defire มองว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้สตาร์ตอัปไทยประสบความสำเร็จมีหลัก ๆ อยู่ 2 ปัจจัย อย่างแรกคือ Founder เพราะสตาร์ตอัปเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ความทุ่มเท ต้องเป็นทั้ง “Thinker” และเป็น “Doer” คือเป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ นั่นคือการคิดตลอดเวลาและยังต้องทำตลอดเวลา ซึ่งมันท้าทายมาก แต่ถ้าคุณเป็น Founder คุณต้องมีความมุ่งมั่นและมี Passion กับการทำเรื่องนั้นจริง ๆ คุณถึงจะทำมันได้สำเร็จ ส่วนที่ 2 คือ ความสำเร็จจะมาเมื่อคุณเรียนรู้จากความล้มเหลว เรียนรู้จาก Comments ต่าง ๆ แล้วคุณจะโตขึ้น “การเป็นสตาร์ตอัปคุณจะต้องผ่านมาสักสนามหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสนามนักลงทุน หรือสนามแข่งขันใช่ไหม มันจะต้องโดนตีตก จะต้องโดนปฏิเสธ ต้องโดนตำหนิ หรืออะไรสักอย่าง แต่ถ้าคุณไปจมปลักกับความผิดหวังตรงนั้น มันจะก้าวออกไปไม่ได้” ภัทรารัตน์ ตั้งนิสัยตรง (พัตเตอร์), CBDO, Defire


อยากฝากอะไรถึงทีมผู้เข้าแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin ในปีหน้า
“ในมุมผม Passion กับความตั้งใจ และ Focus ในสิ่งที่ทำเป็นสิ่งสำคัญ ทีมที่สมัครเข้ามาแข่งขันหากเชื่อจริง ๆ ในสิ่งที่นำเสนอและพร้อมพิสูจน์ว่าเป็นไปได้ ผมอยากให้ลองมาสมัคร แทนที่เราจะนั่งคิดคนเดียว การแข่งขันก็เหมือนเรามาพิสูจน์ว่าไอเดียที่เราคิดมันโอเครึเปล่าในมุมมองของคนอื่น มันไม่มีอะไรจะเสีย มีแต่ได้กับได้” วสันชัย วงศ์สันติวนิช (วิว) CTO, Defire ทิ้งท้าย


สำหรับนิสิตนักศึกษาที่อยากเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สนามสตาร์ตอัปอย่างทีม Defire – Sustainable นี้ ลองแวะเข้าไปดูข้อมูลโครงการต่าง ๆ เพิ่มเติมจากเวที SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin ได้ที่ https://bbc.sasin.edu/2022



เกี่ยวกับ Defire
Defire เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้คาร์บอนเครดิตส่งเสริมให้ชาวนาเลิกเผาพื้นที่เพาะปลูกและเศษซากพืชผล แพลตฟอร์ม Defire ผสมผสานปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง และเทคโนโลยีการตรวจจับระยะไกล เพื่อตรวจจับและแจ้งเตือนเมื่อมีการเผา Defire เน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาการเผาไร่นาอย่างยั่งยืนเพื่อลดมลพิษและภาวะโลกร้อนโดยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนาควบคู่ไปด้วยกัน


Is this article useful ?