close

20 ธ.ค. 2565

SCGC และพันธมิตร จัดสัมมนา “Circular Packaging for Real” รวมพลทั้ง value chain มุ่งหาโซลูชันบรรจุภัณฑ์เพื่อโลกยั่งยืน ลดโลกร้อน ลดปัญหาขยะ

Business ESG Circular Economy Innovation Solutions Sustainability

การเติบโตของเมืองและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน ทำให้การใช้บรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด พลาสติกมีบทบาทสำคัญในการผลิตบรรจุภัณฑ์แทบทุกชนิด ด้วยคุณสมบัติที่ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย รักษาคุณสมบัติสินค้าได้ยาวนาน น้ำหนักเบา และมีต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยที่คุ้มค่ากว่าวัสดุอื่น ๆ แต่ด้วยพฤติกรรมการทิ้ง และการจัดการพลาสติกใช้แล้วที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนในห่วงโซ่คุณค่าการผลิตบรรจุภัณฑ์ได้เล็งเห็นปัญหา และเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการพลาสติกใช้แล้วให้กลับเข้าสู่ระบบ ลดการหลุดรอดไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีงานจัดแสดงนวัตกรรมและสินค้าพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก K 2022 ที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 19-26 ตุลาคม 2565 โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างมุ่งเน้นการพัฒนาพลาสติกเพื่อความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ในโอกาสนี้ SCGC ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “Circular Packaging for Real” ร่วมกับ Norner บริษัทชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสติกระดับโลก ประเทศนอร์เวย์ และ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรความร่วมมือระดับโลกเพื่อลดปัญหาพลาสติกใช้แล้ว ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องใน value chain มาพูดคุยถึงเทรนด์และโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือในอุตสาหกรรมเพื่อหาโซลูชันให้แก่บรรจุภัณฑ์ รวมถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต

จากเวทีเสวนามี 3 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับทิศทางการหาโซลูชันให้บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความท้าทายในปัจจุบัน

  • บรรจุภัณฑ์น้ำหนักเบา มีแนวโน้มการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากแบบคงรูปเป็นแบบอ่อนตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้วัสดุน้ำหนักเบา เพื่อลดน้ำหนักในการขนส่งสินค้า ซึ่งนั่นหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
  • การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ การพัฒนานวัตกรรมที่ทำให้บรรจุภัณฑ์ผลิตจากวัสดุชนิดเดียว (Mono-Material) เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้ง่าย ทดแทนการใช้วัสดุที่หลากหลายในแต่ละชั้น (Multi-Material) โดยความท้าทายสำคัญคือพัฒนาให้สามารถใช้บรรจุภัณฑ์ Mono-Material กับสินค้าหลายประเภทมากขึ้น โดยยังคงรักษาคุณสมบัติสินค้าภายในได้ดีดังเดิม
  • การใช้ recycled content ในบรรจุภัณฑ์ แบรนด์สินค้าชั้นนำทั่วโลกมุ่งสู่การใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์มากขึ้น ความท้าทายสำคัญในปัจจุบันคือการได้มาซึ่งพลาสติกใช้แล้วคุณภาพดี รวมถึงต้องเป็นพลาสติกใช้แล้วที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ เพื่อให้สามารถนำไปผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง แต่ในด้านดีคือ ปัจจุบันผู้คนมีความตระหนักเรื่องการคัดแยกขยะมากขึ้น และเทคโนโลยีการรีไซเคิลก็รองรับพลาสติกหลายประเภทมากขึ้นเช่นกัน ความท้าทายอีกประการคือเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ทำให้ไม่เหมาะจะนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์สินค้า personal care หรือสินค้าที่มีกลิ่นหอม ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงชนิดไร้กลิ่น (High Quality Odorless PCR) เพื่อตอบโจทย์เจ้าของแบรนด์สินค้าด้วยเช่นกัน
  • การพิจารณาวัตถุดิบทางเลือกอย่าง bio-based และพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การพิจารณาวัตถุดิบทางเลือกอย่าง bio-based และพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกจากฟอซซิลมาเป็นพืช ถือเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ขณะเดียวกันการทำให้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยตอบโจทย์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

SCGC ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ได้คิดค้นพัฒนานวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ SCGC GREEN POLYMERTM ครอบคลุมโซลูชัน 4 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของเทรนด์บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อโลกมากยิ่งขึ้น ได้แก่ REDUCE การลดการใช้ทรัพยากร RECYCLABLE การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ RECYCLE การนำกลับมาใช้ใหม่ และ RENEWABLE การทำให้ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน

