close

4 มิ.ย. 2567

BBGI ร่วมกับ SCGC และ QTC ประกาศความสำเร็จการทดลองน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ ‘Bio-Based Transformer Oil’ เริ่มนำร่องที่ จ. ระยอง พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์

Business ESG Circular Economy Innovation Solutions Sustainability

ระยอง – 31 พฤษภาคม 2567 : BBGI พร้อมพันธมิตร ได้แก่ SCGC และ QTC ประกาศความสำเร็จอีกขั้นของความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Innovation ใน “โครงการพัฒนาและผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (Bio-Based Transformer Oil) จากน้ำมันปาล์ม” โดยได้ทดลองใช้งานในหม้อแปลงไฟฟ้าจริง ได้ผลตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยในการใช้งาน พร้อมส่งมอบให้ลูกค้านำร่องเป็นครั้งแรกที่ จ. ระยอง เตรียมต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์ ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่นโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (Bio-Based Transformer Oil) จากน้ำมันปาล์มทำหน้าที่เป็นฉนวนไฟฟ้าและช่วยระบายความร้อนภายในหม้อแปลงไฟฟ้า

โครงการพัฒนาและผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพโดยใช้น้ำมันปาล์ม สอดคล้องกับนโยบายพลังงานสะอาดและนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของภาครัฐ รวมถึงมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่ต้องการกระตุ้นปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มผ่านความต้องการใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพในประเทศไทย ทั้งนี้ถือว่าเป็นการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำมันปาล์ม เป็นทางเลือกในการรองรับปริมาณน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศในอนาคตได้  นอกจากนั้นยังเป็นการลดการนำเข้าน้ำมันหม้อแปลงชีวภาพจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตหม้อแปลงจะต้องมีการนำเข้าน้ำมันหม้อแปลงชีวภาพจากต่างประเทศมาเพื่อใช้งาน 100%  

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการพัฒนาและผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (Bio-Based Transformer Oil) จากน้ำมันปาล์ม ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท บีบีจีไอ ไบโอดีเซล จำกัด หรือ BBGI BI บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ว่า “การทดลองเพื่อผลิตน้ำมันหม้อแปลงชีวภาพได้ผลเป็นไปตามมาตรฐานสากลของน้ำมันหม้อแปลงชนิดจุดติดไฟสูง (High Fire Point) หรือ IEC 62770 ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวทำให้มีความปลอดภัยในการใช้งานสูง อีกทั้งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (biodegradable) จึงได้มีการเติมในหม้อแปลงไฟฟ้าจริงและส่งมอบให้ลูกค้าเอกชนใช้งานเป็นครั้งแรกที่ จ. ระยอง รวมถึงเตรียมความพร้อมขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อไป”

“SCGC ผู้เชี่ยวชาญด้าน Green Innovation ได้ใช้เทคโนโลยีตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการเปลี่ยนน้ำมันปาล์มให้กลายเป็นน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่มูลค่ามากขึ้น โดยการพัฒนาในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันแบบ Open Innovation เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละภาคส่วนมาใช้ในโครงการอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายในการผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากน้ำมันปาล์มให้ได้ตามมาตรฐานระดับโลก IEC 62770 จนนำไปสู่การใช้งานจริง นับเป็นก้าวสำคัญต่อเศรษฐกิจชีวมวล (Bio-Economy) ที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพได้เองภายในประเทศ ช่วยทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งเสริมประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม” นายสุเมธ เจริญชัยเดช Central Research and Development Director เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC กล่าวเพิ่มเติม

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to Order) และตัวแทนจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์  Longi (ลองจิ) และอินเวอร์เตอร์ ของ Huawei (หัวเว่ย)  กล่าวเสริมถึงความสำเร็จในโครงการฯ ว่า “ในแง่คุณสมบัติของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเมื่อเทียบเคียงผู้ผลิตตลาดต่างประเทศ ถือว่ามีความได้เปรียบในด้านค่าความหนืดที่ใกล้เคียงกับน้ำมัน Mineral Oil ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาตรฐานการออกแบบหม้อแปลงไฟฟ้า นอกจากนี้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าสามารถทนแรงดันไฟฟ้าได้สูง (Dielectric Breakdown Voltage) จุดวาบไฟ (Flash Point) และจุดติดไฟ (Fire Point) มีค่าสูง ส่งผลให้มีความปลอดภัยในการใช้งานเป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

______________________________________________________

เกี่ยวกับ BBGI บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) เกิดจากแผนความตกลงร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ สำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based Products) ระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)  โดยบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มีธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจผลิตและ จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based Products) ประเภทผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ได้แก่ เอทานอล ไบโอดีเซล และผลิตภัณฑ์พลอยได้และ และธุรกิจอื่นคือธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value Bio-Based Products) ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพ (Health and Well-Being Products) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (“ธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงที่ส่งเสริมสุขภาพ”)


เกี่ยวกับ SCGC เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) เป็นผู้นำด้านการผลิตเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน ทั้งในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ขั้นต้น (โอเลฟินส์) ไปจนถึงขั้นปลาย ได้แก่ เม็ดพลาสติกหลักทั้ง 3 ประเภท คือ พอลิเอทิลีน พอลิโพรพิลีน และพอลิไวนิลคลอไรด์ SCGC มุ่งสร้างสรรค์ "นวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อทุกความเป็นได้" (INNOVATION THAT’S REAL) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ตามแนวทาง ESG และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน SCGC เน้นพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐาน บรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์ การแพทย์และสุขภาพ และโซลูชันด้านพลังงาน ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


เกี่ยวกับ QTC บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต จำหน่ายและให้บริการเทคโนโลยีครบวงจรในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพระดับโลก อย่างมีธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นผู้ผลิต จำหน่ายและให้บริการ ด้านหม้อแปลงไฟฟ้า และเป็นตัวแทนจำหน่าย แผงโซลาร์เซลล์ ของ Longi และ อินเวอร์เตอร์ ของ Huawei

 


Is this article useful ?