close

13 Dec 2020

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 5: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “ตลาดยิ่งเจริญ”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “ตลาดยิ่งเจริญ” 

ไม่ใช่วิกฤต... แต่เป็นโอกาส
ตลาดยิ่งเจริญ เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 65 ปี บนเนื้อที่กว่า 32 ไร่ มีแผงขายของมากกว่า 1,500 แผง ในหนึ่งวันมีขยะเกิดขึ้นในตลาดยิงเจริญมากถึง 10-20 ตัน หรือราว ๆ 10,000-20,000 กิโลกรัม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สามารถจัดการได้โดยง่าย ขยะในตลาดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ขยะอินทรีย์ เช่น พวกเศษผักผลไม้ มีอยู่ประมาณ 70% ที่เหลือเป็นขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง ทั้งหมดถูกกองรวมกันไว้และรอให้รถขยะของเขตบางเขนมารับไปจัดการต่อ

เมื่อปี 2558 ตลาดยิ่งเจริญมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งคณะผู้บริหารและโครงสร้างการบริหาร มีแผนงานและนโยบายใหม่ ภายใต้ชื่อ “Y Together” หรือ “ยิ่งเจริญ ไปด้วยกัน”

จาก 10-20 ตัน เหลือเพียงครึ่งเดียว
ผู้จัดการอาวุโสบริหารการตลาดยิ่งเจริญ สายชล สวัสดิชัย กล่าวว่า “สิ่งที่ตลาดยิ่งเจริญต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนก็คือ ระบบบำบัดน้ำเสีย ทีมงานจึงออกแคมเปญลดการใช้สารเคมี แทนที่ด้วยจุลินทรีย์ และลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียเป็น RO (Reverse Osmosis System)” แม้จะแก้ไขปัญหาน้ำเสียและแมลงวันในตลาดได้แล้ว แต่ยังมีเรื่องที่ใหญ่กว่าคือ ปัญหาขยะที่ท้าทายและรอการแก้ไข

ขยะอินทรีย์ซึ่งเป็นขยะที่มีปริมาณมากที่สุดจะถูกกำจัดก่อน โดยทีมงานจะแยกไว้ให้เขตเพื่อนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนขยะทั่วไป ผู้จัดการแผนกรักษาความสะอาดได้เชิญชวนผู้คนในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับตลาดมามีส่วนร่วมจัดการขยะ และยกรายได้ทั้งหมดจากการขายขยะให้ชุมชน

วิธีนี้ไม่ใช่แค่สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน แต่ยังเป็นการมอบความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการคัดแยกและรีไซเคิลขยะให้ชาวบ้าน ส่งผลให้การคัดแยกและจัดการขยะของตลาดยิ่งเจริญมีประสิทธิภาพ เป็นการคัดแยก ด้วยองค์ความรู้และด้วยความตั้งใจเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน

จากขยะปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เมื่อชาวบ้านในชุมชนรอบตลาดยิ่งเจริญช่วยกันคัดแยกขยะอย่างละเอียด ทำให้มีขยะน้อยกว่าครึ่งของขยะทั้งหมดที่ทางเขตต้องนำไปจัดการให้ถูกต้องต่อไป

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
โรงทาน หมอสะอาด คือไฮไลต์ความสำเร็จที่สำคัญของตลาดยิ่งเจริญ ทีมงานตลาดยิ่งเจริญได้นิมนต์ พระสุโชติ ปัชโชโต หรือหลวงพี่โจ พระนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการขยะและเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ มาถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธีและมาออกแบบวิธีจัดการขยะในโรงทาน โดยให้ประชาชนรู้จักคัดแยกขยะด้วยตนเองหลังรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย เพื่อให้ผู้สร้างขยะต้องเป็นผู้จัดการขยะ

กุญแจแห่งความสำเร็จในการจัดการขยะของตลาดยิ่งเจริญที่มีส่วนสำคัญมาก ๆ สิ่งนั้นคือ การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมี อดิเทพ แซ่ฉั่ว เป็นหนึ่งในรั้วที่ยกมาเป็นตัวอย่าง แต่เดิมเขาทำงานรับจ้างทั่วไป รายได้พอใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน เมื่อตลาดเสนองานคัดแยกขยะที่ลานพักขยะด้านหลังตลาด แลกกับการดูแลลานพักขยะให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ชีวิตความเป็นอยู่ของอดิเทพก็เปลี่ยนไป ทุกวันนี้เขามีรายได้จากการคัดแยกขยะวันละ 1,000 กว่าบาท พร้อมกับทักษะการคัดแยกขยะที่ส่งต่อเป็นองค์ความรู้ให้กับผู้อื่นได้ต่อไป 

“ถ้าตลาดยิ่งเจริญไม่มีงานตรงนี้ให้ พวกเราก็คงมีชีวิตที่ลำบากเหมือนเดิม ไม่ได้ลืมตาอ้าปากเหมือนตอนนี้ จริง ๆ ตลาดไม่ต้องเอาพวกเรามาทำงานนี้ก็ได้ หรือจะหักเงินที่ได้จากการคัดแยกขยะ แล้วให้เงินเราแค่บางส่วนก็ได้ แต่เขาให้เราทั้งหมด เวลาเราขอเบิกอุปกรณ์อะไร ก็จัดการให้ทุกอย่าง ขอบคุณที่ให้ความสำคัญกับเรา ขอบคุณที่พาเราก้าวไปด้วยกัน” อดิเทพกล่าวทิ้งท้าย


ดาวน์โหลด Waste to Wealth... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth/


Is this article useful ?