การเก็บขยะกลับเข้าระบบ เพิ่มการรีไซเคิล

ปัจจุบันมีเครื่องมือที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ และนำมาใช้บริหารจัดการทรัพยากร และของเสียที่เกิดจากการผลิต หรือจากการใช้งานของผู้บริโภค ให้สามารถนำกลับมาสู่ผู้ผลิตได้อีกครั้ง เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า ERP: Extended Producer Responsibility โดยหัวใจของ ERP คือความร่วมมือของผู้ผลิตและผู้บริโภค กล่าวคือ เจ้าของแบรนด์สินค้าหรือผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ออกแบบฉลากให้ชัดเจน สร้างระบบการเก็บกลับ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ และนำมาส่งคืนที่จุดรับ ตัวอย่างเช่น ในยุโรปมีการออกแบบระบบการคืนบรรจุภัณฑ์ หรือ Deposit Return Scheme (DRS) สำหรับขวดเครื่องดื่มที่มีประสิทธิภาพ มีตราสัญลักษณ์การเก็บกลับคืนที่ชัดเจนบนขวด โดยผู้บริโภคสามารถนำขวดเครื่องดื่มไปคืนที่ตู้ Reverse Vending Machine (RVM) และจะได้เงินจำนวนหนึ่งหรือแต้มสะสมเป็นการตอบแทน เพื่อสร้างแรงจูงใจ ทางผู้ผลิตก็จะได้พลาสติกคุณภาพดีกลับไปรีไซเคิลได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรความร่วมมือระดับโลก ยังมุ่งสร้างโครงการและโมเดลที่สามารถขยายผลการจัดเก็บขยะ และเพิ่มการรีไซเคิล โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่มีอัตราการรั่วไหลขยะสู่สิ่งแวดล้อมสูง อาทิ ความร่วมมือกับ SCGC, EnviroSolutions & Consulting (ESC), City Development Initiative for Asia (CDIA) และรัฐบาลเมืองหวุงเต่า จังหวัดบ่าเหรี่ยะ หวุงเต่า (Ba Ria - Vung Tau) ประเทศเวียดนาม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นไปได้ในการพัฒนาการจัดการขยะในเมืองหวุงเต่าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นำขยะที่ได้ไปรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อให้เมืองหวุงเต่าเป็น role model ของการเป็น smart city ในการจัดการขยะ โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจาก Asian Development Bank (ADB)

ข้อกำหนดและนโยบาย ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

ชัดเจนว่าในหลายประเทศได้ออกข้อกำหนดและนโยบายเพื่อผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความต้องการและมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกใช้แล้ว และส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อโลก อาทิ ในปี 2022 สหราชอาณาจักร จะเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่า 30% ขณะที่จีนมีนโยบายแบนถุงพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และในปี 2022 นี้ สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะเริ่มเรียกเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกใหม่ (tax on virgin plastics) เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้บริโภคเองก็หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและให้คุณค่าบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น แบรนด์สินค้าชั้นนำทั่วโลกได้ประกาศ commitment ในการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก (SDGs) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง หรือทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ สำหรับ SCGC เองก็ได้ตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ของปีฐาน 2021 ภายในปี 2030 ด้วยแนวทาง “Low Carbon Low Waste” และมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายรวมผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573

การเปลี่ยนผ่านสู่บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นเส้นทางที่ทั้ง value chain ต้องพัฒนาและขับเคลื่อนร่วมกับการให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจผู้บริโภค แต่ทุกฝ่ายเชื่อว่า เพื่อเป้าหมายใหญ่ที่มีร่วมกันคือการลดภาวะโลกร้อน และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เรากำลังมุ่งไปในเส้นทางที่ถูกต้อง และจะนำมาสู่ความยั่งยืนทั้งภาคธุรกิจ ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

โดยในงานสัมมนาครั้งนี้มีตัวแทนจาก AEPW องค์กรความร่วมมือระดับโลกเพื่อลดปัญหาพลาสติกใช้แล้ว, Amcor ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ ให้กว่า 4,000 แบรนด์สินค้าทั่วโลก, Erema ผู้ผลิตเครื่องจักรรีไซเคิลรายใหญ่ของโลก, Norner บริษัทชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสติกระดับโลก ประเทศนอร์เวย์, SCGC ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และ Sirplaste บริษัทรีไซเคิลชั้นนำในโปรตุเกส ร่วมเสวนา ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีและมีผู้ให้ความสนใจร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก


Is this article useful ?