close

13 ก.พ. 2567

ถุงนมกู้โลก

SCGC ได้ดำเนินโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ในจังหวัดระยองตั้งแต่ปี 2562 มุ่งให้ความรู้และส่งเสริมการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านโมเดล บวร หรือ บ้าน วัด โรงเรียน และธนาคารขยะ ในส่วนของ "โรงเรียน" SCGC ได้เข้าให้ความรู้ด้านการจัดการขยะแก่บุคลากรในโรงเรียนและนักเรียน พร้อมไปศึกษาดูว่าแต่ละแห่งนั้นมีขยะประเภทใดบ้าง และควรจะจัดการกับขยะเหล่านั้นอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้พบว่า ขยะพลาสติกที่สำคัญคือ ถุงบรรจุนมโรงเรียน ที่เด็กนักเรียนดื่มกันทุกวัน ซึ่งเป็นพลาสติกประเภท LLDPE ที่สามารถนำมารีไซเคิลและสร้างมูลค่าเพิ่มได้

เปลี่ยนถุงนมที่ใช้งาน 10 นาที ให้เป็นสิ่งของที่ใช้ได้นานนับ 10 ปี

SCGC เข้าไปร่วมกับทางโรงเรียนในการสอนให้เด็ก ๆ รู้จักประเภทของวัสดุต่าง ๆ โดยเฉพาะวัสดุพลาสติกซึ่งมีแยกย่อยหลายประเภท ปลูกจิตสำนึกให้รู้จักใช้งานสิ่งของต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า และสอนวิธีการแยกขยะ เพื่อให้นำไปจัดการต่อให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด และได้เกิดเป็นโครงการ “ถุงนมกู้โลก” โดยหลังจากดื่มนมเสร็จแล้ว เด็ก ๆ จะช่วยกันตัด ล้าง และตากถุงนม จากนั้นจึงช่วยกันรวบรวมและส่งไปขายที่ธนาคารขยะหรือขายให้กับผู้รับรีไซเคิล SCGC ได้ต่อยอดนำถุงนมที่เด็ก ๆ รวบรวมมานี้ ไปสร้างสรรค์ และเพิ่มมูลค่า โดยนำวัตถุดิบถุงนมโรงเรียนซึ่งเป็นพลาสติกประเภท LLDPE มาผลิตเป็นสิ่งของใหม่ที่ใช้งานได้ยาวนาน เช่น เก้าอี้พลาสติกรีไซเคิล กระถาง โต๊ะ เป็นต้น

"
ตั้งแต่เริ่มโครงการมีโรงเรียนเข้าร่วมแล้วกว่า 1,300 โรงเรียน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565) และ สามารถรวบรวมถุงนมกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 5,000 กิโลกรัม (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2566) นอกจากนี้ SCGC ยังมีแผนที่จะขยายผลสู่โรงเรียนในภาคอื่น ๆ ทั้งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และโรงเรียนในสังกัด กทม. เทศบาล และเอกชน พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนในการบริหารจัดการระบบขนส่งถุงนม เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างครบวงจรอย่างยั่งยืนต่อไป
"

โครงการถุงนมกู้โลก ช่วยให้นักเรียนได้เห็นประโยชน์ของการรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม จากเดิมที่ถุงนมจำนวนมหาศาลเคยถูกทิ้งเป็นขยะ ส่งกลิ่นเหม็น และถูกจัดการด้วยวิธีฝังกลบ สามารถสร้างสรรค์เป็นสิ่งของใหม่ได้ ที่ทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน แสดงให้เห็นว่ากระบวนการคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยให้ทรัพยากรได้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง พร้อมกับเป็นต้นแบบนำร่องให้กับโรงเรียนอื่น ๆ หันมาสนใจและเริ่มต้นลงมือบริหารจัดการขยะในโรงเรียน นับเป็นการปลูกฝังแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับเยาวชน ช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป


Is this article useful ?