close

27 พ.ค. 2567

SCGC จับมือ ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (GenEd Chula) สร้าง “นักอนุรักษ์รุ่นเยาว์” ขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

Business ESG Sustainability

ระยอง เมษายน 2567 SCGC ร่วมกับ ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (GenEd Chula) ปลูกจิตสำนึกการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับป่าต้นน้ำ ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการดำรงชีวิตของมนุษย์ ผ่านการเปิดรายวิชา “ผู้พิทักษ์ป่าต้นน้ำ” เป็นวิชาการศึกษาทั่วไปให้กับนิสิตระดับปริญญาตรีทุกคณะ

โดยในปีการศึกษาที่ 2/2566 ที่ผ่านมามีนิสิตลงทะเบียนเรียนรายวิชาดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น 35 คน และในเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา อาจารย์และนิสิตของรายวิชาดังกล่าวได้มาศึกษาดูงานการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำเขายายดา และการบริหารจัดการน้ำตามโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ที่บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง พร้อมทั้งร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำร่วมกับชุมชน

นางสาวนาตาชา บุญขวัญ นิสิตชั้นปี 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่เปิดใหม่นี้และได้เข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานงานการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำเขายายดา และการบริหารจัดการน้ำตามโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ที่บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง กล่าวว่า ทฤษฎีที่ได้จากการลงเรียนวิชาดังกล่าว และการเดินทางมาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกับชุมชนบ้านมาบจันทร์ ทำให้เห็นภาพรวมของการบริหารจัดการระบบนิเวศที่ชัดเจนมากขึ้น

“ตอนที่เราได้มีโอกาศเข้าไปที่ศูนย์วิจัยป่าต้นน้ำชายฝั่งตะวันออก เราได้เห็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้ในหน้างานจริง ทำให้เราทราบถึงวิธีการใช้งาน ตัวอย่างเช่น เครื่องมือวัดค่าน้ำระเหย เปรียบเทียบกันในแต่ละเดือน แต่ละปี น้ำระเหยมากแสดงว่าอากาศร้อน ซึ่งสามารถทำนายอนาคตได้ว่าปีไหนจะแล้ง หรือเครื่องมือวัดน้ำในดิน (เหล็กทรงครึ่งกระบอกแบ่งเป็นช่อง) ตอนใส่น้ำลงไป ถ้าน้ำซึมช้าแสดงว่าพื้นที่ตรงนั้นมีน้ำในดินมาก ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสนใจเลยทีเดียว” นาตาชาเสริม

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน ณ บริเวณรอบเขายายดา จ.ระยอง ประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากการสัมปทานป่า ต้นไม้ในเขายายดาถูกตัด ยามแล้งไฟป่ามาเยือน และเมื่อถึงคราวหน้าฝน แม้ฝนจะตกแต่ดินบนเขาก็ไม่สามารถซับน้ำไว้ได้ แรงจากน้ำฝนที่ตกลงมา กัดเซาะหน้าดินบนเขาแทบไม่เหลือ เมื่อ SCGC ได้รับฟังปัญหาของชาวบ้านในชุมชนบ้านมาบจันทร์ จึงเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงในการพลิกฟื้นเขายายดาร่วมกับชุมชนรอบโดยรอบ และได้เข้ามาทำงานร่วมกันกับชาวบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกว.) เข้ามาร่วมนำงานวิจัยท้องถิ่นประยุกต์ต่อยอดกับความรู้ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม พร้อมนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งหมดกว่าสิบกว่าปี ร่วมถ่ายทอดถอดบทเรียนสู่องค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำด้วยตนเองอย่างยั่งยืนฉบับชุมชน และเกิดเป็นแนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บขึ้น เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง สร้างระบบการจัดการน้ำในชุมชนอย่างยั่งยืน

“จากการเข้าไปศึกษาดูงานการทำฝาย ณ ศูนย์เรียนรู้บ้านมาบจันทร์ ชุมชนรอบเขายายดา ทำให้ผมได้เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ และสามารถทำให้หมู่บ้านมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยเริ่มจากการสร้างฝายกักเก็บน้ำ เพื่อทำให้มีน้ำใช้ และทำให้ไม่เกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรง มีการวางกฎระเบียบการใช้น้ำร่วมกัน เพื่อไม่ให้ใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย” นายณภัทร กมลอมรบุตร นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวป่าต้นน้ำ คือหัวใจของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ป่า รวมทั้งมนุษย์ ทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ หากป่าต้นน้ำหายไป ก็เหมือนมนุษย์ที่หัวใจหยุดเต้น ระบบต่าง ๆ จะพังทั้งหมด เปรียบได้กับคำว่า “น้ำคือชีวิต” สำหรับการบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งที่ทำให้สามารถวางแผนการใช้น้ำในยามที่ขาดแคลนน้ำ รวมทั้งทำให้เรารับมือกับภัยพิบัติทางน้ำที่อาจเกิดขึ้น จะช่วยให้ผลกระทบต่าง ๆ เกิดขึ้นได้น้อยที่สุด”

ผลจากความร่วมมือกันดำเนินโครงการจัดการน้ำเพื่อชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะ “ทรัพยากรน้ำ” ที่เป็นต้นธารของความอุดมสมบูรณ์ต่าง ๆ มีน้ำในลำธารให้ผลผลิตถึง 14.83 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรโดยรอบเขายายดา คิดเป็นผลผลิตทางการเกษตรรวมทั้งสิ้นเกือบ 80,000 ตัน/ปี ทำให้ระบบนิเวศกลับคืนสู่ป่า เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต พบสัตว์ป่า 123 ชนิด และพรรณไม้มากกว่า 120 ชนิดพันธุ์ และยังช่วยลดโลกร้อน อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยตลอดปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 38.49 ตัน CO2/ไร่ และดูดซับ 5.41 CO2/ไร่/ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2565)

ประโยชน์ในเชิงเศรษฐมิติของแนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ยังทำให้เกิด กิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่  พร้อมรับนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ชอปปิงผลิตภัณฑ์ชุมชน และร่วมทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่าง ๆ เพื่อส่งต่อแนวคิดการบริหารจัดการน้ำท้องถิ่นอย่างยั่งยืนกับผู้มาเยือน สร้างรายได้ให้กับชุมชน มากกว่า 400,000 บาท ในปี 2566 ที่ผ่านมา

นอกเหนือจากความสำเร็จของการจัดการน้ำของบ้านมาบจันทร์ ชุมชนรอบเขายายดา ที่ต่อยอดไปสู่การเปิดรายวิชา “ผู้พิทักษ์ป่าต้นน้ำ” กับศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (GenEd Chula) แล้ว SCGC และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ยังได้ร่วมกับชุมชนบ้านมาบจันทร์เป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนบ้านหัวทุ่ง ซึ่งเป็นชุมชนที่ยังคงรักษาวิถีการทำนาเป็นแปลงนาผืนสุดท้ายในพื้นที่นี้ เพื่อให้น้ำได้ถูกบริหารจัดการตลอดทั้งสาย “จากพื้นที่ต้นน้ำ สู่พื้นที่ราบ จากพื้นที่สวนผลไม้ สู่พื้นที่ปลายนา” อย่างยั่งยืน


Is this article useful ?