close

23 ก.พ. 2566

SCGC จับมือภาครัฐและโรงเรียน สร้างเยาวชนต้นแบบด้านการจัดการขยะ

Circular Economy Sustainability CSR

14 กุมภาพันธ์ 2566 - ระยอง เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ร่วมกับ เทศบาลเมืองมาบตาพุด สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอย ผ่านภาคการศึกษา เน้นให้เยาวชนลงมือปฏิบัติจริง โดยร่วมมือกันบูรณาการบทเรียนด้านการจัดการขยะของโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร พร้อมจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้ทำกิจกรรม และเรียนรู้เส้นทางของขยะรีไซเคิล และเพื่อเป็นศูนย์กลางการคัดแยกและรวบรวมขยะรีไซเคิล ก่อนส่งไปหมุนเวียนสร้างประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีการนำเว็บแอปพลิเคชันคุ้มค่า (KoomKah) ที่พัฒนาโดย SCGC เข้ามาเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการธนาคารขยะให้มีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังและพัฒนาเยาวชนต้นแบบในระดับมัธยมศึกษา ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพิ่มปริมาณการรีไซเคิล ลดการฝังกลบ และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายมงคล เฮงโรจนโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ และรองผู้จัดการใหญ่สายธุรกิจโอเลฟินส์ประเทศไทย บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ความรู้ด้านการจัดการขยะแก่ชุมชนจังหวัดระยองผ่านโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ มาตั้งแต่ปี 2562 มีการนำเว็บแอปพลิเคชัน ‘คุ้มค่า (KoomKah)’ เข้ามาช่วยบริหารจัดการข้อมูลให้แก่ธนาคารขยะ นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดสู่โครงการถุงนมกู้โลก ในปี 2563 ทำให้น้อง ๆ เยาวชนในระดับอนุบาลและประถมได้เรียนรู้การจัดการขยะถุงนมอย่างถูกต้อง และเห็นตัวอย่างของการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งให้เกิดการนำพฤติกรรมเหล่านี้ไปถ่ายทอดสู่ครอบครัวและชุมชนต่อไป ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายผลโครงการด้านการจัดการขยะร่วมกับทางภาครัฐ ให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา เพื่อสร้างเยาวชนและโรงเรียนต้นแบบด้านการจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่ง SCGC ได้ให้ความรู้การคัดแยกขยะ กับนักเรียนและบุคลากรโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารมาก่อนหน้านี้ และพร้อมต่อยอดนำวัสดุที่รีไซเคิลได้ โดยเฉพาะพลาสติกไปหมุนเวียนสร้างประโยชน์ รวมถึงการนำระบบดิจิทัลอย่าง ‘คุ้มค่า (KoomKah)’ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของธนาคารขยะในโรงเรียนอีกด้วย”

นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด กล่าวว่า “เทศบาลเมืองมาบตาพุด ร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะ เพื่อสร้างชุมชนที่สะอาดปลอดภัย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเล็งเห็นความสำคัญของการปลูกฝังเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชุมชนและประเทศในเรื่องการจัดการขยะ ในความร่วมมือครั้งนี้ ทางเทศบาลเมืองมาบตาพุด มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแก่เยาวชนร่วมกับ SCGC พร้อมติดตามผลเพื่อพัฒนาปรับปรุงการให้ความรู้ รวมถึงจัดทำสถานีขยะอินทรีย์ เพื่อให้ขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ได้ไปหมุนเวียนสร้างประโยชน์เป็นปุ๋ย ไม่ไปปนเปื้อนกับขยะอื่น ๆ ที่ยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้ มุ่งสร้างกระบวนการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปัญหาขยะในชุมชน และเพิ่มการรีไซเคิล”

นายฉกาจ พัฒนศรี ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เผยว่า “สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีความยินดีอย่างยิ่งในการร่วมสนับสนุนโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการขยะแก่เยาวชน พร้อมร่วมสนับสนุนอุปกรณ์การคัดแยกขยะ อาทิ ถุงใส่ขยะ และอุปกรณ์คัดแยกขยะอินทรีย์ เป็นต้น เพื่อให้เยาวชนและทางโรงเรียนได้ใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการเรียนการสอนผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และสนับสนุนธนาคารขยะในโรงเรียนให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าน้อง ๆ เยาวชนจะเป็นกำลังสำคัญในการสื่อสาร และส่งต่อพฤติกรรมการจัดการขยะให้แก่ชุมชนภายนอกต่อไป”

นายวิชัย ยิ่งประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร กล่าวเสริมว่า “SCGC ได้เข้ามาให้ความรู้พื้นฐานเรื่องการคัดแยกขยะภายในโรงเรียนให้นักเรียนและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกวัสดุต่าง ๆ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ความร่วมมือในครั้งนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกับทางโรงเรียน ถือเป็นการบูรณาการความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ให้เด็ก ๆ ได้ต่อยอด เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ค่ายการจัดการขยะ การศึกษาดูงานบ่อขยะและธนาคารขยะชุมชน กิจกรรมเรียนรู้การแยกขยะกับธนาคารขยะ เป็นต้น มุ่งสร้างเยาวชนที่มีความรู้ความเข้าใจพร้อมเป็นต้นแบบ สามารถสื่อสารถึงความสำคัญ กระบวนการ และผลลัพธ์ของการจัดการขยะอันเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนแก่สาธารณะได้”


Is this article useful ?