close

30 Nov 2020

นวัตกรรมพลาสติกจากเอสซีจี กับโลกปี 2020 ตอนที่ 1

เอสซีจี มุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมพลาสติกและโซลูชันที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ใช้งานในทุกมิติของอุตสาหกรรม และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ยกระดับคุณภาพของสังคม และเสริมความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำเสนอนวัตกรรมพลาสติกที่สนับสนุนความก้าวหน้าให้เกิดขึ้นในหลากหลายมิติของธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

วิถีชีวิตใหม่ ปลอดภัยไกลโควิด-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้การใช้ชีวิตของคนในสังคมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ภาครัฐจะมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคระบาดดังกล่าวออกมา แต่ห้างร้านและคนในสังคมยังคงต้องระมัดระวังในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ เอสซีจี ในฐานะแนวหน้าผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ของประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์ของภูมิภาค ได้นำความรู้และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดังกล่าว มาพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชนทั่วไปอย่างมีมาตรฐาน 

ฉากกั้นอะคริลิกป้องกันเชื้อแบบสำเร็จรูป และฉากกั้นอะคริลิกชนิดออกแบบพิเศษจาก Shinkolite (ชินโคไลท์) คือ หนึ่งในนวัตกรรมไฮไลต์ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุปกรณ์ดังกล่าวผลิตจากอะคริลิกเกรดพรีเมียมที่มีความแข็งแรง ทนทาน และง่ายต่อการเช็ดล้างเพื่อทำความสะอาด สามารถช่วยป้องกันเชื้อที่ติดมากับละอองฝอยระหว่างการพูดคุยหรือติดต่องาน และลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างกันได้ มีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวที่ออฟฟิศสำนักงาน สถานที่ราชการ โรงเรียน ร้านอาหาร และในรถแท็กซี่

เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยทั้งสองฝ่าย เอสซีจี โดยความร่วมมือกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน พัฒนานวัตกรรมกลุ่ม Mobile Isolation Unit หรือ นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ ซึ่งมีด้วยกันถึง 5 นวัตกรรม ได้แก่ ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure Isolation Room) ใช้สำหรับติดตั้งภายในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือห้องพักผู้ป่วย เพื่อช่วยป้องกันเชื้อแพร่กระจายสู่ภายนอกด้วยระบบความดันลบ ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใช้ตรวจวินิจฉัย (Swab) โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย สามารถปรับเป็นห้องความดันลบหรือบวกได้ตามความต้องการใช้งาน แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ (Patient Isolation Capsule) คำนึงถึงการใช้งานจริงโดยมีช่องเปิด-ปิดรอบตัวผู้ป่วย มีที่ใส่เสาน้ำเกลือ และสามารถต่อกับโต๊ะวางอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็กสำหรับเข้าเครื่อง CT Scan (Small Patient Isolation Capsule for CT Scan) ออกแบบให้โครงสร้างไร้โลหะช่วงบน เพื่อตรวจผู้ป่วยติดเชื้อผ่านเครื่อง CT Scan โดยเฉพาะ และอุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อ สำหรับงานทันตกรรม (Dent Guard) ออกแบบมาเพื่อป้องกันทันตแพทย์จากการสัมผัสละอองน้ำที่ฟุ้งกระจายในขณะปฏิบัติงาน ขนาดเหมาะกับมาตรฐานของเก้าอี้ทันตกรรม โดยทั้งหมดนี้ผลิตจากวัสดุพลาสติกคุณภาพสูงของเอสซีจี

ชุมชนปลอดภัย ไกลยุงร้าย
เพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกเดงกี (Dengue Fever) ที่มีแนวโน้มการเกิดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เอสซีจี ร่วมกับสถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าวิจัยและพัฒนา The Mosquito Trap” นวัตกรรมกับดักยุงลาย เพื่อช่วยลดปริมาณการแพร่พันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะสำคัญของโรค ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกและยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุขและการบริการสุขภาพให้กับชุมชนในประเทศไทย

ในเบื้องต้นนั้น เอสซีจีได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทดสอบการใช้งานนวัตกรรมดังกล่าวจำนวน 200 ชุด ทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคสนามในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มี “ยุงลายสวน” ชุกชุมตลอดทั้งปี และล่าสุดนวัตกรรมนี้ยังถูกนำมาทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานใน พื้นที่ชุมชนมาบตาพุดและชุมชนบ้านบน จ.ระยอง พื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญเพราะมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงเป็นอันดับที่สองของประเทศ โดยการทดลองในครั้งนี้ เน้นไปที่การศึกษาประสิทธิภาพการทำงานของนวัตกรรมกับดักยุงลาย (Mosquito Trap) กับ “ยุงลายบ้าน” โดยโครงการนำร่องดังกล่าวนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน และข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนานวัตกรรมนี้ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ก่อนขยายผลการใช้งานไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีอุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกในระดับวิกฤตต่อไป

โซลูชันเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
นอกเหนือจากการมุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนาเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง เพื่อนำมาใช้ในการผลิตนวัตกรรมที่สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจและยกระดับให้กับสังคมแล้ว เอสซีจียังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การคิดค้นและการพัฒนานวัตกรรมชุดบำบัดน้ำเสียก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ

นวัตกรรมบำบัดสิ่งปฏิกูลและน้ำเสียจากครัวเรือน “ไซโคลนิก” โดย Aquonic 600 ช่วยขจัดและปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียจากห้องน้ำและน้ำเสียในครัวเรือนด้วยกระบวนการทางชีวภาพและเคมีไฟฟ้า ทำให้น้ำที่ได้ปราศจากเชื้อโรค สี และกลิ่น สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากระบบสุขาปลอดเชื้อที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมพัฒนาขึ้นกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิบิล และเมลินดา เกตส์

ไฮไลต์ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ HDPE-Bone ผลิตพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE ทำให้ สามารถลอยน้ำได้ดีขึ้น จัดเก็บขยะลอยน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทนทานต่อรังสียูวี อายุการใช้งานยาวนาน 25 ปี ประกอบและติดตั้งได้ง่ายขึ้น และสามารถนำกลับมารีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกด้วย

การประยุกต์ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญของเอสซีจี นำไปสู่ความก้าวหน้าของธุรกิจ สังคม และสิ่งแวะล้อมในหลากหลายด้าน และในบทความฉบับหน้าเรามาดูไฮไลต์นวัตกรรมพลาสติกจากเอสซีจีที่น่าสนใจได้อีก


Is this article useful ?