close

7 พ.ย. 2566

นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำจาก HDPE-Bone (SCG-DMCR Litter Trap Generation 2)

ในช่วงปี 2561 บริษัทฯ ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ศึกษาและคิดค้นนวัตกรรมในการกักขยะบริเวณแม่น้ำ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะตกค้างที่ไหลจากแม่น้ำลำคลองลงสู่ทะเล เป็นการลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศวิทยาทางทะเล ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการจัดการขยะทะเล และในปี 2562 ได้ร่วมกันพัฒนาทุ่นกักขยะลอยน้ำ SCG-DMCR Litter Trap (Generation 1) ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักขยะลอยน้ำ โดยนำไปติดตั้งในแม่น้ำลำคลองสาขาเพื่อกักขยะที่ไหลตามน้ำ

ต่อมา ในปี 2563 บริษัทฯ ได้ปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ รุ่นที่ 2 ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักขยะ และให้สะดวกในการติดตั้งมากยิ่งขึ้น โดยได้เปลี่ยนโครงสร้างและตัววัสดุลอยน้ำมาเป็นทุ่นลอยน้ำ หรือ HDPE-Bone คุณลักษณะของทุ่นกักขยะลอยน้ำจาก HDPE-Bone (SCG-DMCR Litter Trap Generation 2) 

"
โครงสร้างเป็นท่อ HDPE ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบในโรงงานของ SCGC ตาข่ายรองด้านล่างมีความห่างมากกว่า 3 นิ้ว ป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำขนาดเล็กเข้าไปติด วัสดุลอยน้ำ HDPE-Bone  มาจากส่วนประกอบในการทำโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ซึ่ง SCGC ออกแบบและคิดค้นขึ้น ผลิตจากเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีสารกันรังสียูวี แข็งแรง ทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน 25 ปี น้ำหนักเบา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการประกอบและติดตั้ง
"

ความพิเศษของทุ่นกักขยะลอยน้ำ คือ การออกแบบให้มีกลไกฝาเปิด-ปิดที่อาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดัน ช่วยกักเก็บขยะลอยน้ำ โดยขยะจะไม่หลุดลอยออกนอกทุ่นตามทิศทางของกระแสน้ำที่เปลี่ยนไปตามอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง ทุ่นกักขยะ 1 ตัว สามารถรองรับขยะได้สูงสุด 700 กิโลกรัม ทั้งนี้ ปริมาณขยะมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่วาง โดยขยะที่รวบรวมได้จะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องเหมาะสม และด้วยกลไกพิเศษนี้เอง ทำให้ทุ่นกักขยะลอยน้ำ ได้รับอนุสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาสิ่งประดิษฐ์ ในปี 2563 


ปัจจุบันได้มีการจัดวางทุ่นกักขยะบริเวณริมปากแม่น้ำไปแล้ว รวมจำนวน 37 ชุด ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถกักขยะได้กว่า 71 ตัน โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งเทศบาลในพื้นที่ ร่วมกับเก็บขยะ ซึ่งขยะรีไซเคิลสามารถนำไปจำหน่ายและสร้างรายได้ พร้อมทั้งนำไปจัดการในระบบต่อไป


Is this article useful ?